หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อย และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2553 ที่ผ่านมา
พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ก็เปรียบได้กับระเบิดเวลาที่กำลังรอวันปะทุ
เพราะไม่เพียงแต่กฎหมาย ฉบับดังกล่าว จะถูกทำคลอดออกมาเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของสาธารณะที่ประชาชนทุกหมู่เหล่า มีสิทธิใช้ และครอบครองได้เท่านั้น
หากแต่มันยังเป็นกฎหมายที่ไม่ผ่อนปรน และมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาที่ต้องดำเนินการตามกระบวนการต่างๆภายใต้ข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด
ใน ขณะที่ทรัพยากรซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง คลื่นความถี่โทรทัศน์ หรือคลื่นความถี่ที่ใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่มือถือ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และแม้แต่สัญญาณดาวเทียม ล้วนแต่มีจำนวนจำกัด และมีผู้เข้าครอบครองที่ยึดถือเอาคลื่นที่มีอยู่น้อยนิดนั้นเป็นของตนจนหมด ที่สำคัญ ทุกคลื่น ทุกความถี่ และทุกช่องสัญญาณ มีเรื่องเกี่ยวข้องพัวพันกับผู้คนจำนวนมาก
มีเดิมพันในวิถีชีวิตความ เป็นอยู่ รสนิยม ความชอบ-ไม่ชอบ และความจำเป็นในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนคนไทยทั้ง 64 ล้านคน ผนวกอยู่กับความมั่นคงของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นสำคัญด้วย
เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจว่า ทำไมกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่
ทีม เศรษฐกิจ ขอนำเสนอบทสรุปเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจในตัวบทกฎหมายฉบับนี้ซึ่งมีสาระ สำคัญว่าด้วยการกำหนดแผนแม่บทเพื่อการจัดสรรคลื่นให้แก่กิจการ 3 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย 1. กิจการวิทยุกระจายเสียง 2. กิจการวิทยุโทรทัศน์ หรือโทรทัศน์ และ 3 กิจการโทรคมนาคม ซึ่งครอบคลุมถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และช่องสัญญาณดาวเทียมต่างๆ
ภาย ใต้การจัดทำแผนแม่บทเพื่อการจัดสรรคลื่นความถี่แก่กิจการต่างๆข้างต้น สมาชิกวุฒิสภาจะต้องผลักดันให้เกิดกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 180 วัน หากไม่แล้วเสร็จ กฎหมายก็เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีใช้สิทธิเลือกคณะกรรมการ กสทช.เองได้ และจะต้องเปิดเผยรายชื่อ พร้อมโฉมหน้าของคณะกรรมการทั้ง 11 คน ต่อสาธารณชนไม่เกิน 6 เดือน
จากนั้น ภายในระยะเวลา 1 ปี อรหันต์ทั้ง 11 คน มีหน้าที่จะต้องร่างแผนแม่บทของกิจการต่างๆทั้ง 3 กิจการในการกำกับดูแลของตน พร้อมแผนการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะที่ว่านี้ให้เสร็จสิ้น
เมื่อแผน แม่บทต่างๆเหล่านี้เสร็จสิ้นลง องค์กร หรือหน่วยงานที่ครอบครองคลื่นความถี่ทั้งหมด ต้องส่งคืนคลื่นความถี่เหล่านั้นกลับสู่มือของ กสทช. เพื่อนำออกจัดสรรใหม่ และหลายส่วนต้องถูกนำมาเปิดประมูลให้แก่ผู้ต้องการรายใหม่ๆ
ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีโทรทัศน์ของรัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือแม้กระทั่งของกองทัพ ต่างก็จะต้องคืนคลื่นที่เคยครอบครองไว้นานหลายทศวรรษ กลับคืนสู่ กสทช.
