"ทำแท้งปัญหาซ้ำซาก พุ่งกว่า 2 แสนรายต่อปี" และข่าว "การพบซากศพเด็กทารก ในช่องเก็บศพกว่าพันศพในวัดไผ่เงิน" ดูจะเป็นข่าวดังในรอบสัปดาห์ที่ได้รับความสนใจ ที่ถือได้ว่าเป็นตัวชี้ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของสภาพปัญหาทางสังคม ที่นำไปสู่การล่มสลายเชิงโครงสร้างอีกด้านหนึ่ง ที่นอกเหนือไปจากสภาพการณ์ด้านการเมือง และเศรษฐกิจ
สำหรับปัญหาเชิงพฤติกรรมทางเพศในสังคมไทยนี้ มีข้อถกเถียงที่สำคัญจากมุมมองของคนในสังคมอยู่อย่างน้อย 3 แนวทาง คือ มุมมองด้านศีลธรรม มุมมองด้านกฎหมาย มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ และมุมมองด้านการจัดการ ซึ่งแต่ละมุมมองก็มีความน่าสนใจ และให้ความสำคัญกับการมองปัญหาไปคนละแบบ ส่วนข้อตกลงหรือบทสรุปของการแก้ปัญหาพบว่าประเทศไทยยังคงใช้วิธีการแก้ปัญหา แบบดั้งเดิม (Conservative) ซึ่งยึดตามหลักของมุมมองทางศีลธรรม และมุมมองด้านกฎหมาย เป็นหลัก ทำให้การดำเนินการของรัฐในการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติปรากฏออกมาในรูปแบบของการ รณรงค์ การสื่อ ตลอดจนการเรียกร้องให้ครอบครัวเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องเพศให้มากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามข่าวข้างต้นก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า การจัดการปัญหาแบบเดิมน่าจะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ในบริบทของสังคมโลกยุคใหม่ที่มีความซับซ้อนและเปิดกว้างมากขึ้นอย่างเช่นใน ปัจจุบัน
ธรรมชาติหรือบริบทของปัญหาสังคมที่เกิดจากพฤติกรรม ทางเพศในปัจจุบัน ถ้าเรามองอย่างเป็นจริง (Realism) และยอมรับ (Acceptably) ในวาทกรรมของปัญหาแล้วจะพบว่า มีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของมิติปัญหาอยู่ 4 ด้านที่สำคัญ คือ
1. มิติปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์
มองอย่างง่ายที่สุดอาจเริ่มจากพฤติกรรมมนุษย์ที่ว่า ด้วยความต้องการ (Demand) กับการตอบสนอง (Supply) ที่เป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกตามธรรมชาติในแต่ละวัยของมนุษย์ โดยเป็นความสัมพันธ์เชิงพฤติกรรมมนุษย์ที่ผันแปรไปตามวัยของบุคคลตั้งแต่วัย รุ่น วัยกลางคน จนถึงวัยชรา ทั้งนี้ มิติที่เกิดจากพฤติกรรมตามธรรมชาติอาจนำไปสู่ปัญหาในสังคมได้หลายประการ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน (ปัญหาเกิดในช่วงวัยรุ่นที่มีความสำคัญที่สุด และหากมีประสบการณ์แล้วจะนำไปสู่ปัญหาอื่นได้ง่าย) การขายบริการทางเพศทั้งทางตรงและแอบแฝง การเกิดขึ้นของสถานบริการเพื่อสนองความต้องการทางเพศ หรือปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากเรื่องเพศ เป็นต้น
2. มิติปัญหาที่เกิดจากเรื่องของศีลธรรมและวัฒนธรรมสังคมเสื่อมถอย
มุมมองในเชิงของศีลธรรมและวัฒนธรรมถือเป็นอีกมุม หนึ่ง ที่เดิมเคยเป็นกรอบความคิดที่สำคัญในการควบคุมพฤติกรรมดิบ (ID) หรือพฤติกรรมทางด้านร้ายของมนุษย์ แต่ปัจจุบันในโลกของกระแสทุนและความทันสมัยแบบตะวันตกที่บ่าไหลเข้าสู่สังคม ไทย ได้ทำให้วัฒนธรรมและศีลธรรมไทยแบบดั้งเดิมเปลี่ยนไป ดังปรากฏได้จากเรื่องของการแต่งกาย เรื่องของการเปิดเผยเรือนร่างของผู้หญิง-ชาย ฯลฯ ทำให้แนวคิดในเรื่องของศาสนาและศีลธรรมดูเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและห่างไกล สำหรับวัยรุ่นสมัยปัจจุบัน กอปรกับสถาบันหลักในสังคมที่เกี่ยวข้องเองก็มีข่าวในเรื่องไม่งามให้เห็น อยู่บ่อยครั้ง
