รวมเกมและกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ (ตอนที่ 1)

krukrub profile image krukrub
กิจกรรมที่ 1 :  กิจกรรมบูรณาการ เรื่อง "นาฬิกากับมุมต่างๆ"

การนำเรื่องมุมต่างๆ กับนาฬิกามาบูรณาการเข้าไว้ด้วยกันโดยจัดเป็นฐาน  เช่น ฐานที่หนึ่งเป็นฐานมุมฉาก  มีคำถามว่า  "ในเวลาหนึ่งวันเกิดมุมฉากกี่ครั้ง?  ณ เวลาเท่าใดบ้าง?"  ให้นักเรียนทดลองหาคำตอบจากสื่อนาฬิกาจริงแล้วจดบันทึกลงในกระดาษคำตอบ 

สำหรับมุมอื่นๆ ก็ทำในลักษณะเดียวกัน คือ มุมแหลม  มุมตรง  มุมป้าน และมุมกลับ  แต่ละฐานจะมีใบคำสั่งกิจกรรมและกระดาษคำตอบ  สำหรับมุมแหลม  มุมป้านและมุมกลับให้นักเรียนจดบันทึกด้วยว่าเกิดขึ้นตอนเวลากี่โมงและเข็มสั้นกับเข็มยาวทำมุมกันเท่ากับกี่องศา?

รวมเกมและกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์กลุ่มสาระคณิตศาสตร์  (ตอนที่ 1)

ความคิดเห็น
krukrub profile krukrub

กิจกรรมที่ 2 : กิจกรรม "ลูกปัดหลากสี" (แผนภูมิวงกลม)

ครูนำลูกปัดหลากสีมาโรยให้ทั่วสนามหญ้าในบริเวณหนึ่ง  แล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทน 1 คนเก็บลูกปัดภายในเวลาที่กำหนดแล้วนำจำนวนที่ได้ในแต่ละสีมาสร้างเป็นแผนภูมิวงกลม  เช่น  สีชมพู 2 ลูก  สีเหลือง 5 ลูก  สีฟ้า 9 ลูก ฯลฯ ครูสามารถสอดแทรกเรื่องการพรางตัวของสัตว์ได้ว่าสัตว์ที่มีสีอะไรที่สามารถทำตัวกลมกลืนให้เข้ากับธรรมชาติได้  นั่นคือ สีอะไรที่เก็บได้จำนวนน้อยกว่าเพื่อนเป็นสีที่กลมกลืนเข้ากับสีพื้นหญ้า

krukrub profile krukrub

กิจกรรมที่ 3 :  กิจกรรม "จากตารางร้อยสู่แผนภูมิแท่ง"

สร้างตารางร้อยโดยการตีช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 10x10 ลงในกระดาษแข็ง แล้วให้นักเรียนหาใบไม้หรือก้อนหินมาติดลงไปช่องละ ชิ้นแบ่งแยกประเภทหรือจำพวก เช่น ใบตรง  ใบหยัก  ใบเล็ก  ใบใหญ่  พร้อมเขียนกำกับเอาไว้ตรงด้านล่างอยู่ในแนวเดียวกัน  โดยจัดเรียงให้เป็นแถวเว้นช่องว่างระหว่างแถวด้วย  จากนั้นสามารถนำมาดัดแปลงเป็นแผนภูมิแท่งหรือแผนภูมิกราฟได้โดยนำแถบกระดาษสีมาทาบติดลงในช่องแถวที่เรียงกันอยู่

krukrub profile krukrub

กิจกรรมที่ 4 : เกมนับขาพาเพลิน (การคูณ)

 

อุปกรณ์/สื่อการเรียนรู้
    1.  กระดานดำ
    2.  ชอล์ก

ขั้นตอน
1.  ครูเขียนคำบนกระดานดังนี้
ม้าลาย............ตัว
นก............ตัว
กบ............ตัว
เป็ด..............ตัว

2.  ครูกำหนดจำนวนรวมของขามาให้  จากนั้นครูให้นักเรียนออกมาเติมจำนวนของสัตว์แต่ละชนิดทีละคน