อย่าง ไร ก็ตาม ผู้ประกอบการเหล่านั้น ย่อมได้สิทธิคุ้มครองในฐานะผู้ถือครองคลื่นเดิม และประกอบกิจการ ทำมาค้าขายบนคลื่นเดิมที่มีลูกค้า ผู้ชม ผู้ฟังติดตามต่อเนื่อง
แต่สิทธินั้นจะได้มาแบบ "นอนกิน" หรือ "เต็มเม็ดเต็มหน่วย" เหมือนเดิมหรือไม่ คำตอบขณะนี้คือ "ไม่" ชัดเจน
ท่าม กลาง ความเงียบงันอย่างไม่น่าเชื่อ สงครามระหว่างผู้ครอบครองผลประโยชน์ เดิมในกิจการต่างๆ กับกฎหมายที่เพิ่งผ่านกระบวนการเพื่อผลในการบังคับใช้ จึงค่อยๆปะทุขึ้น และเราเชื่อเช่นนั้นว่า ถ้าอรหันต์ทั้ง 11 คน ไม่ใช่เทพผู้สร้างปาฏิหาริย์ให้การจัดสรรคลื่นความถี่เกิดความสงบเรียบร้อย ได้
คนเหล่านี้ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด รอบรู้ จัดเจน และสามารถจัดสรรผลประโยชน์แก่ทุกฝ่ายได้อย่างเป็นธรรม และลงตัว สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของประเทศ และสาธารณชนอย่างแท้จริง
แต่ถ้าหากการณ์กลับกลายเป็นข้อพิพาทและความ ขัดแย้ง เพราะเกิดการเสียเปรียบได้เปรียบกัน หรือมีข้อยกเว้นแก่กลุ่มบุคคลบางฝ่าย และบางองค์กร เราๆท่านๆ โดยเฉพาะรัฐบาล ก็อาจจะได้เห็นความยุ่งยากหลายด้านที่จะตามมา
**********
ระเบิด เวลาลูกแรก ส่งต่อมาจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งก่อกำเนิดมาได้ครบ 7 ปีเต็ม และต้องปิดฉากตัวเองลง หลัง พ.ร.บ.กสทช.มีผลบังคับใช้
งานสุดท้ายที่ยังคั่งค้างอยู่ในใจประชาชน คนไทยที่ต้องการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 จี จากการเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี บนคลื่นความถี่ 2100 MHz ที่ถูกศาลสั่งให้ระงับไว้ชั่วคราว ถูกโอนถ่ายมาเป็นแรงกดดันแรกๆ ของ กสทช.ชุดใหม่ทันที
เพียงแต่ครั้ง นี้ ดูเหมือนว่างานหินของคณะกรรมการชุดก่อน ได้กลายเป็นงานขี้ผงเป็นที่เรียบร้อย หากเทียบกับภารกิจหน้าที่ รวมทั้งอุปสรรคที่กำลังรอคอยคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่อยู่เบื้องหน้า
หลัง จัดทำแผนแม่บทและแผนจัดสรรคลื่นความถี่เสร็จสิ้นลงภายในระยะเวลา 1 ปี กสทช.ก็ต้องเผชิญหน้ากับภารกิจสำคัญ นั่นคือการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมด ทั้งคลื่นโทรทัศน์ วิทยุ โทรคมนาคม ใหม่ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากประเทศอื่นไม่มีการประมูลคลื่น 2 ชนิดนี้ มีเพียงการประมูลคลื่นโทรคมนาคมเท่านั้น
ในส่วนของกิจการโทรทัศน์ กฎหมายให้การคุ้มครองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเอาไว้ โดยกำหนดให้ กสทช. ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการแก่องค์การกระจาย เสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นทีวีสาธารณะ ภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ.กสทช.มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนสถานี โทรทัศน์ที่เหลือทั้งหมด ภายใต้กฎหมายใหม่ ต้องจัดทำแผนส่งคืนคลื่นเพื่อนำออกจัดสรรใหม่ โดยเฉพาะคลื่นที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งหากเป็นไปตามกำหนด ขั้นตอนดังกล่าวต้องเสร็จสิ้นลงอย่างช้าไม่เกินไตรมาส 3 ของปี 2555
ภาย ใต้เงื่อนไขของใบอนุญาต ภายใต้มาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.กสทช. กำหนดให้ใบอนุญาตประกอบกิจการแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ใบอนุญาตกิจการบริการสาธารณะ ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ก.กิจการสาธารณะเพื่อส่งเสริมความรู้ การศึกษา คุณภาพชีวิต ข.กิจการสาธารณะเพื่อความมั่นคง และ ค.กิจการสาธารณะเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและ รัฐสภากับประชาชน