3. มิติปัญหาที่เกิดจากเรื่องของเศรษฐกิจ
มิตินี้เป็นเรื่องของความต้องการ (Demand) และซัพพลาย (Supply) ทางเศรษฐกิจที่ว่าด้วยเรื่องของเงิน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการเสนอซื้อและการตอบสนองโดยการเสนอขาย ซึ่งในที่นี้หมายถึงเรื่องพฤติกรรมทางเพศ ที่เกิดขึ้นจากความต้องการทางการเงินบวกกับความต้องการในเชิงพฤติกรรม กรณีนี้นำไปสู่ปัญหาทางสังคมที่เรามักจะละเลยไม่พูดกันอย่างตรงไปตรงมา เช่น การค้าบริการทางเพศของนักศึกษา หรือพนักงานสำนักงาน ปัญหาเด็กกิ๊กของผู้มีอำนาจทางการเงิน (หรือการเมือง) ปัญหาโสเภณีเด็ก หรือปัญหาสถานบริการทางเพศที่มีอยู่โดยทั่วไป ฯลฯ และ
4. เรื่องของสภาพแวดล้อมทางสังคม
มิตินี้เป็นมิติที่มีความสำคัญในบทบาทของการสนับสนุน หรือการสร้างสิ่งกระตุ้นเร้าให้เกิดกระแสของความคิดใหม่ในเรื่องของพฤติกรรม ทางเพศที่ผิดไปจากสังคมแบบเดิม ซึ่งอาจมีผลทั้งในทางบวกและทางลบ (ขึ้นอยู่ว่าฝ่ายไหนจะมีอิทธิพลเชิงพฤติกรรมมากกว่า) อย่างไรก็ตาม จากสภาพแวดล้อมที่ปรากฏในสังคมโดยทั่วไป พบว่ามีครอบครัว 1 ใน 3 ที่ไม่มีเวลามากพอสำหรับการให้ความรู้บุตรในเรื่องพฤติกรรมทางเพศ มีสื่อกว่าครึ่งนำเสนอสิ่งเร้าที่มีผลต่อพฤติกรรมทางเพศในปริมาณที่สูง เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือมีการเรียนรู้พฤติกรรมทางเพศจากการแต่งกายของดารา เป็นต้น
จากสี่มิติหลักข้างต้น จะเห็นได้ว่าทุกมิตินั้นล้วนมีความสำคัญ มีบทบาท และมีความเชื่อมโยงต่อกันและกัน กล่าวคือ สภาพทางธรรมชาติจะมีผลต่อพฤติกรรมทางเพศ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเป็นตัวกระตุ้นทางอ้อมทำให้เกิดตลาดค้าบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานบุคคล และเมื่ออยู่ในภาวะที่สังคมมีศีลธรรมและวัฒนธรรมเสื่อมถอย ทั้งยังมีตัวกระตุ้นเร้า เรื่องพฤติกรรมทางเพศที่สำคัญผ่านสื่อ สี่องค์ประกอบนี้ก็จะสร้างแนวคิดใหม่ที่เป็นรูปธรรม ในเรื่องพฤติกรรมทางเพศใหม่ต่อคนรุ่นใหม่ ที่สนใจในเรื่องของปัญหาตนมากกว่า สนใจในเรื่องศีลธรรม วัฒนธรรม หรือแม้แต่ข้อห้ามของกฎหมาย
ซึ่งหนึ่งในบทสรุปของปัญหาที่เป็นความผิดพลาดในเชิง พฤติกรรมทางเพศ เมื่อไม่สามารถหาทางออกได้อย่างเหมาะสม ก็คือ การระงับเหตุของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของบุคคลนั้นๆ ด้วย "การทำแท้ง" ซึ่งไม่ใช่เป็นวิธีการที่ถูกต้องนักในเชิงของศีลธรรม (และผมก็คิดว่าเค้าก็ไม่อยากทำ) แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็เท่ากับเป็นการลดภาระของสังคมในด้านการประชา สงเคราะห์ เพิ่มคุณภาพของประชากร (เพราะเด็กที่เกิดในสภาพที่พร้อมจะได้รับการดูแลมากกว่า) และลดภาระปัญหาของบุตรที่ไม่พึ่งประสงค์ของบางครอบครัวที่จะมีทางเลือกเพิ่ม ขึ้น เป็นต้น
ถึงตรงนี้แล้ว บางทีอาจถึงเวลาที่เราต้องบริหารจัดการความคิดใหม่ จัดการกับมิติของปัญหาในมุมมองใหม่ที่เป็นจริงมากขึ้น
ปัญหาทางศีลธรรมที่ส่งผลต่อการเมืองไทยในปัจจุปัน //bangkokbiznews.com