วันขึ้นปีใหม่
วันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันสิ้นปี ต่อเนื่องกับ วันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามสากลนิยม ประชาชนทุกชาติ ทุกภาษา จะมีการเฉลิมฉลอง ในวันนี้
ในครั้งโบราณ แต่ละชาติต่างก็ขึ้นปีใหม่กัน ตามความนิยมของตน ที่เห็นว่า วันปีใหม่ควรจะเป็นวันไหน เช่น ต้นฤดูหนาวเพราะ เป็นเวลาพ้นจากมืดฝน สว่างขึ้นเหมือนเวลาเช้า เป็นต้น,ปีฤดูร้อนเป็นเวลาสว่าง ร้อนเหมือนเวลากลางวัน เป็นกลางปี ฤดูฝนที่เป็นเวลามืดคลุ้มโดยมาก และฝนพร่ำเพรื่อเที่ยวไปไหนไม่ได้ เป็นเหมือนกลางคืน ชาวเยอรมันสมัยโบราณแบ่งฤดู 2 ฤดู คือฤดูหนาว กับฤดูร้อน ขึ้นปีใหม่ราวปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเวลาที่พื้นภูมิภาค กำลังเริ่มเย็นขึ้นเป็นลำดับ ประชาชนซึ่งแยกย้ายกัน ไปหากินในที่ต่างๆ ตั้งแต่ในฤดูร้อน ได้เก็บเกี่ยวพืชผลที่ทำได้ และนำขึ้นยุ้งฉางเสร็จแล้ว ก็มาร่วมชุมนุมกัน ฉลองขึ้นปีใหม่ เมื่อชาวโรมันได้รุกรานเข้าไป ในอาณาเขตเยอรมัน จึงได้เลื่อนการฉลองปีใหม่ มาเป็น 1 มกราคม
ชาวไอยคุปต์ เฟนิเซียน และอิหร่านเริ่มปีใหม่ เมื่อกลางฤดูสารทคือราววันที่ 21 กันยายน โยนกสมัยก่อนพุทธกาลขึ้นไป เริ่มปีใหม่ราววันที่ 21 ธันวาคม โรมันโบราณก็เริ่มปีใหม่วันที่ 21 ธันวาคม สมัยซีซาร์ เมื่อใช้ปฏิทินที่เรียกว่า แบบยูเลียน ได้เลื่อนปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม พวกยิวขึ้นปีใหม่เป็น 2 อย่าง ตามทางการ เริ่มปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เดือนติษรีราววันที่ 6 กันยายน ถึงวันที่ 5 ตุลาคม ทางศาสนาเริ่มราววันที่ 21 มีนาคม ตอนต้นยุคกลาง ชาวคริสเตียนเริ่มปีใหม่ วันที่ 25 มีนาคม อังกฤษเชื้อสายแองโกลซักซอน เริ่มปีใหม่วันที่ 25 ธันวาคม ภายหลังให้เลื่อนวันขึ้นปีใหม่ ในวันที่ 1 มกราคม ต่อมาก็กลับเลื่อน ไปขึ้นปีใหม่ราว 2242 - 2296 ¹
โปรดสังเกตว่า ในอดีตทุกๆ ดินแดน ทุกๆ เผ่าพันธุ์ต่างมีเทศกาลเป็นของตนเอง หรือมีประเพณีของเผ่าพันธุ์ ของตนเองอยู่เสมอ แม้กระทั่งวันรื่นเริง วันซึ่งถูกอุบัติขึ้น เพื่อการเฉลิมฉลอง หรือเพื่อแสดงความสนุกสนานนั้น ทุกๆ เผ่าพันธุ์, ทุกๆ ดินแดนต่างก็มีวันรื่นเริง เป็นของตนเองทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าวัน และรูปแบบการเฉลิมฉลอง ก็จะแตกต่างกันไป สรุปคือ ทุกๆ ชาติ ทุกๆ เผ่าพันธุ์ต่างก็มีวันเฉลิมฉลอง หรือวันรื่นเริงแทบทั้งสิ้น
ดั่งที่ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวไว้ว่า
" إن لكل قوم عيدا " ความว่า "แท้จริงทุกๆ กลุ่มชนนั้นมีวันรื่นเริงทั้งสิ้น" (บันทึกโดยมุสลิม 1479)
อนึ่ง หากย้อนถามวันรื่นเริง หรือวันเฉลิมฉลองของอิสลามนั้น มีหรือไม่? คำตอบคือมี ดังหลักฐานจากท่านอนัส บุตรของมาลิกเล่าว่า