2. ใบอนุญาตกิจการบริการชุมชน ซึ่งต้องเป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนหรือท้องถิ่นที่รับบริการ และ 3. ใบอนุญาตกิจการทางธุรกิจ ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นอย่างน้อย 3 ประเภท ประกอบด้วย ก.ใบอนุญาตประกอบกิจการระดับชาติ ข.ระดับภูมิภาค และ ค.ระดับท้องถิ่น
คลื่นที่ถูกเรียกคืนและรับการจัดสรรใหม่นั้น หากเป็นใบอนุญาตประเภทที่ 1 และ 2 ไม่จำเป็นต้องประมูลแข่งขันเพื่อรับการจัดสรร เพียงแต่ต้องพิสูจน์ให้เห็นเจตนาของการเผยแพร่สัญญาณภาพและเสียงให้ชัดเจน ว่าเป็นบริการสาธารณะและชุมชน
ส่วนกิจการที่แสวงหากำไรในเชิงธุรกิจนั้น ต้องขอใบอนุญาตประเภทที่ 3 ซึ่งจะต้องประมูลแข่งขันเพื่อรับการจัดสรรคลื่น
โดย ในกรณีของสถานีโทรทัศน์ที่แพร่ภาพอยู่ ณ ปัจจุบันนั้น น่าจะเป็นที่ชัดเจนว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และช่อง 11 น่าจะพุ่งตรงไปสู่ใบอนุญาตประเภทที่ 1 แต่จะเป็น 1 (ก) หรือ (ข) หรือ (ค) นั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาจากรายละเอียดแผนแม่บทและแผนจัดสรรคลื่น ที่คณะกรรมการ กสทช.จะต้องร่างขึ้นมาเพิ่มเติม
ขณะที่สถานีเพื่อการ พาณิชย์อย่างโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 9 รวมทั้งบริษัททรูวิชั่นส์ จำกัด น่าจะเข้าประมูลรับการจัดสรรคลื่น ภายใต้ใบอนุญาตประเภทที่ 3 แต่เนื่องจากใบอนุญาตถูกแบ่งออกเป็นการให้บริการระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการในตลาด เพื่อแก่งแย่ง ช่วงชิงใบอนุญาตระดับชาติ จึงน่าจะรุนแรงไม่แพ้การประมูลชิงใบอนุญาต 3 จี หากแผนแม่บทถูกร่างให้เน้นหารายได้จากการประมูล
สำหรับในกรณีของ สถานีวิทยุนั้น ถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขและหลักการเดียวกัน เพียงแต่สำหรับคลื่นวิทยุ กฎหมาย กสทช.ระบุตามมาตรา 85 ให้จัดสรรคลื่นจำนวน 20% ของคลื่นทั้งหมด แก่ภาคประชาชนด้วย แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่า ภาคประชาชนมีนิยามเป็นเช่นไร แตกต่างอย่างไรกับวิทยุชุมชน ซึ่งลงทะเบียนรอรับการจัดสรรคลื่นโดยถูกต้องตามกฎหมายใหม่อยู่ทั้งสิ้น 8,500 สถานี ขณะนี้
ขณะที่กิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีความยุ่งเหยิงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้น ก็จำเป็นต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขการคืนคลื่นความถี่ดังกล่าวเช่นกัน โดยกฎหมายใหม่ยังให้คำนิยาม "กิจการโทรคมนาคม" เพิ่มเติมไปถึงบริการดาวเทียมสื่อสาร ซึ่งย่อมต้องครอบคลุมถึงการที่ผู้ให้บริการดาวเทียม ให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเช่าใช้ช่องสัญญาณเพื่อแพร่ภาพออกอากาศด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงการจัดระเบียบทีวีดาวเทียม ที่กำลังแพร่หลายใหม่ทั้งหมด
ใน ส่วนสาระเกี่ยวกับตัวคลื่นโทรคมนาคมยังมีประเด็นน่าสนใจตรงที่ว่า พ.ร.บ. กสทช.ฉบับใหม่ ยังมีข้อกำหนดตามมาตรา 46 ที่ว่าด้วยการให้คลื่นความถี่โทรคมนาคมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้รับอนุญาตจะ โอนให้แก่กันมิได้ และห้ามมอบการบริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วน หรือยินยอมให้บุคคลอื่นมีอำนาจประกอบกิจการแทน
ซึ่งทำให้การเช่าใช้ โครงข่ายของผู้ให้บริการรายย่อย ที่ไม่มีเงินลงทุนเครือข่ายเอง ในลักษณะ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายไปในที่สุด
**********
สรุปหลักการ พ.ร.บ.กสทช. |
- กำหนดให้ "กิจการโทรคมนาคม" รวมบริการดาวเทียมสื่อสาร |
- เพิ่มบทนิยามคำว่า "ชุมชน" |
- กระบวนการคัดเลือกเป็นหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและให้วุฒิสภามีมติ คัดเลือกภายใน 60 วัน หลังจากที่ได้รับรายชื่อจากคณะกรรมการสรรหา หากไม่แล้วเสร็จตามกำหนดให้เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีเสนอรายชื่อเข้าที่ประชุม ครม.รวมเบ็ดเสร็จ การจัดตั้งคณะกรรมการต้องเสร็จสิ้นภายใน 180 วันจากนี้ |
