อิสลามอธิบายเศรษฐกิจหรือเรื่องปากท้องไว้อย่างไร? จากตัวอย่างในคลังวิชาการสุขภาพมุสลิม ของอรุณ บุญชม (2547) สามารถสรุปได้ดังนี้
ในเรื่องความยากจน
ท่านรอชูลุลลอฮ (ศ.ล) ได้กล่าวว่า “แน่นอนผู้ที่มอบตนแก่พระเจ้าได้ประสบความสำเร็จและเขาได้รับปัจจัยยังชีพที่เพียงพอและเขาพึงพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺ ประทานให้" รายงานโดยมุสลิม
ความสมถะ การแสวงหาแต่เพียงเล็กน้อย และความดีที่แฝงอยู่ในสิ่งเหล่านี้
อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงตรัสว่า พวกท่านทั้งหลายพึงทราบเถิดว่าแท้จริงชีวิตในโลกนี้คือ ความเพลิดเพลิน เป็นเครื่องเล่นและเป็นความโอ้อวดกับในหมู่พวกท่าน เป็นการแข่งขันกันสะสมทรัพย์กันและบุตรหลานเปรียบเสมือนเป็นซึ่งพืชพันธุ์ ที่งอกเงยขึ้นมาทำให้พวกที่ไร้ศรัทธาพึงพอใจ หลังจากนั้นก็จะแห้งเหี่ยว ท่านจะเห็นมันเป็นสีเหลือง หลังจากนั้นมันจะเป็นซากที่ผุพัง ในโลกอาคีเราะห์นั้นมีการลงโทษที่รุนแรง มีการอภัยโทษและความพึงพอใจจากอัลลอฮฺ ชีวิตในโลกนี้มิใช่ใดอื่น นอกจากเป็นความสุขที่ไม่จีรังยั่งยืน (อัลฮะดีษ ; 20)
อิบนุ อุมัร (ร.ด.) ได้กล่าวไว้ว่า เมื่ออยู่ในเวลาเย็นท่านอย่าคอยถึงเวลาเช้า เมื่อท่านอยู่ในเวลาเช้าท่านอย่าคอยถึงเวลาเย็น ท่านจงติดตามความดี ขณะที่มีสุขภาพดี เมื่อยามเจ็บป่วยของท่านและท่านจะตักตวงความดีขณะที่ยังมีชีวิตเพื่อความตาย ของท่าน รายงานโดยบุคอรี
นักวิชาการได้อธิบายฮะดีษนี้ไว้ว่าท่านอย่าวางใจโลกนี้ อย่ายึดเอาโลกนี้เป็นที่พำนักถาวรอย่าบอกแก่ตัวเองว่า จะยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อีกนานและว่ามันมีความสำคัญกับท่าน ท่านอย่าผูกพันกับมันนอกจากเป็นคนผูกพันของคนแปลกหน้า อย่ายึดติดกับมันเหมือนคนที่เดินทางผ่านมาและการจากไปหาครอบครัวของตัวเอง
ในการแบ่งปันทรัพยากรเป็นหน้าที่ของอัลลอฮฺ
ซึ่งอัลลอฮตะอาลาได้ตรัสว่า “เรา เป็นผู้แบ่งปันปัจจัยในการดำรงชีวิตของพวกเขาขณะใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้และเรา ได้ยกฐานะบางคนเหนือกว่าบางคนหลายขั้น เพื่อบางคนในหมู่พวกเขาจะได้เอาบางคนมาใช้งาน" (อัชฐ ครุป: 32)
ส่วนในเรื่องการประกอบอาชีพนั้น
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า “ เมื่อเสร็จกิจละหมาดแล้วพวกเจ้าจงแยกกันไปในหน้าแผ่นดินและแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮเถิด”
จากบางส่วนของคำสอนนี้สามารถสรุปได้ว่า กิจกรรมทางศาสนากับวิถีชีวิตโดยเฉพาะเรื่องปากท้องของชาวมุสลิมเป็นสิ่ง เดียวกัน ดังนั้นวิถีการทำมาหากินจึงผูกมัดและอธิบายโดยศาสนา จะเห็นว่าภายใต้หลักการดังกล่าวทำให้มุสลิมมีความเป็นอยู่อย่างสมถะ และเป็นไปด้วยความดีงามตามหลักธรรมที่มุ่งต่อชีวิตกับพระเจ้าในโลกหน้า ซึ่งภายใต้หลักธรรมดังกล่าวนี้เป็นลักษณะที่สอดคล้องกับปรัชญาชีวิตแบบพอ เพียงมากกว่าบริโภคนิยมที่ผนวกเข้ากับทุนนิยม จึงแยกศาสนาออกจากเรื่องปากท้องมิหนำซ้ำแปลสินทรัพย์เป็นทุนแปลงความเชื่อ ศาสนา ความศรัทธาให้เป็นสินค้า ยึดแต่วัตถุนิยมไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม
เอกสารอ้างอิง
อรุณ บุญชม. 2547. คลังวิชาการสุขภาพมุสลิม