เผยผลสำรวจวิจัยเด็ก ไทยจากทั่วประเทศ พบส่วนใหญ่คิดดี มากกว่าทำดี พบปัจจัยหลักทำให้ทำดี คือการไม่หลงมัวเมาสิ่งยั่วยุ ส่วนเรื่องความสุขระบุเน้นที่อารมณ์ความรู้สึกเป็นหลัก
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์ และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจปัจจัยทำให้เด็กไทยเป็นคนดี จากตัวอย่างนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงนักศึกษาปริญญาเอกทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 23,088 ตัวอย่าง ระหว่างเดือน ก.พ.-ก.ค.53 พบว่า นักเรียนนักศึกษาไทยมีค่าคะแนนเฉลี่ยของการคิดดีมากกว่าการทำดี จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน คะแนนเฉลี่ยของการคิดดีอยู่ที่ 3.90 คะแนน การทำดี 3.35 คะแนน ส่วนความสุข 3.78 คะแนน และความภูมิใจในความเป็นไทยอยู่ที่ 4.09 คะแนน
ดร.นพดล กล่าวว่า จากการสำรวจ พบว่า กลุ่มปัจจัยที่ทำให้นักเรียนนักศึกษาไทยเป็นคนดี มากที่สุดอันดับแรกคือ การไม่หลง มัวเมาไปกับสิ่งยั่วยุ ดังนั้น จึงหมายความว่า ถ้าทุกคนในสังคมไทยช่วยกันป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนนักศึกษาไทยหลงมัวเมาไป กับสิ่งยั่วยุได้จะเป็นการส่งเสริมทำให้พวกเขาเป็นคนดีมากขึ้น ปัจจัยรองลงไป คือ การชักชวนกันทำงานกลุ่ม การไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ยินดีแบ่งปันสิ่งของตนเองให้ผู้ยากไร้ ความใจกว้าง และยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น การเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างเพื่อน การควบคุมอารมณ์เมื่อรู้สึกไม่พอใจหรือผิดหวัง การคิดว่าทุกคนล้วนมีแต่สิ่งที่ดี หากเลือกสิ่งที่ดีมาสื่อสารกัน และความสามารถปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดีหรือไม่พึงประสงค์ได้ เป็นต้น
ส่วนสิ่งที่มีผลต่อความสุขของนักเรียนนักศึกษาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ ร้อยละ 62 ระบุเป็นเรื่องของอารมณ์ รองลงมาคือร้อยละ 61.8 ระบุเป็นเรื่องความรู้สึก ร้อยละ 48.1 ระบุเป็นเรื่องงานหรือการบ้านที่ได้รับมอบหมาย ร้อยละ 35.6 ระบุเป็นเรื่องการนอน ร้อยละ 31.4 ระบุเป็นเรื่องการรับประทานอาหาร และรองๆ ลงไป คือ ความรู้สึกผิดพลาด การเป็นคนตื่นตกใจง่าย การเปรียบเทียบสิ่งที่ตนมีกับผู้อื่น อาการมึนงง หรือเวียนศีรษะ และการตำหนิตนเอง เป็นต้น ส่วนสิ่งที่มีความสุขอันดับแรกคือ การมีจิตใจดี มีอารมณ์ดี รองลงไปเป็นเรื่องงานบ้านการบ้านโดยมีค่าสถิติวิจัยมากที่สุดอยู่ที่ 0.373 รองๆ ลงมาคือ งานหรือการบ้านเสร็จทันเวลา การนอนหลับง่าย การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย เล่นกีฬา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มปัจจัยที่ทำให้มีความสุขน้อยลงไปคือ ความรู้สึกอยากร้องไห้บ่อยๆ ความหมดหวังในชีวิต และความรู้สึกเบื่อหน่าย ตามลำดับ
สำหรับด้านความภูมิใจในความเป็นไทย อันดับแรก คือ ความ ภูมิใจ ในแผ่นดินไทย การที่องค์กรระหว่างประเทศยกย่องคนไทยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก อาหารไทย วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทย ประเพณีไทย ภาษาไทย และความภูมิใจที่ได้สื่อสารกับชาวต่างชาติด้วยภาษาไทย ตามลำดับ
ขอขอบคุณข้อมูล จาก : นสพ.ผู้จัดการออนไลน์