- กรรมการ กสทช.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี |
- การออกใบอนุญาตคลื่นวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม เพื่อประกอบธุรกิจ ให้ใช้วิธีการประมูล เก็บค่าธรรมเนียมไม่เกินร้อยละสองของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้ขอรับใบ อนุญาต โดยผู้รับใบอนุญาตห้ามโอนคลื่นความถี่และใบอนุญาตแก่กัน |
- รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมหลังหักค่าใช้จ่ายให้ส่งเป็นรายได้ แผ่นดิน ส่วนรายได้ จากการประมูลคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์จัดส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนาฯ |
- ภายใน 3 ปี ให้รัฐวิสาหกิจนำส่งค่าสัมปทานโทรคมนาคมให้ กสทช. |
ขณะที่ประเด็นแตกต่างชัดเจนระหว่างกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม ยังได้แก่รายได้ จากการประมูลคลื่นวิทยุและโทรทัศน์นั้น จะต้องถูกนำส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขณะที่เงินที่ ได้จากการประมูลคลื่นกิจการโทรคมนาคม เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
ตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.กสทช. กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมดังกล่าว มีหน้าที่สนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง ส่งเสริมการวิจัย พัฒนา คุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนให้ การสนับสนุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยการจัดสรรเงินให้สื่อไม่ว่าจะเป็นใคร ที่ไหน หากจัดตัวเองให้อยู่ในกลุ่มสื่อสร้างสรรค์ ก็สามารถเข้าข่ายรับการสนับสนุนจากกองทุนได้ ที่สำคัญภายใต้มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายลูก ยังเปิดกว้างสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตบริการชุมชน ต้องไม่เป็นนิติบุคคล โดยอาจเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือกลุ่มคนในท้องถิ่น รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ ชุมชนของตนได้ด้วย
จากนี้ไปกิจกรรมภาคประชาชน ส่งเสริมชุมชน เอ็นจีโอกลุ่มสื่อสร้างสรรค์ ก็น่าจะเฟื่องฟูไม่น้อยจากงบประมาณภาครัฐได้จัดสรรให้ผ่านกฎหมายใหม่ฉบับนี้
ส่วน หากที่สุดแล้ว เกรงว่าจะมีกรณีหวงคลื่น กอดคลื่นไม่ยอมปล่อย พ.ร.บ.ฉบับใหม่ก็ได้หาทางอุดรูรั่วเอาไว้แล้ว โดยกำหนดไว้ในมาตรา 79 ว่าด้วยมาตรการลงโทษพนักงาน กสทช. หรือผู้ใช้อำนาจ กสทช. ที่รู้หรือได้รับแจ้งว่ามีการใช้คลื่นอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม กฎหมาย โดยหากละเว้นการกระทำใดๆ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลยทีเดียว
ภารกิจพัลวัน : จัดสรรคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์-โทรคมนาคม
'นับจากนี้ไป จะเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนทั้งเก่าและใหม่ ในกิจการวิทยุและโทรทัศน์ ที่จะเข้ามีบทบาทมากขึ้น...'
รศ.ดร.สุธรรม อยู่ในธรรม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการ คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สิ่งที่จะได้เห็นหลังจากที่ พ.ร.บ.กสทช.มีผลบังคับ และมีกรรมการ กสทช.มาปฏิบัติหน้าที่จริง คือการเปลี่ยนแปลงของวงการวิทยุและโทรทัศน์ ภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
เพราะตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีกฎ กติกา และการกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ที่ชัดเจนแต่อย่างใด
และ ในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ไป จะเกิดความโกลาหลวุ่นวายอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่มีความชัดเจนเรื่องกฎกติกาแล้ว การเข้ามาทำหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช.