3.  ตัวอย่างเช่น  ครูกำหนด 26 ขา (จำนวนต้องเป็นเลขคู่เท่านั้น)  นักเรียนอาจจะออกมาเขียนเติมได้ดังนี้
ม้าลาย 2 ตัว (แสดงประโยคสัญลักษณ์ได้ว่า 2 x 4 = 8 )  
นก 4 ตัว (แสดงประโยคสัญลักษณ์ได้ว่า 4 x 2 = 8 )
กบ 1 ตัว (แสดงประโยคสัญลักษณ์ได้ว่า 1 x 4  = 4 )
เป็ด 3 ตัว (แสดงประโยคสัญลักษณ์ได้ว่า 3 x 2 = 6)
นำมารวมกันทั้งหมดได้ 8+8+4+6 = 26 ขา  

ซึ่งคำตอบที่ได้อาจจะมีหลายแบบเพราะเป็นคำถามปลายเปิด  กิจกรรมนี้ครูซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการจะต้องคอยนับร่วมกับนักเรียนว่าตอนนี้ได้ทั้งหมดกี่ขาแล้วเพื่อให้นักเรียนสามารถคิดหาจำนวนที่เติมแล้วทำให้มีจำนวนขาลงตัวพอดีกับที่กำหนดไว้ในตอนแรก  โดยครูสามารถปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงได้ตามความเหมาะสม

 


krukrub profile krukrub

กิจกรรมที่ 5 :  เกมสนุกกับลูกเต๋า (ความน่าจะเป็น)

กิจกรรมนี้เป็นการทายแต้มการทอยลูกเต๋า 10 ครั้งว่าออกอะไรบ้าง  แต้มที่จะออกได้ในการทอยลูกเต๋าในแต่ละครั้งคือ 1,2,3,4,5,6

อุปกรณ์/สื่อการเรียนรู้
    1.  ลูกเต๋า
    2.  กระดาษ
    3.  ดินสอหรือปากกา

ขั้นตอน
1. ให้นักเรียนสร้างวงกลมไว้หลังตัวเลข 1-6 ดังภาพโดยวงกลมหนึ่งวงแทนการทอยลูกเต๋า 1 ครั้ง แต่ละคนจะสร้างไม่เหมือนกันแล้วแต่การคาดเดา

2.  จากนั้นครูทอยลูกเต๋า 10 ครั้ง  เช่น ครั้งที่ 1 ออกแต้ม 6  ให้นักเรียนกากบาททับวงกลมหลังเลข 6 , ครั้งที่ 2 ออกแต้ม 3  ให้นักเรียนกากบาททับวงกลมหลังเลข 3 ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ 10 ครั้ง  ในบางครั้งนักเรียนอาจจะไม่ได้กากบาทเพราะสร้างวงกลมไว้น้อยกว่าจำนวนที่ออกจริง เช่น นักเรียนสร้างวงกลมไว้ 2 วงหลังเลข 3 แต่พอครูทอย  เลข 3  ออก 3 ครั้ง  นักเรียนจะได้กากบาททับแค่ 2 วง เพราะสร้างไว้ไม่พอ แต่ถ้านักเรียนสร้างวงกลมไว้มากกว่าจำนวนที่ออกจริง  เช่น  นักเรียนสร้างวงกลมไว้ 3 วงหลังเลข 4  แต่พอครูทอย  เลข 4  ออกแค่ 2 ครั้งก็จะได้กากบาทเพียง 2 วงเหลืออีก 1 วงที่ไม่ได้กา  เป็นต้น  เมื่อทอยครบ 10 ครั้งลองนับดูว่านักเรียนแต่ละคนได้กากบาททับวงกลมทั้งหมดกี่วง (คะแนนเต็ม 10)

3.  หลังจบรอบแรกไปเป็นแค่การอุ่นเครื่อง  คราวนี้ลองเพิ่มลูกเต๋าเป็น 2 ลูก ทอยทั้งหมด 20 ครั้งบ้าง  แต้มจะออกได้ตั้งแต่ 2 – 12  (ไม่สามารถออก 1 ได้)  ดำเนินกิจกรรมในลักษณะเดิมแต่เพิ่มตัวเลขเป็น 2 – 12 จำนวนวงกลมเพิ่มขึ้นเป็น 20 วงโดย 1 วงแทนการทอยลูกเต๋า 1 ครั้ง

 


krukrub profile krukrub

กิจกรรมที่ 6 : เกมปิงปองตัวเลข

สื่อ/อุปกรณ์การเรียนรู้
1.  ลูกปิงปองเขียนหมายเลข 1-20 (หมายเลขละ 3-5 ลูก)
2.  โหลสำหรับใส่ลูกปิงปอง
3.  ช้อนตักลูกปิงปอง
4.  กระดานไวท์บอร์ดขนาดเล็ก
5.  ฉลากสำหรับเขียนคะแนน
6.  โต๊ะ + ตะกร้า