" كان لأهل الجاهلية يومان في كل سنة يلعبون فيهما فلما قدم النبي صلى الله عليه وسلم المدينة قال كان لكم يومان يلعبون فيهما وقد أبدلكم الله فيهما خيرا منهما يوم الفطر ويوم الأضحى "
ความว่า "ปรากฏว่ากลุ่มชนญาฮิลียะฮฺ (กลุ่มชนที่อิสลามยังไม่อุบัติขึ้นแก่พวกเขา) สำหรับพวกเขา มีอยู่สองวันในทุกๆ ปีซึ่งเป็นวันที่พวกเขารื่นเริงสนุกสนาน ในสองวันดังกล่าว,
ครั้นเมื่อท่านรสูลุลลอฮฺ เดินทางไปยังเมืองมะดีนะฮฺ ท่านรสุล ก็กล่าวว่า สำหรับพวกท่าน มีวันรื่นเริงสนุกสนาน อยู่สองวัน ทว่าพระองค์อัลลอฮฺ ทรงเปลี่ยนให้ดีกว่า วันทั้งสองดังกล่าว นั่นคือวันอีดิลฟิฏริ และวันอีดิลอัฎหา"
(บันทึกโดยนะสาอีย์ หะดีษที่ 1538)
ฉะนั้นหะดีษข้างต้น ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ก่อนหน้านี้ จะมีวันรื่นเริงวันใด หรือกี่วันก็ตาม นั่นไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็น คือ ภายหลังที่อิสลามได้ถูกอุบัติขึ้น อิสลามได้ทดแทนวันที่อนุญาต ให้บรรดามุสลิมสนุกสนานรื่นเริง ได้เพียงแค่สองวันเท่านั้น นั่นคือ วันอีดิลฟิฏริ และวันอีดิลอัฎฮา
ครั้นเมื่อหลักการของศาสนา อนุมัติให้มุสลิมฉลอง หรือรื่นเริงได้เพียงสองวัน ในรอบปีเท่านั้น บรรดามุสลิมจะแสวงหาวันรื่นเริงไม่ได้ นอกจากฉลองวันอีดิลฟิฏริ (عيد الفطر) หรืออีดิลอัฎฮา (อ่านว่า อัด-ฮา عيد الأضحى ) เมื่อท่านรสูล ยืนยันอย่างชัดเจนแล้ว ว่ามุสลิมมีวันรื่นเริงเพียง 2 วันเท่านั้น มุสลิมที่ศรัทธามั่นคง ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรสูลุลลอฮฺ อย่างเคร่งครัด
อีกทั้งท่านรสูลุลลอฮฺ ยัง กำชับให้ออกห่าง จากการเลียนแบบแนวคิด, วิถีชีวิต และพฤติกรรม ของพวกยะฮูดีย์ และพวกนัศรอนีย์อีกด้วย ดั่งที่ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวไว้ว่า
" و لا تشبهوا باليهود ولا بالنصارى "
ความว่า "พวกท่านอย่าเลียนแบบพวกยะฮูดีย์ (พวกยิว) และพวกนัศรอนีย์ (พวกคริสเตียน) "
(บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษที่ 8230)
หะดีษข้างต้นระบุไว้ อย่างชัดเจนว่า มุสลิมมีจุดยืนของมุสลิม โดยมีอุดมการณ์อันแน่วแน่ ว่าไม่ยอมเลียนแบบพฤติกรรม, ประเพณี หรือวัฒนธรรม ของประชาชาติอื่น โดยเฉพาะประชาชาติยะฮูดีย์ และนัศรอนีย์โดยเด็ดขาด เพราะนั่นคือ คำสั่งที่ท่านรสูลุลลอฮฺ ต้อง การให้มุสลิม เป็นประชาชาติตัวอย่าง เป็นประชาชาติ ที่นำประชาชาติอื่น ไม่ใช่เป็นประชาชาติ ที่เลียนแบบประชาชาติอื่น หรือเป็นประชาชาติต่ำต้อย ยอมเดินตามหลังประชาชาติอื่นนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น ลองกลับมาพิจารณาเถิดว่า การกำหนดวันปีใหม่ของสากล หรือปีใหม่ของโลกนั้น มาจากแหล่งไหน?