เพื่อกำหนดกฎระเบียบ ประกาศข้อบังคับต่างๆ จะยุ่งเหยิง เพราะหลายขั้นตอน
โดย ในระหว่างการจัดทำกฎ กติกา จะมีการโต้แย้งเถียงกันอย่างรุนแรง เหมือนกับการทำกฎกติกา ในส่วนของกิจการโทรคมนาคมที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาในการประชาพิจารณ์หลายต่อหลายครั้ง
"ผมมีความกังวลในส่วน ของการกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ เพราะที่ผ่านมา ไม่มีการกำกับดูแล ไม่มีกฎกติกา ประกอบกับเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปอย่าง มาก จากระบบอะนาล็อค เป็นระบบดิจิตอล เกรงว่าจะเกิดวุ่นวายมากในการกำกับดูแล"
เมื่อ ถึง เวลาการจัดระเบียบคุณภาพ ต้องยอมรับว่าอาจเกิดการทะเลาะกันบ้าง แต่ก็เชื่อว่าท้ายสุดจะตกลงกันได้ เหมือนกับธุรกิจโทรคมนาคมทุกวันนี้ "ผมไม่มีความกังวล เพราะกว่า 7 ปีที่ทำหน้าที่ กทช. ได้สร้างความชัดเจนไว้มากแล้ว ส่วนความชัดเจนในธุรกิจวิทยุ โทรทัศน์ คงเป็นหน้าที่ กสทช."
นับจากนี้ไป จะเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนทั้งเก่าและใหม่ ในกิจการวิทยุและโทรทัศน์ ที่จะเข้ามีบทบาทมากขึ้น ทั้งมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎ กติกา ระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพราะทุกกลุ่มจำเป็นต้องขวนขวายให้ตัวเองมีเวทีในการประกอบธุรกิจ หรือต่างคนต่างออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตน
"ปีหน้าและปีถัดๆไป เราจะต้องได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น behind the scenes โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ไม่ทราบมาก่อน เพราะเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์มาตลอด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีผลประโยชน์จะออกมาแสดงตัวตนมากขึ้น"
และเมื่อ พ.ร.บ.กสทช.มีผลบังคับใช้ เชื่อว่าจะมีสื่อใหม่ๆเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบและหลาก หลายประเภทมาก ในขณะที่รายได้ของสื่อสิ่งพิมพ์ที่มาจากโฆษณาเป็นหลัก จะเริ่มทยอยลดลง
สื่อ ออนไลน์จะเข้ามาขอส่วนแบ่งรายได้โฆษณาจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่เคยได้เป็นกอบเป็น กำช่วงก่อนหน้านี้ แล้วยังจะถูกสื่อวิทยุ เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม มาแบ่งรายได้จากโฆษณาไปด้วย
จะเห็นได้จากที่ผ่านมา สื่อสิ่งพิมพ์บางรายได้ปรับตัวเองด้วยการกระโดดเข้าสู่สื่อออนไลน์ และทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี เพราะมองเห็นว่าเป็นช่องทางในการขยายธุรกิจมากขึ้น และอยู่รอดได้ด้วย ซึ่งความเปลี่ยนในวงการสื่อนั้น เป็นการตระเตรียมรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ภายหลังมี กสทช.
อย่าง ไร ก็ตาม จากการศึกษา พ.ร.บ.กสทช.เบื้องต้น พบว่ายังมีหลายประเด็นที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการฟ้องร้องกันภายหลัง เช่น เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ เพราะเกรงว่าคนที่เงินทุนสูงจะได้ แต่คนเงินทุนน้อยไม่มีโอกาส การห้ามโอนสิทธิ์คลื่นไปให้คนอื่นใช้ร่วม
และ ที่สำคัญสุดคือ การเรียกคืนคลื่นความถี่และการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก เพราะ กสทช.จะทำให้อย่างไร แต่สร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งคลื่นที่ใช้ในกิจการวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม และเพื่อประโยชน์สาธารณะ จะแบ่งสรรปันส่วนอย่างไรไม่ให้เกิดสัญญาณรบกวน ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ให้เกิดสัญญาณกวนกันระหว่างแต่ละช่วงคลื่นด้วย
ซึ่งเชื่อได้ว่าเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่จะเกิดความวุ่นวายมาก
แม้ ท่ามกลางความวุ่นวายของการจัดสรรคลื่นความถี่ แต่ยังมีมุมคิดดีๆเกิดขึ้นด้วย ซึ่งเป็นอานิสงส์จาก พ.ร.บ.กสทช. ทำให้ธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ขยายตัว เปิดโอกาสให้เด็กไทยที่มีหัวคิดดีดี มีเวทีได้แสดงฝีมือ โชว์ผลงาน และก้าวสู่การเป็นเจ้าของรายการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก
ฉะนั้น การจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม ถือเป็นความท้าทาย กสทช.อย่างมาก และเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด.