ขั้นตอน
1.  เกริ่นนำ  ร่วมสนทนากับนักเรียนเกี่ยวกับการหารที่ลงตัว  เช่น  มีเลขอะไรหาร 12 ลงตัวบ้าง (1 , 2 , 3 , 4 , 6 , 12)  กิจกรรมนี้ต้องออกไปทำกลางแจ้ง  

2.  แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละเท่าๆ กันแล้วให้เข้าแถวตอนเรียงหนึ่ง  วางโต๊ะที่มีตะกร้าลูกปิงปองวางอยู่  ห่างจากแถวนักเรียนประมาณ 15 เมตร   (ถ้านักเรียนจำนวนมากอาจจะแบ่งเป็น 2 โต๊ะ)

3.  แจกอุปกรณ์ให้กับนักเรียนคือ โหลใช้สำหรับใส่ลูกปิงปองกับช้อนพลาสติกสำหรับตักลูกปิงปอง   ครูบอกว่า  ให้นักเรียนใช้ช้อนวิ่งไปตักลูกปิงปองที่มีตัวเลขซึ่งหาร 12  ลงตัว  ครูให้สัญญาณนกหวีดโดยให้เวลานักเรียนตัก 3 นาที  โดยคนที่อยู่หัวแถวต้องวิ่งไปที่โต๊ะแล้วใช้ช้อนตักลูกปิงปองที่มีตัวเลขซึ่งหาร 12 ลงตัว  ครั้งละ 1 ลูกจากนั้นถือช้อนกลับมายังหัวแถวคนต่อไปซึ่งถือโหลพลาสติกรอรับอยู่  เมื่อใส่ลูกปิงปองลงในโหลเรียบร้อยแล้ว  ให้ส่งช้อนให้กับหัวแถวคนต่อไปซึ่งต้องไปตักลูกปิงปองที่หาร 12 ลงตัวมาอีกซึ่งอาจจะซ้ำกับคนแรกก็ได้  ทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนหมดเวลา 3 นาที

4.  เมื่อหมดเวลา 3 นาที  นักเรียนกับครูร่วมกันเฉลยคำตอบ  โดยครูเขียนคำตอบลงในกระดานไวท์บอร์ดแผ่นเล็กให้นักเรียนดู  จากนั้นครูเช็คลูกปิงปองของแต่ละกลุ่ม  โดยถ้าตักมาถูกจะได้ลูกละ 1 คะแนนแต่ถ้าตักมาผิดจะถูกลบลูกละ 1 คะแนน  ครูรวมคะแนนของแต่ละกลุ่มพร้อมทั้งเขียนคะแนนใส่เศษกระดาษให้หัวแถวของแต่ละกลุ่มเก็บเอาไว้

5.  รอบต่อไปทำแบบเดิม  โดยครูบอกว่า  ให้นักเรียนใช้ช้อนวิ่งไปตักลูกปิงปองที่มีตัวเลขซึ่งหาร 24  ลงตัว  ครูให้สัญญาณนกหวีดโดยให้เวลานักเรียนตัก 3 นาที  โดยคนที่อยู่หัวแถวต้องวิ่งไปที่โต๊ะแล้วใช้ช้อนตักลูกปิงปองที่มีตัวเลขซึ่งหาร 24 ลงตัว  ครั้งละ 1 ลูกจากนั้นถือช้อนกลับมายังหัวแถวคนต่อไปซึ่งถือโหลพลาสติกรอรับอยู่  เมื่อใส่ลูกปิงปองลงในโหลเรียบร้อยแล้ว  ให้ส่งช้อนให้กับหัวแถวคนต่อไปซึ่งต้องไปตักลูกปิงปองที่หาร 24 ลงตัวมาอีกซึ่งอาจจะซ้ำกับคนแรกก็ได้  ทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนหมดเวลา 3 นาที

6.  เมื่อหมดเวลา 3 นาที  นักเรียนกับครูร่วมกันเฉลยคำตอบ  โดยครูเขียนคำตอบลงในกระดานไวท์บอร์ดแผ่นเล็กให้นักเรียนดู  จากนั้นครูเช็คลูกปิงปองของแต่ละกลุ่ม  โดยถ้าตักมาถูกจะได้ลูกละ 1 คะแนนแต่ถ้าตักมาผิดจะถูกลบลูกละ 1 คะแนน  ครูรวมคะแนนของแต่ละกลุ่มพร้อมทั้งเขียนคะแนนใส่เศษกระดาษให้หัวแถวของแต่ละกลุ่มเก็บเอาไว้

7.  ดำเนินกิจกรรมเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ประมาณ 5 รอบ

8.  เมื่อหมดเวลารวมคะแนนดูว่ากลุ่มไหนได้คะแนนมากที่สุดจะเป็นทีมที่ชนะ  (อาจจะมีการให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ)

หมายเหตุ :  กิจกรรมนี้นักเรียนส่วนใหญ่ชอบกันมากเป็นพิเศษ  เลขที่ใช้เล่น เช่น  12 , 24 , 36 , 48 , 60 , 72  


krukrub profile krukrub

กิจกรรมที่ 7 : เกมตัวเลข (คูณ)

สื่อ/อุปกรณ์การเรียนรู้

 1.  บัตรตัวเลข 1 – 9 จำนวน 2 ชุด
 2.  บัตรเครื่องหมายคูณ และเท่ากับ อย่างละ 1 ตัว
 3.  กระดานแม่เหล็ก

ขั้นตอน
 1.  นำบัตรตัวเลข 1 – 9  จำนวน 2 ชุดออกมาติดบนกระดานแม่เหล็ก  พร้อมบัตรเครื่องหมายคูณ  และ เท่ากับ  อย่างละ 1 ตัว

 2.  สุ่มนักเรียนให้ออกมาเรียงตัวเลขและเครื่องหมายเหล่านี้เป็นประโยคสัญลักษณ์การคูณที่ถูกต้อง  โดยต้องใช้ตัวเลขอย่างน้อย 4 ตัว  เช่น ออกมาเรียงเป็น  4 X 6 = 24   (สามารถนำตัวเลขมาประกบกันกลายเป็นเลข 2 หลักได้)  ตัวเลขที่ใช้แล้วให้เอาออกไปเพื่อเพิ่มความยากในการคิดในครั้งต่อไป

 3.  อาจจะเล่นสลับกัน 2 ฝ่าย ชาย-หญิง  ฝ่ายใดเรียงได้ถูกต้องจะได้ 1 คะแนน ฝ่ายใดเรียงผิดหรือคิดไม่ออกไม่ได้คะแนน  แต่มีข้อแม้ว่าประโยคสัญลักษณ์จะต้องไม่ซ้ำกัน  (ครูต้องจดบันทึกไว้บนกระดานดำ) ถ้าเหลือตัวเลขแต่เรียงไม่ได้แล้ว ให้จบรอบนั้นๆ แล้วขึ้นรอบใหม่ โดยอาจจะเล่นกัน 3 - 4 รอบ

 4.  นักเรียนทำแบบฝึกหัด

ดาวน์โหลดแบบฝึกหัดคลิกลิงค์ข้างล่างจ้ะ
http://www.mediafire.com/?w6es2dd4ck5bfhl


krukrub profile krukrub

กิจกรรมที่ 8 :  เกมวางให้ถูกหลัก

สื่อ/อุปกรณ์การเรียนรู้
-  แผ่นป้ายตัวเลขทำจากฟิวเจอร์บอร์ดขนาดใหญ่พอประมาณสามารถเห็นได้ทั้งห้อง  เขียนตัวเลขไว้ด้านหนึ่ง  อีกด้านหนึ่งหากระดาษแข็งหรือวัสดุทึบแสงติดไว้กันการมองทะลุ

หมายเหตุ : ในที่นี้ใช้แผ่นป้ายจำนวน 4 แผ่น  ตัวเลขที่เขียนคือ 0,2,5,8 เขียนแผ่นละ 1 ตัว  (ปรับเปลี่ยนจำนวนได้ตามความต้องการ)

ขั้นตอน
1. นำแผ่นป้ายทั้ง 4 แผ่นมาให้นักเรียนดูว่ามีเลขอะไรบ้าง

2. จากนั้นนำมาซ้อนกัน  แล้วสลับกันไปมาโดยหันด้านที่ไม่มีตัวเลขไปหานักเรียน

3. สุ่มนักเรียน 1 คนแล้วบอกว่าต่อไปจะให้เรียงตัวเลขเป็นจำนวนๆ หนึ่งโดยมี 4 หลัก คือ  หน่วย  สิบ  ร้อย  พัน

