"โลกมีความรู้มากมาย แต่เราใช้ความรู้นั้นไม่เป็น" นี่ คือคำกล่าวของ อ.ชาญชัย ลิมปิยากร ผู้อำนวยการอาศรมพลังงาน โรงเรียนตื่นรู้และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิด "โรงเรียนทางเลือก" และ "ครูทางเลือก" เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทศวรรษที่ผ่านมา
แล้ว ทำไมต้อง "ทางเลือก" ทางเลือกดีกว่ากระแสหลักตรงไหน ในเวทีพูดคุยเรื่อง "เส้นทางครูอาสากับการสร้างครูพันธุ์ใหม่เพื่อการศึกษาทางเลือกฯ" ณ สถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ ผู้บุกเบิกการศึกษาแนวทางนี้ต่างเห็นพ้องว่า การศึกษาทางเลือกเป็นธรรมชาติ เป็นการเตรียมพร้อม เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ทางออกเพื่อการแก้ไขวิกฤตรอบด้านของโลก
"ธรรมชาติ ของการเรียนรู้ ของมนุษย์มีอยู่แล้ว คุณไม่ต้องไปสอนอะไรเลยก็ได้ แต่ธรรมชาติของการเรียนรู้แบบนี้มันถูกทำลาย ถูกฆ่าตัดตอน เราไปเบรกมัน แล้วความมั่นใจมันหายไป สัญชาตญาณการเรียนรู้ตามธรรมชาติมันเสียหาย แล้วในหัวก็มีขยะมีไวรัสเต็มไปหมด ...การศึกษาทางเลือกมันเป็นเรื่องของการทวนกระแส ซึ่งเป็นหน่ออ่อนที่แทงยอดขึ้นมาใหม่ แล้วจะทำให้กระแสหลักเห็นตัวเอง" อ.ชาญ ชัย แสดงความเห็น
เช่น เดียวกับ อ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ให้แนวทางความหมายอันเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาทางเลือกที่เกิดขึ้นใน สังคมไทยว่า
"เรา เป็นนักอนาคตศาสตร์ คือมองไปอีก 10 ปีข้างหน้า ลูกหลานจะอยู่อย่างไร คำถามคือเราจะเตรียมอะไรไว้ในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ที่ทุกคนทำคือทดลองหาวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของมนุษย์ที่จะเอาตัวรอดใน โลกนี้ ท้าทายแต่ยากมาก ที่สำคัญคือสิ่งที่อยู่ภายใน ทำอย่างไรคนถึงจะบ่มเพาะและรักษาการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของตนเองเอาไว้ได้"
ขณะ ที่ อ.รัชนี ธงไชย ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก สำทับว่า “ครูเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาทุกระบบ” ในฐานะที่คลุกคลีกับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสังคมมานาน ความเชื่อของครูเป็นภาวะเสี่ยงต่อการเติบโตที่ถูกต้องของเด็ก เช่น การสอนให้เด็กให้ค่านิยมต่อทุนนิยม และวัฒนธรรมบริโภคนิยมอันเป็นวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวของโลก ดังนั้นครูพันธุ์ใหม่ต้องเป็นครูที่มีชีวิตชีวา ต้องเข้าใจตัวตนและสังคมของเด็ก ตัวตนของสังคม และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
“กระบวน การศึกษาคือการ เรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และการศึกษาทางเลือกกับการศึกษาในระบบต้องเดินไปด้วยกัน” อ.รัชนี ยืนยัน
ด้วยเหตุนี้ การสร้างครูพันธุ์ใหม่ให้เป็นนักจัดการการเรียนรู้เพื่อการศึกษาทางเลือกจึง ถูกออกแบบขึ้นภายใต้โครงการ “ครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก” จากความร่วมมือของ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และมูลนิธิซิเมนต์ไทย เพื่อสนับสนุนงานด้านการศึกษาทางเลือก และส่งเสริมให้หนุ่มสาวที่มีความมุ่งมั่นในงานด้านการศึกษาได้เข้าไปปฏิบัติ งานเต็มเวลาใน 18 พื้นที่ทั่วประเทศที่มีการจัดการศึกษาทางเลือกเป็นระยะเวลา 1-2 ปี
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานโครงการครูอาสาฯ อธิบายเป้าหมายของโครงการว่า “ครูคือผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการปฏิรูปในสังคมไทย ครูสายพันธุ์ใหม่ต้องจัดการศึกษาที่พัฒนาทั้งกาย ใจ สติปัญญา ต้องมีเรียนรู้ที่จะข้ามผ่านความกลัว ผ่านชุดความคิดเดิม เราจะเปิดหัวใจของการเรียนรู้ได้อย่างไร เพื่อให้ครูกระแสหลักปรับเปลี่ยนหลักคิดปรัชญาการเรียนรู้ใหม่ในกระบวนการ จัดการศึกษา”
เมื่อโครงการผ่านระยะเรียนรู้ของครูอาสาฯ รุ่นแรกในเวลา 1 ปี ครูหนุ่มสาวเหล่านั้นได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ทำให้พวกเขาเข้าใจตนเองและเข้า ใจคำว่าการเรียนรู้มากขึ้น