'กสทช.จะต้องมีวิสัยทัศน์ ที่กว้างไกล หรือเรียกได้ว่าต้องเป็น "อัจฉริยะ" คือก้าวกระโดดข้ามไปสู่อนาคตให้ได้'
พลโทสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เสนาธิการทหารบกฝ่ายกิจการพลเรือน และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กองทัพ บก กล่าวว่า การกำเนิด พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ. กสทช.) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2553 นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวิทยุกองทัพบก เพราะได้เตรียมการและปรับตัวเอง รวมถึงการปรับปรุงสถานีวิทยุกระจายเสียงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกฎหมาย
ใน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปสื่อได้มีการหยิบขึ้นมาหารือถึงการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 ต่างก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า คลื่นความถี่ทุกชนิดเป็นสมบัติของชาติ
เมื่อ นำมาใช้จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้อง ถิ่น ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งต้องให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมด้วย
และแม้การมี กสทช.จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อมีแล้ว ก็ต้องกำหนดกฎ กติกา ให้ชัดเจน เมื่อถึงเวลานั้น วิทยุกองทัพบกจะยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ทุกประเภท และทุกสถานีวิทยุ ตราบเท่าที่กองทัพบกมีสิทธิ์ดำเนินการ
ปัจจุบัน กองทัพบกมีสถานีวิทยุกระจายเสียงในเครือข่าว 172 สถานี แบ่งเป็นระบบเอเอ็ม 78 สถานี และระบบเอฟเอ็ม 49 สถานี มีสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และช่อง 7 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทัพบกได้ทำหน้าที่ผลิตรายการที่ส่งเสริมภาระหน้าที่ของทหาร ดูแลเรื่องความมั่นคง และเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่หวังทำกำไร แต่ทำเพื่อความมั่นคงของชาติ
โดยในส่วนของความมั่นคงนั้น ถือว่าสื่อมีความสำคัญมาก วิทยุกองทัพบกจึงได้สร้างเครือข่ายวิทยุชุมชนกว่า 700 สถานี ที่เข้ามาช่วยกันร่วมสร้างประโยชน์ให้ชุมชน สังคม เน้นการบอกต่อ บอกคนใกล้ตัวให้รักชาติ เช่น เครือข่าย 100 คน บอกต่อ 300 คน ถือว่าได้ประโยชน์มาก
กรรมการ กสทช.จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล หรือเรียกได้ว่าต้องเป็น "อัจฉริยะ" คือก้าวกระโดดข้ามไปสู่อนาคตให้ได้ เพราะโลกยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ถ้าหากจะมาเป็น กสทช. เพียงเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น โดยเฉพาะการจัดการเรื่องคลื่นความถี่ คงต้องใช้เวลาในการจัดการปัญหาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
"ส่วนตัวผมคิดว่า เรื่องคลื่นความถี่ไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่สาระสำคัญมากนัก เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น วิทยุออนไลน์ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คลื่น เพราะผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่สามารถเห็นหน้าตาดีเจได้ ผมเชื่อว่าเอกชนที่ทำธุรกิจบันเทิง ค่ายเทปเพลงต่างๆ ได้ปรับตัวเข้าสู่บริการทางออนไลน์แล้ว"
พลโทสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมของกิจการวิทยุได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่าน ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ที่ไม่มีการกำกับดูแล ไม่มีกฎกติกา เพราะไม่สามารถจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ได้
