การจะอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขจะต้องมีหลักยึดอย่างน้อย 4 ประการดังต่อไปนี้
· การให้
· การพูดดี
· การเกื้อกูล
· ความเสมอต้นเสมอปลาย
อิสลามสอนมุสลิมให้เป็นมือบน คือมือที่ให้ และไม่สนับสนุนการเป็นมือล่างคือมือที่ขอ หากคนใดยึดอาชีพการขอ ในวันกิยามะฮฺใบหน้าของเขาจะไม่มีเนื้อ แสดงถึงความอัปยศที่ทำตัวเป็นกาฝากของสังคม นอกจากนี้ทรัพย์ที่ถูกแบ่งปันไปสู่การบริจาคจะไม่บกพร่อง แต่จะมีความเพิ่มพูนในตัวของทรัพย์สินและการเพิ่มพูนน้ำใจ ความรักใคร่จากคนรอบข้างอีกด้วย เพราะคนใจดีย่อมมากด้วยมิตร
หลักที่สองคือการพูดดี เพราะการพูดดีทำให้เกิดการสร้างสรรค์ แม้แต่นักกวีขี้เมาอย่างสุนทรภู่ ยังชื่นชมการพูดดีไว้ว่า ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แต่พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะสอนผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
ส่วนท่านนบี (ศ็อลฯ) ให้ระวังสิ่งที่อยู่ระหว่างหนวดทั้งสองคือลิ้น และระหว่างสองขาคืออวัยวะเพศ ในความเป็นจริงปัญหาของสังคมส่วนใหญ่เกิดจากคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ และความส่ำสอนทางเพศ
อัล-กุรอานได้ระบุไว้ว่าคำพูดที่ดีคือ
· คำพูดที่เรียกร้องสู่อัลลอฮฺ
· การทำตัวดี (เป็นคำพูดที่ดีกว่าคำพูดที่หลุดจากริมฝีปาก)
· การประกาศจุดยืนในการเป็นมุสลิม
นอกจากนี้นบีมูซาและฮารูนยังถูกใช้ให้พูดกับฟิรเอาน์ ด้วยคำพูดที่นิ่มนวล เพื่อเขาจะได้ใคร่ครวญและเกรงกลัวอัลลอฮฺ (20,44)
แล้วเราเป็นมุสลิมด้วยกัน ทำไมพูดดีกันไม่ได้ และทำไมต้องเอานรกเป็นตัวตัดสิน เรารู้ได้อย่างไรใครจะได้เข้าสวรรค์หรือตกนรก มันเป็นเรื่องของเราหรือของอัลเลาะฮฺผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง หลักที่สามคือการให้การช่วยเหลือผู้อื่น ส่วนคนใจแคบเห็นแก่ตัวจะไม่มีความรู้สึกเดือดร้อนกับความทุกข์ยากของคนอื่น แม้จะเป็นการแสดงการร่วมทุกข์ ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือกันในรูปแบบหนึ่ง
หลักที่สี่คือความเสมอต้นเสมอปลาย การคบค้ากันไม่ใช่เพียงยามสุข คือร่วมสุขแต่ไม่ร่วมทุกข์ ดังนั้นการทำอะไรเสมอต้นเสมอปลายเป็นงานที่ท่านนบี (ศ็อลฯ) รักมาก และท่านใช้ให้สหายของท่านทำงานอย่างเสมอต้นเสมอปลาย แม้จะเป็นงานที่เล็กน้อยก็ตาม
งานที่ทำแบบเปิดขวดแป๊ปซี่ซึ่ง “ซ่า” ตอนเปิด และมันก็จบลงเมื่อหายซ่า เช่นการเอาจริงเอาจังกับหมวกกันน็อก เมื่อตอนที่กฎหมายออกใหม่ๆ แล้วก็จืดจางเมื่อเวลาผ่านไป
กฎหมายไทยก็เป็นแบบนี้แหละ