อัจฉริยะ ศิริจินดา เด็กหนุ่มศรีสะเกษ จบรัฐศาสตร์ ไม่เคยมีความรู้เรื่องการเกษตร เขาเลือกจะไปเป็นครูอาสาในศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จ.น่าน ที่นั่นอัจฉริยะได้เรียนรู้เรื่องภูมิปัญญา พันธุ์ข้าว การปลูกข้าว การแปรรูปข้าว เมล็ดพันธุ์พืชผัก จุลินทรีย์ท้องถิ่น การทำปุ๋ย การเลี้ยงสัตว์ต่างๆ
มานพ ต๊ะสุ กำลังเรียนรู้กับการทำงานในการสร้างกระบวนการสร้างครูสายพันธุ์ใหม่ที่เอื้อ ให้เด็กเรียนรู้ได้ตามธรรมชาติ
“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองคือความคิด” อัจฉริยะยืนยันอย่างมั่นใจ เขาจะกลับไปเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด
ด้าน มานพ ต๊ะสุ เด็กหนุ่มจังหวัดตากผู้ต่อต้านสังคม ดื่มเที่ยวไปวันๆ แต่มีฝันที่จะพัฒนาคนให้ดีขึ้น เขาสมัครเป็นครูอาสาฯ ประจำที่หน่วยประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สตูล มานพทำงานท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่าง เขาต้องนำกระบวนการวิจัยที่หน่วยงานศึกษาไว้เข้าสู่โรงเรียน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ครู วิธีการคือห้ามไม่ให้ครูสอน แต่เป็นผู้จัดกระบวนการศึกษาให้กับเด็ก
“เรา ได้รู้ว่าถ้าเราปฏิเสธสังคมเราจะอยู่อย่างลำบาก หลักๆ เมื่อก่อนคือไม่รู้จะตอบกับตัวเองยังไง การทำงานทำให้เราคิดว่าเราอยู่ไม่ได้ด้วยวิธีนี้ เราได้เห็นความลึกซึ้งของวัฒนธรรมที่เป็นกลไกให้ระบบสังคมขับเคลื่อนการ พัฒนา ที่สตูลผมมีความสุขกับสิ่งที่ผมทำอยู่ หลังจากจบโครงการผมจะเอากระบวนการเหล่านี้ไปจับงานที่บ้าน” มานพ เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
อีกหนึ่งสาว รจนา พิมชารี มนุษย์เงินเดือนที่เคยใช้ ชีวิตอยู่ในเมือง เลือกอาศรมพลังงาน จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่เรียนรู้ เธอได้ทำงานด้านการพัฒนากระบวนทัศน์สู่วิถีการพึ่งตนเองของคนในชุมชน อาทิ การเผาถ่านประหยัดพลังงาน แก้ปัญหาเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรยั่งยืน เกษตรประณีต เธอเปิดใจหลังผ่านประสบการณ์ 1 ปีว่า “การเป็นครูอาสาทำให้ได้รู้จักตัวเอง และงานที่ได้เรียนรู้จากอาศรมเป็นส่วนหนึ่งที่จะกลับไปทำที่บ้าน”
เปรมวดี เสรีรักษ์ กับบทบาทของครูในโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนที่ถูกกล่าวขวัญชัดเจนในเรื่องการศึกษาทางเลือก
ในพื้นที่เมือง เปรมวดี เสรีรักษ์ สาวชาวกรุงเลือกที่ จะเข้ามารับบทบาทครูอาสาในโรงเรียนรุ่งอรุณ เธอต้องลงมือปรับปรุงหลักสูตรให้มีคุณสมบัติ “บูรณาการแบบองค์รวม” เพื่อการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง และตอบสนองกับธรรมชาติการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายของเด็ก ในกระบวนการทำงานเปรมวดีได้ทบทวนตัวเองใหม่
“การเรียนรู้ในความผิดพลาดมันดีกว่าการเรียนรู้ในเรื่องที่ดีอยู่แล้ว” เธอเปิดใจต่อความจริงที่ได้พบ
อย่างไรก็ตาม ครูอาสาฯ หนุ่มสาวทั้ง 20 คนยอมรับว่า ในความคาดหวังที่โครงการครูอาสาฯ ต้องการให้พวกเขาเป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เข้าใจแนวคิดการศึกษาทาง เลือกในพื้นที่ต่างๆ จนสามารถเชื่อมโยงการศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียนจนเกิดหลักสูตรท้องถิ่นได้ นั้น พวกเขายังต้องเสริมสร้างการเรียนรู้ในมิติการศึกษาที่หลากหลาย เข้มข้น และใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ยาวนานกว่านี้
"การเรียนรู้เบื้องต้นของคนเราจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตร คือผู้บอกที่ดี และอาศัยโยนิโสมนสิการ คือการใคร่ครวญจากภายในของเราเอง นี่คือปรัชญา การสร้างครูและหาวิธีการเรียนการสอนที่ไปให้ถึงจิตวิญญาณ เราไม่ได้พูดถึงการศึกษาแคบๆ อีกต่อไป เราพูดถึงการเรียนรู้ ชีวิตคือการเรียนรู้" อ.ประภาภัทร ให้คำแนะนำครูรุ่นน้อง ก่อนที่ อ.ชาญชัย จะทิ้งท้ายไว้เป็นข้อคิดว่า
"ครูพันธุ์ใหม่ต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่โยนไปที่ไหน ไม่มีงบ ไม่มีน้ำ แห้งแล้ง แต่ยังไงก็งอกได้"