จึงก่อให้เกิดวิทยุชุมชน มากกว่า 8,500 แห่งทั่วประเทศ หรือบางจังหวัดมีมากกว่า 40 สถานี เนื่องจากปัจจุบันการลงทุนทำธุรกิจวิทยุชุมชนทั้งผลิตรายการและติดตั้ง อุปกรณ์ต่างๆ ใช้เงินลงทุนต่ำมาก เพียงแค่ 100,000 บาท ต่างจากอดีตที่ใช้เงินทุนมากถึง 10 ล้านบาท
นั่นเป็นเพราะว่าในวงการ วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่ล่วงผ่านไปนั้น เป็นช่องว่างอย่างมากระหว่างกฎหมายกับเทคโนโลยี อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เช่น วิทยุชุมชน ที่ปลุกระดมทางการเมือง เป็นต้น
"ถ้าวันนี้ ประเทศไทยมีบริการโครงข่าย 3 จี เราคงจะไม่ต้องถกเถียงกันเรื่องคลื่นความถี่ ไม่มีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนระหว่างกัน ไม่ต้องอาศัยเสาสัญญาณ เพราะทุกคนจะหันมาใช้บริการออนไลน์ผ่าน 3 จี มากยิ่งขึ้น"
แม้จะมี ช่องทางทำรายการวิทยุที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ผู้ผลิตรายการจะต้องคำนึงถึงคือผู้บริโภค เพราะถ้ารายการไม่ดี ผู้บริโภคก็เปลี่ยนช่องได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้บริโภค หรือเรตติ้ง ซึ่งบางครั้งก็ทำลายศีลธรรม คุณธรรม
ยกตัวอย่าง รายการวิทยุที่เกี่ยวกับความรู้ ความมั่นคง จริยธรรม เรตติ้งต่ำ ขณะที่รายการละครน้ำเน่า เรตติ้งสูง ในอดีต บทพระเอกปล้ำนางเอกไม่มี เพราะมีแต่บทผู้ร้าย แล้วพระเอกมาช่วย แต่ปัจจุบันพระเอกปล้ำนางเอกก่อน แล้วคืนดีกันทีหลัง ซึ่งทำให้เด็กซึมซับที่จะเป็นพระเอก เพราะไม่มีความผิด จึงเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตรายการต้องตระหนักว่าจะทำอย่างไรให้เรตติ้งกับ คุณธรรม ศีลธรรม อยู่คู่กันและไปด้วยกันได้
และเมื่อกฎหมายมีผล บังคับใช้แล้ว จะทำอย่างไรให้สิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ไม่มีกฎหมาย โดยเฉพาะวิทยุชุมชนที่อยู่กันมานาน โดยไม่มีกฎระเบียบ รวมถึงเคเบิลทีวีต่างๆด้วย ให้อยู่ร่วมกันได้
จึงถือเรื่องดังกล่าวเป็นวิกฤตการณ์ที่รอการแก้ไข เปรียบเสมือนระเบิดเวลารอวันปลดล็อก หรือกอบกู้.
'ในโอกาสทอง ย่อมมีความเสี่ยง ผมอยากแนะนำ...ให้ทำในสิ่งที่ตนถนัด ก่อนลงมือผลิตรายการ'
นายสมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกในประเทศไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.กสทช.จะเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับวงการวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม
และ เชื่อได้ว่าภายในปี 2554 คงได้รับรู้ว่าใครจะมาเป็นกรรมการ กสทช. ทั้ง 11 คน ที่จะเข้ามาปฏิบัติภารกิจจัดสรรคลื่นความถี่ การบริหารคลื่นความถี่ การกำหนดกฎระเบียบ และกำกับดูแล ให้เป็นไปอย่างมีระเบียบชัดเจน
ถ้าหากการจัดตั้ง กสทช.เกิดขึ้นได้จริงและรวดเร็วนั้น จะมีผลต่อวงการวิทยุและโทรทัศน์
จะ มีการตื่นตัวในการคิดสร้างสรรค์รายการต่างๆ เพื่อป้อนให้สถานีโทรทัศน์ทั้งผ่านดาวเทียม เคเบิลทีวี รวมถึงรายการวิทยุต่างๆ จึงเป็นโอกาสของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ได้มีโอกาสสร้างผลงานและรายได้
เพราะประเทศไทย นับได้ว่ามีคนเก่งที่มีความคิดสร้างสรรค์จำนวนมาก และจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เป้าหมาย Thailand Creative Economy และมีช่องทางในการนำเสนอผลงาน ซึ่งผลงานนั้นๆสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ หรือกลายเป็นนักธุรกิจได้
ที่ ผ่านมามีข้อจำกัดในการนำเสนอ เนื่องจากมีเพียงสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 เท่านั้น ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีผู้ผลิตรายการอยู่แล้ว ทำให้ผู้ผลิตรายการใหม่ๆเข้าไปแทรกได้ลำบาก
"การจะมีผู้ผลิตรายการ หน้าใหม่ๆเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก คนไทยเก่งในการสร้างสรรค์ผลงาน เพราะหลายคนก็คว้ารางวัลผลงานสร้างสรรค์จากต่างประเทศ แต่ในประเทศไม่มีโอกาส เพราะมีข้อจำกัด ถือจากนี้ไปโอกาสได้เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีความคิดสร้างสรรค์"
นาย สมพันธ์ กล่าวว่า ในปี 2554 นอกจากเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ผลิตรายการหน้าใหม่ๆ แล้ว ยังจะมีผู้ประกอบการที่หันมาลงทุนประกอบธุรกิจทีวีดาวเทียว เคเบิลทีวี เพิ่มมากขึ้นแน่นอน
เท่าที่ทราบ ในขณะนี้มีเอกชนหลายรายกำลังศึกษาลู่ทางการลงทุนทำสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี ซึ่งจะเห็นได้จากการที่สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ หรือช่อง 9 ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เริ่มขยายรายการไปยังทีวีดาวเทียมแล้ว
"ใน โอกาสทอง ย่อมมีความเสี่ยง ผมอยากแนะนำว่า ใครที่อยากผลิตรายการ ควรหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ และสิ่งที่ตัวเองถนัด เพราะต้องทำให้คนดูตรึงใจตั้งแต่ต้นจนจบรายการ ผมเชื่อว่าจะมีผู้คนแห่ทำรายการ เป็นเจ้าของรายการ แต่ถ้าไม่หาจุดแข็งให้ตัวเอง สุดท้ายก็ล้มและเลิกผลิตรายการไป"
เมื่อ ถึงเวลานั้น อำนาจจะอยู่ในมือของคนดู เพราะหากรายการใดไม่ดี ผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนช่อง ดังนั้น การสร้างสรรค์ผลงาน ก็ต้องคิดและทำให้ตรึงตราใจผู้ชมให้มากที่สุด
เขากล่าวว่า เมื่อมีสถานีโทรทัศน์หลายช่อง หลายรายการ เชื่อว่างบโฆษณาประชาสัมพันธ์ขององค์กรต่างๆ ก็ต้องแบ่งสรรให้รายการต่างๆตามสัดส่วนไป เช่น เคยทุ่มเม็ดเงินไปให้สถานีโทรทัศน์หลัก ก็เปลี่ยนเป็นกระจายให้ทุกสถานี รวมไปถึงสถานีวิทยุ ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีด้วย
ปัจจุบันมูลค่า ตลาดรวมของการโฆษณาอยู่ที่ 57,000 ล้านบาท และเชื่อว่าปี 2554 มูลค่าการตลาดจะอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท ซึ่งจากมูลค่าตลาดที่ใหญ่มากนั้น ทำให้หลายคนมองเห็นโอกาสที่จะเข้าสู่ธุรกิจรายการทีวี หรือเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดมาเป็นของตนเอง แค่ 1% ก็ยังดี
สำหรับ ตลาดจานดาวเทียม ถือว่าขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่าปัจจุบันมีการติดตั้งจานดาวเทียมกว่า 10 ล้านครัวเรือน กว่า 50% ของครัวเรือนในประเทศไทยที่มีอยู่ 20 ล้านครัวเรือนทำให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี ยังมีโอกาสที่ขยายตลาดจานดาวเทียมได้อีกมาก
สำหรับในส่วนของทรู วิชั่นส์ จะยังคงเดินหน้าตามสัญญาสัมปทานที่ได้ตกลงกันไว้กับอสมท ต่อไป ขณะเดียวกัน ก็จะยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์จาก กสทช. เพื่อทำธุรกิจที่สอดคล้องกัน เพราะเป็นสิทธิ์ที่ทรู วิชั่นส์ ควรจะได้เช่นเดียวกับผู้ประกอบการทีวีรายอื่นๆ แต่ขณะเดียวกัน ทรูก็ต้องปรับตัวให้มากขึ้น
เขากล่าวต่อว่า เมื่อ กสทช.ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของวงการวิทยุโทรทัศน์ และสร้างให้เกิดนักธุรกิจรายเล็กรายใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากไปถึงรัฐบาล คือการดูแลผลงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา เน้นการให้ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์ บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่ามองแค่ผลประโยชน์แค่วันนี้ ให้มองระยะยาว
เพราะถือเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่า เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่ควรมีใครมาเอาเปรียบซึ่งกันและกัน.
ทีมข่าวเศรษฐกิจ