ผลลัพธ์คือ มาจากพวกโรมัน และพวกอังกฤษ ซึ่งก็อยู่ในกลุ่มของอะฮฺลุลกิตาบ หรือพวกยะฮูดีย์ และนัศรอนีย์นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น บรรดามุสลิมยิ่งจะต้องออกห่าง จากการเฉลิมฉลอง และจัดงานรื่นเริงปีใหม่ อย่างไม่ต้องสงสัย จึงเป็นไปไม่ได้ที่มุสลิมจะรณรงค์กัน จัดงานปีใหม่ขึ้นในบ้าน หรือจัดในชุมชนมุสลิม เพราะนั่นเป็นวัฒนธรรมของพวกยะฮูดีย์ และนัศรอนีย์ ²
ดั่งที่ท่านรสูลุลลอฮฺ สั่ง ห้ามมิให้มุสลิมเลียนแบบ กลุ่มชนทั้งสองข้างต้น แม้นว่ามุสลิมคนใดจัดงานปีใหม่ขึ้น นั่นก็หมายรวมว่า ความเป็นประชาชาติตัวอย่าง ได้เหือดหายไปจากจิตสำนึก ของมุสลิมทีละน้อย ทีละน้อย จนในที่สุดก็หามีจิตสำนึก แห่งการเป็นประชาชาติตัวอย่างไม่
ใช่แต่เท่านั้น ท่านรสูลุลลอฮฺ ได้สั่งห้ามบรรดามุสลิมเที่ยวงาน หรือจัดงานเฉลิมฉลอง เยี่ยงการจัดงานของประชาชาติอื่นเท่านั้น แต่บริเวณใด หรือสถานที่ใด ที่อดีตเคยจัดงานเฉลิมฉลอง ของกลุ่มชนที่มีความเชื่อ หรือศาสนาอื่นจากอิสลาม ท่านรสูลุลลอฮฺ ก็ยังสั่งห้าม มิให้มุสลิมเข้าไปร่วมกิจกรรม ยังบริเวณ หรือสถานที่แห่งนั้น อีกต่างหาก
ท่านษาบิต บุตรของเฎาะฮากเล่าว่า
" ชายผู้หนึ่งบนบาน (นะซัร) ว่าจะเชือดอูฐหนึ่งตัว ณ บริเวณ (ที่เรียกว่า) บุวานะฮ,
ท่านรสูลุลลอฮ จึงถามเขาว่า ณ สถานที่แห่งนั้น เคยมีรูปเจว็ดหนึ่ง จากบรรดารูปเจว็ดที่เคยถูกเคารพภักดี ในสมัยญาฮิลียะฮ์ (หมายถึง สมัยก่อนที่ท่านรสูล ถูกแต่งตั้ง ให้เป็นนบี) หรือไม่?
บรรดาเศาะหาบะฮ์ ตอบว่า ไม่เคยมีการกระเช่นนั้นครับ,
ท่านรสูลถามต่ออีกว่า สถานที่แห่งนั้น เคยมีการจัดงาน วันรื่นเริงของพวกเขาหรือไม่?
บรรดาเศาะหาบะฮ์ก็ตอบว่า ไม่เคยมีการกระทำกันครับ,
ท่าน รสูล จึงกล่าวขึ้นว่า เช่นนั้น ท่านจงทำให้สิ่งที่ท่านบนบาน ให้ครบถ้วนสมบูรณ์เถิด แท้จริงไม่มีการทำบนบาน ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ในเรื่องของการฝ่าฝืนพระองค์อัลลอฮ์ "
(บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษ 2881)
หะดีษข้างต้นทำให้มุสลิมต้องพิจารณา ถึงท่าทีของตนเองให้มากๆ เพราะมุสลิมบางคน ยังคงไปเที่ยวงานส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ โดยไปร่วมงานนับถอยหลัง เพื่อเข้าวันที่ 1 มกราคม โดยต้องการมีส่วนร่วมเฉลิมฉลองปีใหม่ กับประชาชาติอื่นอย่างสนุกสนาน แต่ท่านรสูลุลลอฮฺ ระบุว่า สถานที่ซึ่งเคยถูกทำให้เป็นสถานที่จัดงานรื่นเริงนั้น มุสลิมก็ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆ ทั้งสิ้น พึงทราบเถิดว่า อะไรที่มิใช่วิถีชีวิตของมุสลิม วาญิบ (จำเป็น) สำหรับมุสลิม จะต้องออกห่างจากวิถีชีวิตเยี่ยงนั้น
อนึ่ง อาจมีบางท่านอ้างว่า จริงอยู่ถึงแม้ว่า ไม่อนุญาตให้บรรดามุสลิมเฉลิมฉลองในวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันปีใหม่สากลก็ตาม แต่มุสลิมสามารถเฉลิมฉลองปีใหม่ อิสลามได้ นั่นคือให้รื่นเริง และฉลองกันในวันที่ 1 มุหัรฺร็อมของทุกๆ ปี ซึ่งเป็นวันปีใหม่อิสลาม โดยอ้างหลักฐานจากข้อมูลที่ว่า