4. จากนั้นถามนักเรียนว่า  แผ่นแรกที่อยู่หน้าสุดจะให้วางในตำแหน่งใดระหว่าง  หน่วย  สิบ  ร้อย  พัน  นักเรียนอาจจะตอบว่า  หลักสิบ  ครูก็นำแผ่นๆ นั้นไปวางในหลักสิบ  ทำแบบนี้กับแผ่นที่เหลืออีก 3 แผ่น  โดยให้นักเรียนเลือกว่าแต่ละแผ่นจะอยู่ในตำแหน่งใด  โดยที่นักเรียนไม่รู้เพราะเห็นแต่ด้านหลังของแผ่นป้าย

5. เมื่อวางครบ 4 แผ่นแล้ว  พลิกแผ่นป้ายทีละแผ่นโดยเริ่มจากหลักหน่วยไปจนถึงหลักพัน  จำนวนที่ได้คือ คะแนนของนักเรียนคนนั้น  เช่น  เรียงแล้วได้  5028 , 8025 , 2058 , 0528 ฯลฯ

6. สุ่มนักเรียนคนใหม่ขึ้นมาอีก 1 คนแล้วเล่นแบบเดิมอีก  อาจจะทำแบบนี้สัก 5 คนแล้วสรุปว่า ใครได้คะแนนมากที่สุด  จัดอันดับจากมากไปน้อย

7. อาจจะสรุปเพิ่มเติมได้ว่า  สามารถเรียงตัวเลขทั้ง 4 ได้ทั้งหมดกี่แบบ? อะไรบ้าง?


krukrub profile krukrub

กิจกรรมที่ 9 : กิจกรรม "การนับและเปรียบเทียบจำนวน"

สื่อ/อุปกรณ์การเรียนรู้
       1. เครื่องแบ่งลูกปิงปอง
       2. ลูกปิงปองจำนวน 30 ลูก
       3. ตะกร้า 4 ใบ
       4. ตัวเลขกระดาษ  (ติดแม่เหล็กไว้ข้างหลัง)
       5. กระดานแม่เหล็ก

วิธีดำเนินกิจกรรม

1. ขั้นเตรียม
   1.1.  ครูจัดเตรียมสื่อเครื่องแบ่งลูกปิงปอง
   1.2.  เด็ก/ครู สร้างข้อตกลงในการเล่นสื่อ/อุปกรณ์ชิ้นนี้ นักเรียนสังเกตลักษณะของสื่อชิ้นนี้และช่วยกันตั้งชื่อให้สื่อ
   1.3. ครูเตรียมเด็กด้วยเพลงฝึกสมาธิ 1 รอบ ( ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดั่งดอกไม้บาน  ภูผาใหญ่กว้าง  ดั่งสายน้ำฉ่ำเย็น   ดังนภากาศอันบางเบา )

2. ขั้นนำ
   2.1. ครู/เด็กทบทวนข้อตกลงในการเล่นสื่อ โดยให้รู้จัก รอคอย แบ่งปัน ไม่แย่งกันเล่น  ให้มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น 
   2.2. ครูเกริ่นนำถึงสื่อที่มีชื่อว่า “เครื่องแบ่งลูกปิงปอง” โดยสื่อชิ้นนี้สามารถแบ่งลูกปิงปองออกมาเป็น 2 ข้างได้โดยหยอดลูกปิงปองท่อกลางก่อนที่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน  (มีปลาย 2 ข้าง)
   2.3.  ครูสาธิตวิธีการเล่นโดยการใส่ลูกปิงปองลงตรงท่อกลาง  ให้นักเรียนสังเกตดูว่าจะออกมาทางข้างใดระหว่างข้างซ้ายและข้างขวา

