บทบาทและหน้าที่ของนักศึกษาต่อการเมืองการปกครอง
นักศึกษาในยุค สมัยก่อนนั้นเวลาพูดคุยจะมีเนื้อหาสาระทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ในการสนทนากันมักมีการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล นักการเมือง มีการร่วมกันต่อสู้เรียกร้องเมื่อเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม เพราะฉะนั้น เมื่อมีการรวมกลุ่มของนักศึกษาขึ้นมา จะทำให้รัฐบาลเกรงกลัวในพลังของปัญญาชน เพราะนักศึกษา หมายถึง ผู้ที่เรียนรู้ มีความรู้ มีการศึกษาข้อมูลต่าง นักการเมืองจึงไม่สามารถที่จะโกหก หลอกลวงได้
ปัจจุบันนัก ศึกษา ไม่ใส่ใจทางด้านการเมืองการปกครอง อำนาจจึงตกอยู่ในมือของนักการเมืองที่เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากงบ ประมาณแผ่นดิน นักศึกษาไม่สามารถตั้งโจทย์ให้สังคมสอบถามรัฐบาลได้ ไม่สามารถตีแผ่ความจริงในข้อมูลที่พวกเขาหามาได้ ผู้ที่ตีแผ่ปัญหาต่างๆ กลับเป็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ออกมาสาวไส้เพื่อเรียกคะแนนจากประชาชน ซึ่งข้อมูลที่นำมาอวดอ้างบางครั้งเป็นหลักฐานเท็จ ที่สร้างขึ้นเพื่อให้อีกฝ่ายได้รับความเสียหาย หรือต้องการทำลายให้เสียชื่อเสียง หรือดิสเครดิตเพื่อหวังคะแนนเสียงในการเลือกตั้งคราวต่อไป
นักการเมือง มิใช่ ผู้ที่ร่ำรวย มีเงินทอง เป็นนักบริหารงานในบริษัทต่างๆ แล้วจะสามารถมาบริหารงานประเทศได้อย่างราบรื่นเหมือนงานบริษัทคงไม่ใช่แน่ เพราะการบริหารงานรูปแบบบริษัท จะทำธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจรูปแบบในการให้ได้มาซึ่งผลกำไร ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ร่วมงาน และลูกน้อง การบริหารงานประเทศเป็นสังคมใหญ่ที่มีความแตกต่างทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และวิถีการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นไปตามลักษณะของแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเข้ามาบริหารงานประเทศต้องเข้าใจถึงผลประโยชน์ส่วนรวม เพราะสังคมระดับประเทศต้องได้ดูแลทุกข์สุขของคนหมู่มาก เข้าใจถึงความแตกต่างในแต่ละชุมชน เข้าใจปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นๆ
เมื่อใดนักศึกษาเข้าใจสาเหตุของ ปัญหาการเมืองในปัจจุบัน จะต้องเริ่มที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการปกครองในท้องถิ่นของตน แก้ไขปัญหาในชุมชน และเพิ่มระดับการเรียนรู้ทางสังคมให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับประเทศ แม้จะไม่ได้ทำงานในกลุ่มนักการเมืองก็ตาม เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม และชุมชนของตนเอง
เมื่อเยาวชน นักเรียน นักศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจในกฎหมาย และระเบียบการปกครองประเทศ จะทำให้สังคมมีความสะอาดในการเลือกตั้งผู้นำตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. อบจ. สส. สว. นักศึกษาจึงต้องตรวจสอบประวัติการทำงานของผู้ที่จะมาเป็นผู้นำในท้องถิ่นของ เรา ให้พวกเขามีความโปร่งใส และสะอาด ปราศจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพื่อไม่ให้มาแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณที่รัฐบาลนำมาพัฒนาชุมชนให้มีความ เจริญและเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งถ้านักการเมืองการปกครองที่ได้รับเลือก เป็นเยาวชน หรือผู้ที่ศึกษาหาความรู้ทางด้านกฎหมาย จะทำให้การบริหารงานมีประสิทธิ์ภาพ ทำให้พื้นที่มีแต่ความสงบสุข และลดปัญหาภายในชุมชนต่างๆ ได้
