ทำไมเราจึงเป็นตะคริว และทำอย่างไรไม่ให้เป็นตะคริว
น.พ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายดังนี้ ตะคริว (cramp) คือการที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงเป็นเวลานาน โดยทั่วไปมักเกิดไม่เกินสองนาที แต่อาจมีบางรายเกิดนานได้ถึงห้านาทีหรือกว่านั้น และบางรายอาจเกิดบ่อยจนทำให้เกิดความทุกข์ทรมานได้ อาการนี้แม้จะไม่ส่งผลถึงแก่ชีวิต แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ถ้าเกิดระหว่างว่ายน้ำ หรือขับรถ คืออาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
สาเหตุของการเกิดตะคริว ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีอยู่หลายทฤษฎี ทางหนึ่งระบุว่าอาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อยๆ ทำให้มีการหดรั้ง เกร็งได้ง่ายเมื่อมีการใช้
กล้ามเนื้อนั้นมากเกินไป นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป และประการสุดท้ายอาจเกิดจากการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดีพอ ซึ่งมักพบในคนที่มีโรคที่ทำให้หลอดเลือดตีบ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
ส่วนตัวกระตุ้นการเกิดตะคริว ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เป็นต้น นอกจากนั้นโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคไตวาย โรคเบาหวาน โรคของต่อมธัยรอยด์ ซีด น้ำตาลในเลือดต่ำ โรคพาร์กินสัน ร่างกายขาดสารน้ำและความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย ได้แก่ แมกนีเซียม แคลเซียม โปแตสเซียม ยังทำให้เกิดตะคริวขึ้นได้ง่าย หรือการทำงานมากๆ จนเมื่อยล้า หรือนั่งขดแขนขาอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ก็อาจทำให้เกิดตะคริวขึ้นได้เช่นกัน เพราะเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงแขนขาได้สะดวก
การดูแลตตัวเองเมื่อเป็นตะคริว คือยืดกล้ามเนื้อที่เกิดตะคริวนั้นให้คลายออกอย่างช้าๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดตะคริวที่น่องจะทำให้เกิดเกร็งปลายเท้าจิกชี้ลงพื้นดิน ให้เหยียดเข่าและกระดกปลายเท้าขึ้นช้าๆ หรือยืนกดปลายเท้ากับพื้น แต่ห้ามกระตุก กระชากรุนแรงอย่างรวดเร็ว เพราะจะเจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้ ทาและคลึงเบาๆ ด้วยยาทาแก้ปวดหลังการยืดกล้ามเนื้อแล้ว หรือถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อท้อง ประคบด้วยน้ำอุ่น
ในรายที่เป็นบ่อยๆ มีการใช้ยา เช่น ควินีน และยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด ซึ่งอาจใช้ในระยะประมาณ 4-6 สัปดาห์และดูการตอบสนอง แต่ผลการศึกษาถึงประโยชน์ยังไม่ชัดเจนนัก และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบางราย เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ ตับอักเสบ หูอื้อ เสียงดังในหู เวียนศีรษะ เป็นต้น โดยทั่วไปจึงมักไม่ค่อยได้ใช้กันการป้องกัน