"วันที่ 1 เดือนมุฮัรรัม เป็นวันแรก ของการเริ่มศักราชใหม่ ตามประวัติศาสตร์ ถือเป็นวันที่ท่านศาสดามูฮัมมัด ลี้ภัยจากนครมักกะฮ์ ไปสู่นครมะดีนะฮ์ เมื่อวันนี้ได้เวียนมาบรรจบ มุสลิมจึงรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น แต่เพื่อมิให้การรำลึกภาพเหตุการณ์สำคัญในวันนั้น เป็นการสูญเปล่า ก็ประกอบกิจกรรมกุศล เช่น การอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน การเอ่ยคำสดุดีสรรเสริญองค์ศาสดา ตลอดจน ขอพรมาปฏิบัติเสริมอันเป็นสิริมงคล"
ข้อมูลข้างต้นที่อ้างมานั้น ถือว่าเป็นการอ้างอิง ที่ไม่ใช่หลักวิชาการ แต่เป็นการอ้างอิง ด้วยการวินิจฉัยเอาเอง ว่าการทำพิธีกรรมในวันที่ 1 มุหัรฺร็อม เป็นสิ่งที่ดี อีกทั้ง ยังเป็นการรำลึกภาพเหตุการณ์สำคัญในวันนั้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ถือว่าเป็น การอุตริกรรมขึ้นใหม่ ในศาสนา (บิดอะฮฺ) หากว่าแนวคิดข้างต้น เป็นสิ่งที่ดีแล้วไซร้ ท่านนะบีมุฮัมมัด จะ ต้องกระทำเป็นบุคคลแรกแล้วนั่นเอง หรือไม่บรรดาเศาะหาบะฮฺ ก็ต้องมีร่วมกันรำลึกวันที่ 1 มุหัรฺร็อมของทุกๆ ปี เนื่องจากเป็นวันปีใหม่อิสลาม แต่ทว่าสิ่งข้างต้น ไม่มีแบบฉบับจากท่านรสูล หรือ ไม่มีการปฏิบัติ ของบรรดาเศาะหาบะฮฺ แม้แต่คนเดียว ฉะนั้นสิ่งข้างต้นจึงเป็นเรื่องเหลวไหล และเป็นเรื่องที่อุตริกรรมขึ้นใหม่ในศาสนา (บิดอะฮฺ) นั่นเอง
ใช่แต่เท่านั้น การกำหนดเดือนมุหัรฺร็อม เป็นเดือนแรกของปฏิทินอิสลามนั้น กลับมิได้ถูกกำหนดจากท่านนบีมุฮัมมัด เลยแม้แต่น้อย แต่ถูกดำริขึ้น ในสมัยของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ ดั่งมีรายละเอีดยดั่งนี้
การนับวัน และเดือนในอิสลาม กำหนดให้ใช้ระบบจันทรคติเป็นหลัก แต่อาหรับในยุคก่อน ยังไม่มีการกำหนดวิธีนับปี มีแต่เพียงเล่าขานต่อๆ กันมาด้วยเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กล่าวว่า ท่านนบีมุฮัมมัด เกิดในปีช้าง
ในปีนั้นมีเหตุการณ์สำคัญคือ อับเราะหะฮฺ เจ้าเมืองยะมัน ยกกองทัพช้างมุ่งตรงมายังมักกะฮฺ หมายจะทำลายอัลกะอฺบะฮฺ แต่อัลลอฮฺได้ทรงพิทักษ์รักษาบ้านของพระองค์ โดยทรงบันดาล ให้ฝูงนกอะบาบีล คาบก้อนหินมาถล่มใส่กองทัพช้าง ของอับเราะหะฮฺ จนย่อยยับไป
ต่อมาหลังจากท่านนบีมุฮัมมัด สิ้นชีวิตไป แผ่นดินอิสลาม ได้แผ่ขยายออกไปกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคการปกครองของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร ซึ่งสืบทอดการปกครองอาณาจักรอิสลาม เป็นเคาะลีฟะฮฺคนที่ 2 ต่อจากท่านเคาะลีฟะฮฺอบูบักร์ ท่านอุมัรได้จัดระบบการบริหารราชการแผ่นดิน การเงิน การคลัง ให้เป็นระเบียบ มีการทำสำมะโนประชากร มีการทำบันทึกรายได้ รายจ่าย ของรัฐอย่างเป็นระบบ จึงพบปัญหา ว่าไม่สามารถระบุวันที่ได้แน่นอน เกิดความสับสน ในการบันทึกเอกสารต่างๆ บางทีเดือนเดียวกัน แต่ไม่ทราบว่าเป็นปีใด