ถ้าเยาวชนในยุคปัจจุบัน ยังโดนมอมเมากับวัฒนธรรมที่ผิดๆ การฟุ้งเฟ้อในการใช้สินค้า การใช้จินตนาการแต่ในเกมออนไลน์ซึ่งไม่มีความเป็นจริง นักศึกษาผู้หญิงมองแต่เรื่องการแต่งตัว ความสวยความงาม การหาเงินทองจนนำไปสู่การค้าประเวณี ซึ่ง สังคมพยายามชักจูงให้สิ่งที่ผิดกลายเป็นอาชีพหนึ่งที่ผู้หญิงสามารถทำได้ การพนันที่เกิดจากเกมกีฬา การติดยาเสพติดชนิดต่างๆในสังคม การสูบบุหรี่และการดื่มสุราจนกลายเป็นการโอ้อวด และเห็นเป็นเรื่องปกติของสังคมเมืองในวัยทำงาน ปัญหาการไม่รู้หนังสือของเยาวชนที่อยู่ในเขตชนบท ความเหลื่อมล้ำของสังคมที่มีระดับสูงมาก เมื่อปัญหาต่างๆได้เกิดขึ้น สังคมจะตกต่ำลงเรื่อยๆ และผู้ ที่เป็นต้นเหตุหลักเหล่านี้ คือ ผู้ที่ต้องการที่จะมอมเมานักศึกษาไม่ให้มีความรู้ด้านการเมืองการปกครอง เพื่อให้พวกเขาจะได้แสวงหาผลประโยชน์ต่างๆให้กับตนเอง และพวกพ้อง โดย ไม่คำนึงถึงปัญหาสังคมที่จะมีมากขึ้นทุกวัน และลูก หลาน รุ่นต่อมาจะเข้าไปรวมอยู่ในสังคมที่มีแต่ความมืดมิดต่อไป ประเทศก็จะดำรงอยู่ไม่ได้ ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ก็จะตามมา
สิ่งที่นักศึกษาจะต้องแสวงหา
1. เรียนรู้จริยธรรมในการดำเนินชีวิต
2. ศึกษาทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของศาสนาที่ตนเองนับถืออย่างแท้จริง
3. ศึกษาและร่วมกันแก้ไขปัญหาชุมชนของตนเอง
4. ศึกษาบทบาทและหน้าที่ทางกฎหมาย ในแต่ละมิติ
5. สังเกตเรียนรู้และเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองในระดับต่างๆ
6. หาความรู้จากหนังสือ ตำราต่างๆ ทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้ของตนเองอยู่เสมอ
7. ใช้เทคโนโลยี เช่น อินเตอร์เน็ตในทางที่ดี เพื่อการศึกษาหาความรู้ ในศาสตร์แขนงต่างๆ อยู่เสมอ
8. เรียนรู้ภาษาสากล เพื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวที่แท้จริง และถูกต้อง เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ และเข้าใจภาษาของตนเองอย่างถ่องแท้
9. ร่วมมือกันทำงานในกลุ่ม ชมรม มหาวิทยาลัย และชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม
10. พัฒนาสมอง พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ รู้จักประดิษฐ์คิดค้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม
11. ต่อสู้และเรียกร้องเมื่อสังคมไม่ได้รับความเป็นธรรม
สรุป
บทบาทของนักศึกษาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ แต่ละคนมีจิตสำนึกในสิ่งที่ดี และต้องการที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม ต้องการที่พัฒนาความเจริญก้าวหน้าให้กับชุมชนที่ตนเองอยู่ แต่การพัฒนานั้นต้องพัฒนาทั้งจิตใจและร่างกาย เรียนรู้ทางด้านศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม อย่างลึกซึ้ง เมื่อมีพื้นฐานความคิดที่ดี สิ่งที่คิดต่อๆไปก็จะดีด้วยโดยอัตโนมัติ
การเมืองการปกครองเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความเจริญทางวัตถุ ที่ผู้มีอำนาจเงิน นำมามอมเมาเยาวชนให้หลงใหลมัวเมาคิดถึงแต่ความสุขเพียงชั่วขณะของตนเอง จนลืมคิดถึงอนาคต และ ความเจริญทางสังคมเพื่อส่วนรวม และนำมาซึ่งการกดขี่ ข่มเหง หลอกลวง ผู้ที่ไม่รู้กฎหมายต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ถือกฎหมาย หรือเบียดเบียนคนในสังคมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
เพราะฉะนั้น นักศึกษา คือ ปัญญาชนที่มีความรู้ ต้องไม่ให้ใครมาหลอกลวง หรือ กดขี่ข่มเหงได้ ผู้มีความรู้จะต้องใช้ความรู้เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง กลุ่มชน และสังคม ให้มีความสะอาด นำมาซึ่งความสงบสุข และสันติสุขในสังคมนั้นๆ
อับดุลลอฮ์ บินดาวูด