guest อิสลามสนับสนุนการแพทย์
เขียนโดย อาจารย์ มัรวาน สะมะอุน
ตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม ถือว่าการเรียนแพทย์เป็น “ฟัรฏูกิฟายะฮฺ” นักวิชาการในอดีตยึดถือว่า ในชุมชนมุสลิม จะต้องมีแพทย์ 1 คนเป็นอย่างน้อย มิฉะนั้นทั้งชุมชนจะต้องตกหนักกันทุกคน และทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในอันที่จะให้มีแพทย์ประจำชุมชน
ตามหลักทางนิติศาสตร์ที่ยึดถือกันมานานดังกล่าวนั้น แสดงว่าสังคมมุสลิมของเราไม่ได้สนใจเท่าใดนัก เรามักจะอยู่กันด้วยสภาวะจำยอม เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ แทนที่เราจะได้มือของมุสลิมช่วยเหลือ มือที่มีศรัทธาอัลเลาะฮฺ มือที่มีตักวา จับเข็มฉีดยา จับชีพจร จับร่างกายของเราเพื่อการตรวจและรักษา เรากลับต้องอาศัยมือของคนอื่น คนที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยมักคุ้น หัวใจของเขา มุ่งมั่นแต่ผลกำไรจากการรักษาพยาบาล เขาไม่ได้คิดหรอกว่า เขากำลังรักษาพยาบาลพี่น้องของเขา เขาคิดแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจะเถือเนื้อแล่หนังของคนไข้ให้ได้กำไรมากที่สุด เนื้อหนังหมดแล้ว เขาก็ไถลึกเข้าไปถึงกระดูก
พี่น้องมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า การเรียนแพทย์ เป็นการเรียนนอกอิสลาม ไม่เกี่ยวข้องกันประการใด ๆ กับอิสลาม ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะหลักการอิสลาม ไม่ได้จำกัดการศึกษาแต่เฉพาะด้านศาสนาเท่านั้น การเรียนแพทย์ ก็ถือเป็นการศึกษาแขนงหนึ่งที่อิสลามส่งเสริมและถือเป็น “ฟัรฏูกิฟายะฮฺ” ดังกล่าวแล้ว
ความจริงสมองของมุสลิมไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่น เราสามารถศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเราได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้อง บรรดาผู้รู้ทางศาสนาน่าจะกระตุ้นสมาชิกสังคมของเราให้หันมามองความสำคัญทาง ด้านการแพทย์ เหมือนกับในอดีต เราเคยมีนักการแพทย์นามอุโฆษอย่างเช่น อิบนิซีนา, อิบนุรุชด , อิบนุฏฟัยล, ซึ่งเป็นบรมครูทางการแพทย์ อันเป็นที่ยอมรับของโลก มิเฉพาะสำหรับโลกมุสลิมเท่านั้น
อัลกุรอาน และอัลหะดิษ ได้พรรณาถึงการศึกษา การใช้สติปัญญา การตริตรอง การพิจารณา การวิเคราะห์ การใช้วิจารณญาน มีถึง 300 กว่าแห่ง ซึ่งมากพอที่จะทำให้เราได้หันมามองสภาพจริงทางสังคมของเราว่า เราได้ซึมซับการเน้นทางด้านการศึกษา มาไว้ในสมองและชีวิตของเรามากน้อยเพียงใด ยังมีพวกเราอีกบ้างไหมที่คิดว่า การศึกษาแพทย์ ไม่ได้บุญ เพราะไม่ใช่วิชาศาสนา ยังมีบ้างไหมที่คิดว่าเรียนการแพทย์จะเกิดชีริกขึ้นในใจ ทำให้เกิดอาการกำแหงเทียบความสามารถกับอำนาจของอัลเลาะฮฺ (ซ.บ.)