ท่านอุมัร ได้ปรึกษาหารือ กับบรรดาสาวกของท่านนะบี ที่ร่วมบริหารงานอยู่ ก็มีมติให้ ปรับปรุงการกำหนดปีกันใหม่ บางคนเสนอให้ใช้ศักราชโรมัน บางคนเสนอให้ใช้ศักราชเปอร์เชีย บ้างก็เสนอให้ใช้วันเกิดของท่านนะบี เป็นศักราชอิสลามบ้าง ให้ใช้วันที่ท่านนะบี ได้รับการแต่งตั้งเป็นนะบี บ้าง หรือ ให้ใช้วันเสียชีวิตของท่าน เป็นจุดเริ่มต้นนับศักราชอิสลามบ้าง แต่ท่านอุมัรไม่เห็นด้วย ที่จะรับวิธีคิดตามอย่างพวกที่พยายามหาทางทำลายล้าง และเป็นปฏิปักษ์ กับอิสลามมาใช้ และไม่เห็นด้วย ที่จะเอาวันเกิด วันตาย ของท่านนะบี มากำหนดศักราชอิสลาม เลียนแบบศาสนาอื่น
ในที่สุด ท่านอะลี หนึ่งในคณะที่ปรึกษา (ซึ่งต่อมา ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺคนที่ 4) ได้เสนอให้ เอาการอพยพ (หิญเราะฮฺ) ของท่านนะบีจาก มักกะฮฺ ไปสู่มะดีนะฮฺ เป็นจุดเริ่มต้น นับศักราชใหม่ของอิสลาม เนื่องจากเป็นนิมิตหมายถึงความสำเร็จ ในการสถาปนารัฐอิสลามของท่านนะบี และยิ่งกว่านั้นการอพยพครั้งนั้น ยังเป็นการจำแนกความจริงจากความเท็จ และความหลงผิด ได้อย่างชัดเจน
ท่านอุมัรเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเสนอนี้ การปรึกษาหารือเรื่องนี้ เกิดขึ้นประมาณปีที่ 17-18 หลังจากการฮิจเราะฮ์ จึงมีมติให้เริ่มนับศักราชอิสลาม ตั้งแต่ปีที่ท่านนะบีอพยพ เรียกว่า ฮิจเราะฮ์ศักราช
พิธีกรรมอย่างหนึ่ง ของชาวอาหรับ ที่มีมาแต่โบราณ คือ พิธีหัจญ์ ซึ่ง จะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ มาร่วมพิธีที่นครมักกะฮฺ และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีหัจญ์ ก็พอดีย่างเข้าเดือนมุหัรรอม จะเป็นจุดเริ่มต้นการค้าขาย และธุรกิจต่างๆ ชาวอาหรับจึงนับเดือนมุหัรรอมนี้ เป็นเดือนแรกของปี ศักราชอิสลามก็ยังคง นับเดือนมุหัรรอมเป็นเดือนแรก มิใช่เริ่มนับ ณ วันที่ท่านนะบีอพยพ (ท่านนะบีอพยพ ในเดือนเราะบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ของปี) แต่เริ่มนับวันที่ 1 มุหัรรอม ของปีที่ท่านนะบี อพยพ เป็นวันเริ่มต้นฮิจเราะฮฺศักราช ตำราบางเล่มกล่าวว่า วันนั้นตรงกับวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.632 (ตามปฏิทิน Julian Calendar) เนื่องจากการกำหนดศักราชอิสลามนี้ เกิดขึ้นหลังจากท่านนะบี สิ้นชีวิตไปแล้วถึง 17-18 ปี วัน ปีใหม่ของฮิจเราะฮฺศักราช จึงไม่ถือเป็นวันสำคัญทางศาสนา และไม่ปรากฏว่ามุสลิม ในยุคแรกๆ เฉลิมฉลองวันปีใหม่นี้ แต่พวกเขายึดมั่นในวันสำคัญ 2 วัน คือ อีดิลฟิฏริ และ อีดิลอัฎฮา ที่พระองค์อัลลอฮฺ ทรงประทานให้ เพื่อล้มล้าง และยกเลิกวันสำคัญ หรือพิธีกรรมเก่าๆ ที่เคยยึดถือปฏิบัติกันมา ในยุคก่อนเข้ารับอิสลาม และจากการพิจารณา ถึงวิธีกำหนดศักราชอิสลาม จะเห็นว่า ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรพยายามอย่างยิ่ง ที่จะหลีกเลี่ยงการเลียนแบบ วิธีคิด และประเพณีปฏิบัติตามลัทธิศาสนาอื่น ³
สรุปว่า สาเหตุที่ศาสนาไม่อนุญาต ให้มุสลิมร่วมงาน หรือ จัดงานปีใหม่ มีดังนี้
1. สิ่งข้างต้น เป็นการอุตริกรรมขึ้นใหม่ ซึ่งไม่ปรากฏจากบทบัญญัติที่อนุญาต ให้เฉลิมฉลองในวันดังกล่าว
2. สิ่งข้างต้นนั้น มาจากพวกยะฮูดีย์ และนัศรอนีย์ ซึ่งมีบทบัญญัติศาสนา ให้ออกห่างการเลียนแบบ ตามทั้งสองกลุ่มนั้นอย่างสิ้นเชิง
3. มุสลิมถูกสั่งสอน ให้ตามแนวทางจากอัลกุรฺอาน และสุนนะฮฺ ของท่านนะบีมุฮัมมัด หน้าที่ของบรรดามุสลิม จึงต้องปฏิบัติตามแนวทางของอิสลาม อย่างเคร่งครัด เมื่อเป็นเช่นนั้น ศาสนาระบุไว้อย่าชัดเจนว่า ศาสนาเปิดโอกาสให้ บรรดามุสลิมสนุกสนานรื่นเริง และเฉลิมฉลองในรอบปีได้ มีเพียงสองวัน อันได้แก่ วันอีดิลฟิฏริ และอีดิลอัฎหาเท่านั้น, ส่วนการเฉลิมฉลอง ในวันปีใหม่ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง กับชีวิตของมุสลิมเลยแม้แต่น้อย หน้าที่ของมุสลิม จึงจะต้องออกห่าง จากการเฉลิมฉลอง ในวันดังกล่าวอย่างไม่ต้องสงสัย
4. การที่มุสลิมหมกมุ่น อยู่กับสิ่งที่สนุกสนานรื่นเริงนั้น จะทำให้หัวใจของมุสลิมหมกมุ่น และสาละวนอยู่กับสิ่งที่ไร้สาระ ซึ่งเป็นสิ่งที่ค้านกับทางนำ แห่งสัจธรรมจากพระผู้เป็นเจ้า ขอให้พระองค์อัลลอฮฺ ทรงเมตตาชี้ทางนำ ให้แก่ผู้ที่หลงผิดด้วยเถิด
การให้ของขวัญ และบัตรอวยพรในวันปีใหม่
บัตรอวยพรคริสต์มาสพิมพ์ ครั้งแรก โดยบริษัทลอนดอนจำกัด ทำออกจำหน่ายในปี ค.ศ. 1843 ต่อมามีบริษัทอื่นๆ พิมพ์ออกมา และจำหน่ายอย่างกว้างขวาง เป็นที่นิยมกันอย่างมากมาย จนพิมพ์แทบไม่พอขาย ปัจจุบัน การส่งบัตรอวยพรคริสต์มาส และปีใหม่ กลายเป็นธรรมเนียม ถือปฏิบัติกันทั่วโลก โดยส่งคำอวยพรถึงกันและกันในครอบครัว และระหว่างเพื่อนฝูงมิตรสหาย เพราะเป็นวิธีหนึ่ง ที่จะแสดงความระลึกถึงกันได้เป็นอย่างดี ในโอกาสฉลองเทศกาลอันสำคัญนี้ ซึ่งเป็นวาระแห่งความปีติยินดี
จุดประสงค์ของการส่งบัตรอวยพร นั้น เพื่อแสดงความสุข ความยินดีในวันคริสต์มาส และส่งความปรารถนาดี รำลึกถึงกัน และกันด้วยใจจริง ถ้าหากขาดเป้าหมายเหล่านี้แล้ว บัตรอวยพรราคงแพงที่สวยหรู และถ้อยคำอวยพรที่ไพเราะเพราะพริ้ง จะไร้ความหมายทันที
ธรรมเนียมที่สำคัญอีกประการ หนึ่ง ที่คริสต์ศาสนิกชนนิยม ทำกันมากที่สุดคือ การส่งบัตรอวยพร (Greeting Card) ไปยังญาติสนิทมิตรสหาย โดยบรรจุข้อความที่สำคัญ และประทับใจเช่น Merry Christmas อวยพรขอให้ผู้รับมีความสุข สดชื่น และสมปรารถนา ด้วยอำนาจแห่งพระมหากรุณาธิคุณ ของพระผู้เป็นเจ้า
สรุปที่มา ของบัตรอวยพรปีใหม่
การส่งบัตรอวยพร ในวันปีใหม่ ถือว่าเป็นธรรมเนียม ที่นิยมปฏิบัติกัน สำหรับคริสต์ศาสนิกชน
ประเด็นชี้แจง
