๑. ให้ยกเลิก ระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
๒. ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้
๓. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับแก่ข้าราชการพลเรือน (ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน), ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา, ข้าราชการการเมือง และข้าราชการตำรวจ (ข้อ๖วรรค๑)
๔. การลาทุกประเภท ถ้ามีกฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการลาประเภทนั้นๆ ด้วย (ข้อ๗)
๕. การนับวันลาตามระเบียบนี้ ให้นับตามปีงบประมาณ (ข้อ๑๐วรรค๑)
การนับวันลา เพื่อประโยชน์ในการเสนอ หรือจัดส่งใบลา อนุญาตให้ลา และคำนวณวันลา ให้นับต่อเนื่องกันโดยนับวันหยุดราชการที่อยู่ในระหว่างวันลาประเภทเดียวกันรวมเป็นวันลาด้วย เว้นแต่ การนับเพื่อประโยชน์ในการคำนวณวันลาสำหรับวันลาป่วยที่มิใช่วันลาป่วยตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์ข้าราชการผู้ได้รับอันตราย หรือเจ็บป่วยเพราะเหตุปฏิบัติราชการ วันลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร วันลากิจส่วนตัว และวันลาพักผ่อน ให้นับเฉพาะวันทำการ (ข้อ๑๐วรรค๒)
การลาครึ่งวัน(เช้าหรือบ่าย) ให้นับเป็นการลาครึ่งวันตามประเภทการลานั้นๆ (ข้อ๑๐วรรค๖)
๖. ส่วนราชการอาจนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในการเสนอใบลา อนุญาตให้ลา และยกเลิกวันลา สำหรับการลาป่วย ลาพักผ่อน หรือลากิจส่วนตัวซึ่งมิใช่ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร (ข้อ๑๒วรรค๒)
๗. การลาแบ่งออกเป็น ๑๑ ประเภท คือ
๑) ลาป่วย
๒) ลาคลอดบุตร
๓) ลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร***
๔) ลากิจส่วนตัว
๕) ลาพักผ่อน
๖) ลาอุปสมบท หรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์
๗) ลาเข้ารับการตรวจเลอก หรือเข้ารับการเตรียมพล
๘) ลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย หรือดูงาน
๙) ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ
๑๐) ลาติดตามคู่สมรส
๑๑) ลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ (ข้อ๑๗)
๘. ข้าราชการที่ประสงค์จะลาป่วย ให้เสนอหรือจัดใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ก่อนหรือในวันที่ลา เว้นแต่ กรณีจำเป็นจะเสนอหรือจัดใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการก็ได้ (ข้อ๑๘วรรค๑)
๙. การลาป่วยตั้งแต่ ๓๐ วันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์ (ข้อ๑๘วรรค๓)
๑๐. การลาคลอดบุตร จะลาในวันที่คลอด ก่อน หรือหลังวันที่คลอดบุตรก็ได้ แต่เมื่อรวมวันลาแล้วต้องไม่เกิน ๙๐ วัน (ข้อ๑๙วรรค๒)
๑๑. ข้าราชการที่ลาคลอดบุตรแล้ว หากต้องการจะลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตร ให้มีสิทธิลาต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน ๑๕๐ วันทำการ
๑๒. การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ต้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และให้เสนอหรือจัดส่งใบลาก่อนหรือในวันที่ลาภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่คลอดบุตร และให้มีสิทธิลาได้ครั้งหนึ่งติดต่อกันไม่เกิน ๑๕ วันทำการ (ข้อ๒๐)
๑๓. ข้าราชการบรรจุครั้งแรกลาพักผ่อนในปีงบประมาณหนึ่งได้ ๑๐ วันทำการ เว้นแต่ ในปีนั้นเข้ารับราชการยังไม่ถึง ๖ เดือน (ข้อ ๒๓(๑))
๑๔. การสะสมวันลาพักผ่อนจากปีที่แล้ว รวมกับปีปัจจุบันต้องไม่เกิน ๒๐ วันทำการ แต่สำหรับผู้ที่รับราชการติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ให้สะสมได้รวมกันปีปัจจุบันไม่เกิน ๓๐ วันทำการ (ข้อ๒๔)
๑๕. การลาพักผ่อน จะต้องได้รับอนุญาตแล้วจึงจะหยุดราชการได้ (ข้อ๒๖)
๑๖. กรณีการลาติดตามคู่สมรส ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ลาได้ไม่เกิน๒ปี หรือกรณีจำเป็นให้ลาต่อไปได้อีก ๒ ปี รวมแล้วต้องไม่เกิน ๔ ปี ถ้าเกิน ๔ ปีให้ลาออกจากราชการ (ข้อ๓๖)
๑๗. ข้าราชการที่ได้รับอันตราย หรือป่วยเจ็บ เพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่ หรือถูกประทุษร้ายเพราะเหตุกระทำการตามหน้าที่ จนตกเป็นผู้ทุพพลภาพหรือพิการ หากประสงค์จะลาไปเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือจำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ให้ลาได้ครั้งหนึ่งตามระยะเวลาที่กำหนดในหลักสูตร แต่ไม่เกิน ๑๒ เดือน (ข้อ๓๙วรรค๑)
(โหลดระเบียบฯ คลิก>>http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/E/022/1.PDF)