เราเคยประทับจิตประทับใจกับผู้มีความรู้ทางศาสนา ให้ความเคารพยกย่องอย่างสุดชีวิต ว่าพวกเขาสามารถชี้ทางสวรรค์ให้เราได้ พวกเขาทำให้เราข้ามโลกดุนยาไปสู่โลกอาคิเราะฮฺได้อย่างปลอดภัย ท่านครูทางศาสนาได้รับการยกย่องมากเข้า จึงเกิดอาการหลงตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นบุคคลสำคัญทางสังคม เป็นอภิสิทธิ์ชนที่ใคร ๆ ต้องยอมรับและเคารพ แล้วจำนวนหนึ่งของผู้รู้สายศาสนาก็ห้ำหั่นกันเองในปัญหาพิพาท เพื่อสำแดงเดชศักดาที่เหนือกว่ากัน ผู้รู้สายศาสนาที่ประพฤติตัวอย่างนี้หรือ ที่สังคมชื่นชม และนำมายกย่อง เขาทำประโยชน์อันใดแก่สังคมบ้าง นอกจากสร้างแต่ปัญหาสังคมอันไม่รู้จบ
ผู้รู้สายศาสนาที่มีความประพฤติอันเหมาะสม เราก็ยินดีเคารพ ยกย่อง ถ้าเขานำความรู้ที่ยังประโยชน์มาสู่สมาชิกสังคม ผู้รู้สายศาสนาสมัยก่อนนั้น เขาจะมีวิชาการแพทย์ศึกษาด้วย แม้กระทั่งท่านเชคดาวุดปัตตานี ผู้เขียนหนังสือศาสนาด้วยภาษามลายูหลายเล่ม ก็ยังเคยเขียนวิชาการแพทย์ ชื่อ “อิลมุฏฏิบบิ”
การศึกษาการแพทย์ ผมเห็นว่ามีความจำเป็นสำหรับสังคมเรามาก เมื่อเรามองสภาพจริงทางสังคมว่า เรายังขาดแคลนแพทย์อีกมาก เราจะต้องช่วยกันเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดนี้ให้เต็มเพื่อคุณภาพสังคมของเรา สังคมที่มีคุณภาพจะต้องมีบุคลากรด้านต่าง ๆ ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ใช่มีแต่นักการศาสนา คนทำนา คนทำสวน ชาวประมง แต่จะต้องมีครูอาจารย์ แพทย์ ทนาย วิศวกร สถาปนิก ทหาร ตำรวจ นักบริหาร นักบัญชี นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง เป็นต้น และเราเคยสำรวจสถิติกันบ้างหรือเปล่าว่า สังคมของเรากำลังขาดแคลนบุคลากรกี่แขนง
ผมเองเป็นคนเรียนอะไรไม่จบสักแขนง แต่ด้วยความห่วงใยสังคม ผมอยากจะเห็นสังคมของเรามีบุคลากรที่ครบครัน เพื่อสร้างคุณภาพแก่สังคมของเราอย่างสมบูรณ์แท้จริง สังคมของเราต้องมีบุคลากรครบทุกแขนงให้ได้ ด้วยความสนใจทางด้านการศึกษาของเราอย่างแท้จริง ทุกคนต้องมองการศึกษาให้เป็นภารกิจทางสังคมเหมือนกับที่อิสลามบัญญัติ ไม่ได้มองการศึกษาเป็นเพียงปัจจัยหนุนความอยู่รอดส่วนตัวหรือครอบครัวเพียง ด้านเดียว
การศึกษาทางการแพทย์นั้น ถือเป็นการศึกษาที่จำเป็นมากสำหรับสังคมของเรา หากสังคมใดขาดแคลนแพทย์ สังคมนั้นย่อมอ่อนแอ อัลกุรอานจึงบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการแพทย์ไว้ตั้งแต่เรื่องกำเนิดมนุษย์ ถึงเรื่องโภชนาการ การรักษาพยาบาลโรคต่าง ๆ การเจ็บ การตาย บทบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นกระบวนการทางการศึกษาที่เกี่ยวกับการแพทย์ทั้งสิ้น
“เชคอัซซัยยิดอัลอะละวี” เขียนไว้ว่า “อัลกุรอานเป็นที่มาแห่งความรู้ทั้งมวล เป็นที่เปิดเผยความลี้ลับทั้งหลาย และเป็นที่เก็บความลึกลับทั้งปวง เช่น วิชาการแพทย์ ตรรกวิทยา ภูมิศาสตร์ วิศวะ เรขาคณิต ดาราศาสตร์ พืชคณิต และอื่น ๆ”
ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์นั้น เริ่มต้นที่การรักษาสุขภาพ การบำรุงร่างกายให้แข็งแรง รักษามาตรฐานการบริโภคให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งการได้มาซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเพียงโองการเดียวจากอัลกุรอ่าน ซูเราะฮฺ อัลฟุรกอน อายะฮฺที่ 67 ความว่า “และบรรดาผู้จ่ายอย่างไม่ฟุ่มเฟือยและไม่ตระหนี่และเขายืนอยู่ระหว่างนั้น”
อัลกุรอานโองการถึงเรื่องการคัดเลือกอาหาร ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการ คือ 1. หะล้าล (เป็นสิ่งที่ศาสนาอนุมัติ) 2. ฏอยยิบัน (เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางอาหาร) ซึ่งหลักทางด้านโภชนาการเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นบทเริ่มต้นของการแพทย์ นอกจากนั้นอิสลามยังบัญญัติเกี่ยวกับโรคภัย ไข้เจ็บ การรักษาโรค การป้องกันโรคระบาด การบำบัดทางกาย (ชิฟาอุนลินนาส) การบำบัดทางใจ (ชีฟาอุนลิมีฟิซซุดูร)
ในการส่งเสริมการศึกษาทางการแพทย์ ผมเห็นว่า ทุกท้องถิ่นควรส่งเสริมกันอย่างจริงจังและเป็นระบบ ครอบครัวใดที่มีลูกปัญญาดี ควรเตรียมพื้นฐานการศึกษาระดับพื้นฐานให้แน่น เพื่อเตรียมการที่จะเรียนในระดับสูง จนสามารถเรียนแพทย์ได้ โดยทั่วไปการศึกษาแพทย์ต้องใช้คนไอคิวสูง และคนไอคิวสูงที่ครอบครัวฐานะดี ย่อมไม่มีปัญหาอะไรเลย สามารถเตรียมพร้อมที่จะเรียนได้ทันที แต่เด็กไอคิวสูงสมองดีที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนนี่สิ ที่น่าเป็นห่วง ผมคิดว่าทางท้องถิ่นต่าง ๆ น่าจะถือเป็นสาระสำคัญ ต้องพยายามรณรงค์หาทุนให้เด็กได้มีโอกาสเรียนให้มาก เหมือนกับอัลเลาะฮฺได้ส่งเพชรล้ำค่ามาให้ แต่เรากลับไม่สนใจปล่อยให้เพชรนั้นจมอยู่ในโคลนตม หรือมีสังคมอื่นเขาแย่งไปครอบครอง
ที่ผมกล่าวว่าสังคมอื่นแย่งเพชรของเราไปครอบครองนั้น มีตัวอย่างอยู่มากมาย เมื่อองค์การทางศาสนาอื่นเขาจัดตั้งทุนการศึกษาไว้ถึงระดับปริญญา ปรากฏว่าในสังคมมุสลิมของเราไม่มีทุนถาวรลักษณะเช่นนี้ ดังนั้นเด็กมุสลิมที่ต้องการเรียน มีปัญญาดี ก็ต้องแสวงหาทุน ด้วยการสอบชิงทุนจากองค์การอื่น เมื่อได้ทุนจากองค์การอื่น ความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณก็เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบสิ้น และเป็นที่น่าละอายที่คนของเราต้องวิ่งไปพึ่งพิงองค์การอื่น
ผมมั่นใจว่าคนรวย ๆ ในสังคมของเรามีอยู่มากมาย เงินการกุศล เงินซะกาตมีอยู่ล้นเหลือ แต่ไม่ทราบว่าเงินเหล่านั้นหายไปไหน ยังมีเงินอาหรับมาบริจาคในเมืองไทยอีกมหาศาล เป็นที่น่าเสียดาย เงินเหล่านั้นจมอยู่ในกองอิฐกองทรายของสิ่งก่อสร้าง ที่สร้างขึ้นอวดกัน สร้างขึ้นมาแล้วบางสถาบันยังไม่รู้จะทำกิจกรรมอะไร เงินที่สูญเสียไปอย่างนี้น่าเสียดาย และยังมีเงินประเภทที่มลายไปกับกระเพาะอาหารราคาแพง ๆ เงินที่สลายไปกับการทำบุญอย่างฟุ้งเฟ้อแข่งขันกัน เงินที่กระเซ็นกระสายไปกับความสนุกสนานบันเทิงเริงรมย์