3. ขั้นสอน
   3.1.  ให้นักเรียน 3 คนออกมาหน้าชั้นเรียน  โดยมีคนหนึ่งเป็นผู้ใส่ลูกปิงปองลงตรงท่อกลาง  อีก 2 คนใช้ตะกร้าคอยรับอยู่ตรงปลายท่อทั้งสองข้าง  (สมมติว่าเป็นนักเรียน ก กับนักเรียน ข)  เมื่อใส่ลูกปิงปองจนหมดครูให้นักเรียนในห้องช่วยกันนับว่า ตะกร้าของนักเรียน ก มีลูกปิงปองอยู่จำนวนเท่าไร  และตะกร้าของนักเรียน ข มีลูกปิงปองอยู่เป็นจำนวนเท่าไร
   3.2.  ครูนำตะกร้าทั้งสองมาเปรียบเทียบกันว่า  ตะกร้าใดที่มีจำนวนมากกว่า  น้อยกว่า หรือเท่ากัน  โดยให้นักเรียนแสดงสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์โดยการใช้มือและแขนทำเป็นรูป  <   >   =
   3.3.  ครูให้นักเรียนออกมาหยิบตัวเลขแล้วนำไปติดบนกระดานแม่เหล็กตามจำนวนที่นับได้ของแต่ละฝ่าย  แล้วเขียนสัญลักษณ์  <   >  หรือ  =  ลงระหว่างกลางของ 2 จำนวนให้ถูกต้อง
 
4. ขั้นสรุป
    - เด็กครูร่วมกันสรุป สนทนาเกี่ยวกับการเล่นสื่อท่อแบ่งลูกปิงปอง
 
5. การประเมินผล
   5.1. สังเกตการนับจำนวนลูกปิงปอง
   5.2. สังเกตการเปรียบเทียบระหว่าง 2 จำนวนว่ามากกว่า  น้อยกว่า หรือเท่ากัน
   5.3. สังเกตการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กและความสุข

ชมคลิปวีดีโอกิจกรรมการเรียนการสอนจริงในชั้นเรียน : http://www.youtube.com/watch?v=CV-VTmCuDY0

krukrub profile krukrub

กิจกรรมที่ 10 :  กิจกรรม "มันไหลมาตามท่อ"


อุปกรณ์ / สื่อการเรียนรู้
     1. เครื่องแบ่งลูกปิงปอง  (ดังภาพ)
     2. ลูกปิงปอง
     3. กล่องหรือตะกร้า 2 อัน

ขั้นตอน
1.  ครูนำลูกปิงปองใส่โหลจำนวน 10 ลูกแล้วนับให้นักเรียนดูว่ามี 10 ลูกจริงๆ หรือให้นักเรียนช่วยกันนับก็ได้

2.  ครูหยิบลูกปิงปองแล้วปล่อยลงในท่อด้านบนครั้งละ 1 ลูก ลูกปิงปองจะไหลออกมาทางท่อได้ 2 ทางคือ ทางซ้ายและทางขวา  ให้นักเรียนออกมาครั้งละ 2 คนเพื่อมายืนรอรับลูกปิงปองโดยใช้ตะกร้าหรือกล่อง

3.  ดูผลว่านักเรียนทั้งสองคนได้ลูกปิงปองคนละกี่ลูก  เช่น คนทางซ้ายได้ 6 ลูก คนทางขวาได้ 4 ลูก

4.  ครูสอนว่าจำนวน 10 เมื่อเราเขียนในรูปของการกระจายเขียนได้เป็น 10 = 6 + 4 

5. ลองดำเนินกิจกรรมตามเดิมตั้งแต่ข้อ 1 -2 แล้วดูผลว่านักเรียนทั้งสองคนได้รับลูกปิงปองคนละกี่ลูก สมมติคราวนี้คนทางซ้ายได้ 5 ลูก คนทางขวาได้ 5 ลูก

6.  ครูสอนว่าจำนวน 10 เมื่อเราเขียนในรูปของการกระจายเขียนได้เป็น 10 = 5 + 5 แสดงว่าเราเขียนได้หลายแบบ  ดำเนินกิจกรรมในลักษณะเดิม 

7.  นักเรียนทำใบงานโดยให้เขียน 10 อยู่ในรูปของการกระจายออกเป็น 2 จำนวนให้ได้มากแบบที่สุด  อาจจะเขียนอยู่ในรูปของแผนที่ความคิด (Mind Mapping) ดังภาพก็ได้



ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

1 ปีที่ผ่านมา
premphurish Icon Merris  เมอร์ริส น้ำดื่มอารมณ์ดี 1 อ่าน 519 3 ปีที่ผ่านมา
3 ปีที่ผ่านมา
3 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา
porngaroon Icon ดูแลสุขภาพด้วยอาหาร 6 สี 1 อ่าน 731 4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา
porngaroon Icon เรียนออนไลน์ ปลอดภัยจาก Covid-19 1 อ่าน 705 4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา
porngaroon Icon วิธีป้องกัน ไวรัสโควิด 19 (Covid-19) อ่าน 655 4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา