เทศกาลลอยกระทง ในจังหวัดภาคเหนือหรือเทศกาลยี่เป็ง มีกิจกรรมการปล่อยโคมลอย หรือที่เรียกว่า “โคมไฟ” โดยมีการจุดไฟ เพื่อให้เกิดอากาศร้อนพยุงตัวโคมให้ลอยขึ้น และโคมควันหรือที่เรียกว่า “ว่าวฮม หรือว่าวโฮม” คือ โคมขนาดใหญ่ บรรจุด้วยควันร้อน ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง ปล่อยให้ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า โคมลอยมักจะปล่อยในช่วงหัวค่ำและกลางคืน เพราะจะมองเห็นแสงไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ผูกติดโคมไว้ ส่วนโคมควันจะปล่อยในเวลากลางวันตัวโคม จะมีสีสันสดใสขนาดใหญ่
ลักษณะโคมลอย
โคมลอยตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช. 808/2552 จะต้องมีปริมาตรไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 90 เซนติเมตร หรือสูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระดาษว่าว โครงทำจากไม้ไผ่ เชื้อเพลิงทำจากกระดาษชุบเทียน ขี้ผึ้ง พาราฟิน น้ำหนักไม่เกิน 55 กรัม เผาไหม้เชื้อเพลิงไม่เกิน 8 นาที ยึดติดกับตัวโคมด้วยเชือกทนไฟ หรือลวดอ่อนเบอร์ 24 จำนวน 2 เส้น ยาวเส้นละไม่เกิน 30 เซนติเมตร
โคมควันมักปล่อยบริเวณวัดในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ มีการปล่อยโคมควันขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (พฤศจิกายน) วันลอยกระทง ระหว่างเวลา 10.๐๐-๑๒.๐๐ น
ลักษณะโคมควัน
โคมควันมาตรฐานทำจากกระดาษว่าว ขนาดกว้างxยาว ไม่เกิน 50x75 เซนติเมตร/แผ่น ใช้ประกอบโคมจำนวนไม่เกิน 72 แผ่น/โคม ปากโคมมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร โดยหลีกเลี่ยงการใช้กระดาษสีเดียวกับท้องฟ้า เช่น ฟ้า ขาว และเทา
การจุดบั้งไฟในงานบุญบั้งไฟของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทั่วไปจะมีการกำหนดการจัดงานในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา แต่เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมการจุดบั้งไฟได้ผิดเพี้ยนไปจากรูปแบบเดิม โดยมีการเล่นพนันบั้งไฟที่เรียกว่า “บั้งไฟสนาม” ซึ่งเป็นการลักลอบจุดบั้งไฟในหลายพื้นที่ตลอดทั้งปี ไม่เพียงแค่ในช่วงเทศกาลเท่านั้น
การปล่อยโคมลอย โคมควัน และการจุดบั้งไฟ อาจก่อให้เกิดไฟไหม้ หรืออัคคีภัยร้ายแรง และเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัย ในการบินของอากาศยาน ที่นำมาถึงความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของส่วนรวม เช่น ไฟไหม้บ้านเรือนประชาชน ไฟไหม้ป่าไม้ หรืออาจทำให้เครื่องบินตกได้
ผลกระทบบนดินของโคมลอย
กรณีเป็นข่าวหนังสือพิมพ์และสื่อแขนงต่างๆ เกิดเหตุไฟไหม้ร้านค้า ทรัพย์สินของประชาชน อันเนื่องมาจากการปล่อยโคมลอยและจุดบั้งไฟ โดยเกิดเหตุไฟลุกไหม้ที่ตัวโคมขณะลอยอยู่เหนือท้องฟ้า ร่วงหล่นลงมาพร้อมเปลวไฟสู่พื้นดิน ตกลงบนทุ่งหญ้า หลังคาบ้าน หรือป่าไม้ โดยวัสดุที่ติดไฟเกิดเพลิงไหม้ หรือลอยไปตกลงบนสายไฟฟ้าแรงสูง ทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดและไฟฟ้าดับทั่วเมือง เป็นต้น
ผลกระทบบนท้องฟ้าของโคมลอยและโคมควัน
ปัจจุบันได้มีการเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงที่ผูกติดกับตัวโคมลอย เพื่อให้ลอยอยู่ในอากาศได้สูงและนานขึ้น แต่หารู้ไม่ว่าผลกระทบที่ตามมาของโคมลอย ในขณะที่ล่องลอยสู่ท้องฟ้าตามกระแสลมจะพัดพาไปอย่างไร้จุดหมาย ซึ่งอาจจะไปชนกับเครื่องบินที่บินอยู่บนท้องฟ้าตามเส้นทางการบินและอาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตคนในเครื่องบิน ซึ่งได้รับการยืนยันจากนักบินและผู้เกี่ยวข้องว่า เครื่องบินสามารถระเบิดได้ทันที นี่คือภัยอันตรายที่หลายๆ คนมองข้าม
สาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น
๑) การเล่นพนันประพฤติที่ผิดเพี้ยนไปจากวัฒนธรรม/ประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิม
๒) มีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ทำเชื้อเพลิงซึ่งอาจทำให้เกิดอันตราย (ไฟไหม้/ระเบิด) เพื่อทำให้อุปกรณ์มีขนาดใหญ่และลอยสูงขึ้น
๓) โคมลอยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์สินค้าและการท่องเที่ยวอย่างผิดๆ
ผลกระทบบนท้องฟ้าของการจุดบั้งไฟ
การจุดบั้งไฟ อันตรายที่คาดไม่ถึงต่อการเดินอากาศของประเทศซึ่งเคยได้รับรายงานจากนักบินว่า พบเห็น บั้งไฟขณะทำการบินในระดับความสูง 20,000 ฟิต (ประมาณ 6,000 เมตร) เป็นระดับที่สูงมาก มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายร้ายแรงต่ออากาศยาน เนื่องจากเป็นระดับเพดานบินของเครื่องบินโดยสารทั่วไปที่มีความสูงประมาณ 20,000-30,000 ฟิต โดยในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาได้มีรายงานการพบเห็นบั้งไฟ และโคมลอยจากนักบินอยู่เสมอๆ
ความผิดกรณีเกิดความเสียหายต่ออากาศยาน
พรบ. ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521
พรบ. เดินอากาศ พ.ศ. 2497 โคมลอย โคมควัน มีปริมามาตรเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร การปล่อยต้องได้รับอนุญาตตามที่รัฐมนตรีกำหนด
พรบ.อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
ข่าวหนังสือพิมพ์และสื่อแขนงต่างๆ ได้เผยแพร่การเกิดเหตุบั้งไฟระเบิดขณะทำการจุดมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หรือบั้งไฟ ตกลงชนบ้านเรือนหรือรถยนต์ มีผู้เสียชีวิตและทำให้สูญทรัพย์สิน เป็นต้น
ประชาชนยังไม่ทราบถึงความสูญเสียในภาพลบ ที่อาจทำให้เศรษฐกิจเสียหายในด้านการท่องเที่ยว จากการจุดบั้งไฟพุ่งทะยาน สู่ท้องฟ้าอย่างสวยงาม แต่หากไปชนกับเครื่องบินโดยสารที่มีประชาชน และนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยสารบนเครื่องบินเกิดเหตุระเบิดขึ้นเพราะบั้งไฟพุ่งชน สิ่งที่ตามมาคือความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนภาพลักษณ์ของประเทศไทย
การจุดบั้งไฟปัจจุบันมีการแข่งขันกันเพียงเพื่อทำให้บั้งไฟของใครจะสูงกว่ากัน แต่หารู้ไม่ว่าการจุดบั้งไฟยิ่งสูงมหันตภัยความสูญเสียยิ่งคืบคลานเข้าใกล้ต่อการบินของอากาศยานมากขึ้นด้วย นักบินก็ได้แต่ภาวนาขออย่าได้พบเจอโคมลอย โคมควัน ตะไล และบั้งไฟเลย
สำหรับการจุดบั้งไฟในอดีตนั้นจะใช้วัสดุอุปกรณ์ทำจากไม้ไผ่ ไม่เหมือนปัจจุบันบั้งไฟได้ผิดเพี้ยนไปด้วยการใช้ท่อ PVC หรือท่อเหล็กแทน และเพิ่มปริมาณดินปืนให้มากขึ้น เพื่อการจุดบั้งไฟให้สามารถพุ่งทะยานไร้จุดหมายเพียงต้องการความสูง ถ้าบั้งไฟใครสูงกว่าคือผู้ชนะการพนัน โดยจุดหมายปลายทางจะพุ่งชนโดนอะไรก็เป็นเรื่องของชะตากรรม หรือความโชคร้ายไปเท่านั้น
ขอความร่วมมือประชาชนโทร.แจ้งล่วงหน้า
การปล่อยโคมลอย โคมควัน และการจุดบั้งไฟ ควรดำเนินการการแจ้งเวลาและจำนวนให้สนามบิน/ท่าอากาศยาน หรือศูนย์ควบคุมการบิน ในพื้นที่ทราบล่วงหน้า 7 วัน ก่อนการปล่อยจริง และต้องมีผู้ประสานงานการปล่อย โดยให้แจ้งข้อมูลมายังสนามบินทุกครั้ง เพื่อจะได้ออกประกาศแจ้งเตือน (NOTAM) ให้นักบินทราบล่วงหน้า โทร. 0 2287 0320-9 กรมการบินพลเรือน (ต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ และสอบถามหมายเลขโทรศัพท์สนามบินที่จะแจ้ง)
*******************