หากจะช่วยกันเสียสละเงินมาใช้ในกิจการการศึกษา ด้วยการตั้งทุนการศึกษาถึงระดับปริญญา ให้เป็นที่มุ่งหวังได้สำหรับสมาชิกสังคมของเรา เป็นหลักค้ำประกันความผิดหวังทางการศึกษา หรือเป็นเงินทุนประกันสังคมทางด้านการศึกษา ผมว่าไม่นานสังคมของเราจะมีคนจบปริญญาอย่างเพียงพอที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสังคม และแน่นอนในจำนวนนั้น จะต้องมี นักการแพทย์, วิศวกร, สถาปนิก, เราไม่ภูมิใจหรือที่สังคมของเรามีคุณภาพเต็มเปี่ยมด้วยบุคลากรที่มีการศึกษา หรือเราพอใจเพียงให้สังคมของเรามีคนทำงานระดับภารโรง นักการ คนกวาดขยะ ยาม คนขับรถ
ผมไม่ได้ดูถูกคนขับรถ ยาม หรือภารโรง แต่ผมหมายความว่า เรายังขาดบุคลากรที่จำเป็นสำหรับสังคมของเราอีกหลายแขนง แขนงภารโรง แขนงขับรถ ยาม ก็จำเป็นสำหรับสังคม แต่บุคลากรในแขนงอื่นก็ต้องมีด้วย และต้องมีในจำนวนที่พร้อมจะร่วมกันพัฒนาสังคมให้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว และมั่นคง
การนับถือศาสนาอิสลาม มิได้หมายความเพียงการทำบุญทำทานกันไปวัน ๆ ที่จริงการทำบุญตามความมุ่งหมายของอิสลามนั้น มุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาสังคมมากกว่าการบริกรรม แม้เราจะต้องการผลบุญจากพิธีกรรม จากการดุอา จากการซิกิร แต่อิสลามก็สอนให้เราทำบุญด้วยการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสังคม อิสลามสอนให้เราจ่ายซะกาต สอนให้เราช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก สอนให้เราช่วยเหลือคนเดือดร้อน สอนให้เราสนับสนุนการลงทุน ให้เราสนับสนุนการศึกษา ให้เราสนับสนุนการร่วมหุ้นทำธุรกิจ และอื่น ๆ อีกมากมาย
อิสลามมิใช่ศาสนาที่สอนให้คนงมงาย มิใช่ศาสนาที่มุ่งรีดนาทาเร้นผู้คน เพื่อความอยู่รอดของนักบวช เพราะอิสลามไม่มีนักบวช อิสลามไม่ได้สั่งให้เราสร้างมัสยิดเสียใหญ่โตสวยงามราคามหาศาล แต่ผู้คนถูกปล่อยให้ยากจน มัสยิดอ้วน คนผอม แบบนี้อิสลามไม่ได้สอน มัสยิดในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้น ไม่ได้สวยงามอะไร เพราะอิสลามมุ่งพัฒนาคน สร้างคน เปลี่ยนคน มากกว่าที่จะสร้างวัตถุ
ผมขอวิงวอนท่านที่มีเงินมาก ๆ หันมาช่วยสร้างคน พัฒนาคุณภาพและคุณธรรมของคนกันเถิด การจะสร้างคนนั้น ต้องสร้างกันที่สมองของเขา ถ้าสมองไร้ความรู้ ขาดการศึกษา ส่วนอื่น ก็จะไม่ได้รับการพัฒนา แต่ถ้าสมองได้รับการพัฒนา ส่วนอื่น ๆ ก็ต้องพัฒนาตามไปด้วย อัลกุรอานเมื่อบัญญัติถึงการเปลี่ยนแปลงสังคม ก็ย้ำให้เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงคน ดังระบุในซูเราะฮฺอัรเราะอฺดุ อายะฮฺที่ 12 ความว่า “แท้จริงอัลเลาะฮฺไม่เปลี่ยนแปลงสภาพของสังคมใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนสภาพตัวของพวกเขาเอง”
ที่มา : http://www.cicot.or.th