ศาสนาอิสลาม อนุญาตให้มอบของขวัญ หรือแม้แต่การเขียนบัตรอวยพร ให้แก่มุสลิมด้วยกันได้ เพราะนั่นถือว่าเป็นเรื่องของสังคม แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่กำหนดวันเจาะจง ที่จะมอบให้อย่างตายตัว มุสลิมสามารถมอบของขวัญ หรือบัตรอวยพรได้ตลอดเวลา แต่ถ้ามุสลิมคนใด เจาะจงมอบให้เฉพาะวันคริสต์มาส หรือวันปีใหม่ เท่ากับว่ามุสลิมผู้นั้น กำลังเลียนแบบกลุ่มอื่นแล้ว ดั่งเช่นที่ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวไว้ว่า
" من تشبه بقوم فهو منهم "
ความว่า "บุคคลใด ที่เลียนแบบชนกลุ่มใด เขาก็เป็นส่วนหนึ่ง ของชนกลุ่มนั้น"
(บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 3512)
ดัง นั้น เมื่อศาสนาไม่อนุญาตในรื่นเริง และเฉลิมฉลองในวันปีใหม่ หรือเทศกาลปีใหม่ เช่นนี้มุสลิม ต้องหลีกเลี่ยง โดยไม่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกิจกรรมใด ในเทศกาลดังกล่าว ไม่ว่าจะมีส่วนร่วม ให้นำสิ่งของต่างๆ ที่บ่งบอกว่าเราได้มีส่วนร่วมในวันนั้น ไม่ว่าจะในเรื่องของการกิน การดื่ม เสื้อผ้า ของขวัญ หรืออย่างอื่นๆ เป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน ที่จะต้องภาคภูมิใจในศาสนาของตนเอง และเขาจะต้องไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับทุก ๆ เทศกาล ที่ไม่ใช่อิสลามอย่างสิ้นเชิง
เราขอให้พระองค์อัลลอฮ ผู้ทรง สูงส่ง ทรงโปรดปกป้องพี่น้องมุสลิม จากการทดสอบทั้งหลาย ไม่ว่าในที่ลับ และที่แจ้ง และขอให้พระองค์ทรงคุ้มครอง และประทานทางนำ หรือแนวทางแห่งสัจธรรม ให้กับพวกเราด้วยเถิด อามีน (ขอพระองค์อัลลอฮฺ ทรงรับคำวิงวอนนี้ด้วยเถิด)
ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ช่วงปีใหม่ อิสลาม ซึ่งก็หมายความว่าเรากำลังได้รับเนี๊ยะมัตการมีอายุเพิ่มเติมจากพระองค์อัลลอฮ นั้นเอง
เราจะต้องต้อนรับปีใหม่นี้ด้วยความขอบคุณซูโกรพร้อมทั้งหวังในความเมตตาและ ทางนำจากพระองค์ เพื่อให้ทางเดินชีวิตหรืออายุของเราอยู่ในความถูกต้องและสอดคล้องกับคำสอน ของพระองค์ และเราจะต้องทำให้ปีใหม่นี้เป็นเหมือนดังกระจกส่องเงาของตัวเองที่สามารถ เปรียบเทียบอามัลอีบาดัตของเราในปีที่ผ่านๆ มา เราจะต้องทบทวนอามัลอีบาดัตของเราในปีที่ผ่านๆ มา ตรวจเช็คความบกพร่องและความผิดต่างๆ ด้วยการตั้งใจอย่างมุ่งมั่นที่จะเพิ่มเติมและปรับปรุงอามัล อีบาดัตของเราในปีต่อๆ ไป กล่าวคือ ปีใหม่นี้คือจุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาอามัลอีบาดัต และเป็นจุดสุดท้ายของการปฎิบัติในสิ่งที่เป็นความผิดซึ่งไม่เหมาะสมและคู่ ควรกับหลักการ
ในการเข้าสู่ปีใหม่นี้ เราจะต้องเข้าด้วยการเหนียตหรือความตั้งใจอันใหม่ ถ้าหากปีที่ผ่านมา เราได้ทำแต่สิ่งที่เป็นความผิด เราต้องทำการขอลุแก่โทษ ดังนั้นในปีใหม่นี้เราจะต้องปรับปรุงย่างก้าวของเราด้วยการเหนียตที่ดี เพื่อไปสู่การปฏิบัติสิ่งที่ดีงาม ถ้าหากปีที่ผ่านมาเรามีความรู้สึกว่ามีความบกพร่องในการปฎิบัตตนเพื่อเป็น บ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ ดัง นั้นในปีใหม่นี้เราจะต้องปรับปรุงความบกพร่องดังกล่าว ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อื่นใดนอกจากหวังในความเมตตาและความยินดีปรีดาจากพระองค์ ในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงการซูโกรขอบคุณต่อเนี๊ยะะมัตของพระองค์ที่ไม่สา มารถคณานับได้
การขอบคุณในที่นี้ คือการยอมจำนนปฎิบัติตามคำสั่งใช้ของพระองค์พร้อมทั้งใช้สอยเนี๊ยะมัตต่างๆที่พระองค์ทรงประทานมาในทางอันดีงามและสอดคล้องกับบทบัญญัติ กล่าวคือจะไม่ถือว่าเป็นการซูโกรขอบคุณหากเพียงแค่การกล่าวคำขอบคุณ เว้นแต่จะต้องแสดงด้วยการปฎิบัติต่างๆที่พระองค์ทรงสั่งใช้ เพื่อ เป็นการขอบคุณเนี๊ยะมัตของพระองค์ที่อยู่ในรูปแบบของการมีอายุขัยนั้น เราจะต้องมีความพร้อมเสมอในการเปลี่ยนแปลงความประพฤติตนเองที่ไม่อยู่ในขอบ ข่ายของศาสนา เราจะต้องก้าวเดินสู่หนทางที่ถูกชี้นำด้วยศาสนา และเราจะต้องขออภัยโทษต่อบาปกรรมต่างๆ ที่เราได้ทำๆไป ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เราต้องมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยการขอบคุณซูโกรต่อพระองค์อัลลอฮ พระองค์จะทรงเพิ่มพูนเนี๊ยะมัตให้แก่เรา ในทางตรงกันข้ามด้วยการเนรคุณต่อเนี๊ยะมัตของพระองค์ แน่นอนบทลงโทษของพระองค์นั้น เราจะต้องได้รับ พระองค์อัลลอฮได้ตรัส ในกรุอานซึ่งมีใจความว่า
“ และเมื่อองค์อภิบาลของพวกท่านได้ประกาศสัจวาจาว่า “ขอยืนยัน! หากแม้นพวกเจ้าทั้งหลายกตัญญู แน่นอนข้าจักเพิ่มพูนแก่พวกเจ้า แต่ถ้าพวกเจ้าอกตัญญู แน่นอนการลงโทษของข้านั้นร้ายแรงนัก” ( 14 : 7 )
จากสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างตน เป็นที่ชัดเจนแก่เราทั้งหลายแล้วว่า การมาเยือนของปีใหม่นั้นคือการเพิ่มพูนเนี๊ยะมัตยิ่งใหญ่ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้เองเราจะต้องต้อนรับปีใหม่นี้ด้วยการปรับปรุงและเพิ่มเติมอามัล อีบาดัตของเรา โดยเฉพาะอามัลที่อยู่ในรูปแบบกิจกรรมของการพัฒนาสังคม พัฒนาตนเอง และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านญาติพี่น้อง เราจะต้องเข้าสู่ปีใหม่นี้ ด้วยความคิดและวิสัยทัศน์ใหม่ ย่างก้าวใหม่อีกทั้งจรรยามารยาทใหม่ ซึ่งทั้งหมดนั้นคือผลสืบเนื่องแห่งการเพิ่มพูนประสพการณ์ต่างๆ จากปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งแน่นอนว่า การพัฒนาและการปรับปรุงต่างๆ นั้นจะดีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างนี้จะขึ้นอยู่กับการเหนียตและความตั้งใจของเรานั้นเอง
สุดท้ายนี้ เราจะต้องตั้งเหนียตเจตนาของเราให้บริสุทธิ์ เพื่อดำเนินวีถีแห่งชีวิตของเราที่ถูกต้องและสอดคล้องกับพระประสงค์ของ พระองค์ เพื่อเราจะได้ดำรงชีวิตของเราอย่างผาสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า
หวังว่าพระองค์อัลลอฮ จะ ทรงประทานเนี๊ยะมัตและเราะฮมัตต่างๆ ของพระองค์ต่อพวกเราทั้งหลาย จนกระทั่งการดำเนินชีวิตของเราในปีต่อๆ ไปให้ดียิ่งกว่า สมบูรณ์กว่าปีที่ผ่านๆ มา
ชมรมนักวิชาการปทุมธานี