กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ปตท.ที่เกิดขึ้น กลายเป็นประเด็นสังคมที่ถูกพูดถึงมากทั้งตามหน้าข่าวและโลกโซเชียล พร้อมทั้งเกิดคำถามว่าใครเป็นคนผิดในกรณีนี้!!!
จากการพยายามเล่นกระแสของกลุ่มคนที่หวังผลทางการเมือง และการพาดหัวข่าวจึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนที่ติดตามเรื่องราวดังกล่าวจะชี้เป้าไปที่องค์กรอย่างการบินไทยและปตท. เป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มแรกที่พยายามหยิบยกประเด็นถึงความเป็นธรรมาภิบาลของ ปตท. มาโจมตีว่าทำไมจึงเกิดการรับสินบนขององค์กรที่มีธรรมาภิบาลสูงแบบนี้ได้ อันนี้เลยจะขอยกคำสัมภาษณ์ของนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)โดยสัมภาษณ์ผ่านรายการเฟซไทม์ ทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา มาให้อ่านกัน…
“เท่าที่ดูรายละเอียดเว็บไซต์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ การจ่ายเงินเป็นการจ่ายค่าคอมมิสชันให้กับตัวแทนของโรลส์-รอยซ์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินตัวนั้น เพื่อจ่ายให้กับพนักงานหรือผู้บริหารของปตท. ฉะนั้นโรลส์-รอยซ์ไม่มีการจ่ายเงินตรงมาที่ปตท. ดังนั้น การดำเนินงานเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่ต้องแยกออกจากองค์กร ซึ่งอ่านแล้วไม่แน่ใจว่าผู้บริหารหรือพนักงานของโรลส์-รอยซ์ ที่จ่ายไปให้กับตัวแทนหรือคนกลาง” … เว็บไซต์ ฐานเศรษฐกิจ
จากคำสัมภาษณ์จะเห็นว่าจำนวนเงินที่มีการอ้างว่ารับสินบนนั้น ถูกส่งมอบให้แก่ “บุคคลซึ่งอาจจะเป็นพนักงานหรือผู้บริหาร” ในสมัยนั้น และไม่มีการถูกจ่ายตรงให้กับ ปตท. อันนี้จึงกลายเป็นเรื่องของบุคคลที่มีการคอรัปชั่น ไม่ใช่องค์กร และ ปตท.ยังถือเป็นผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าวด้วย
ทำไม ปตท. ถึงเป็นผู้เสียหาย? …อันนี้ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า มีพนักงานในบริษัทหนึ่ง รับเงินสินบนเพื่อล็อกสเปคของหนึ่งชิ้น เพื่อซื้อของเข้าบริษัท ถามว่าเรื่องนี้ใครเป็นคนผิด ระหว่างบริษัทหรือพนักงานที่รับสินบน? …จากตัวอย่างนี้จะเห็นชัดเจนว่า การที่กลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อหวังผลทางการเมือง จะพยายามโจมตีองค์กรนั้น น่าจะเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เกิดการเข้าใจผิดเสียมากกว่า ส่วนกรณีที่มีคำถามว่าทำไมถึงให้คนในองค์กร ปตท. เองเป็นผู้สอบส่วน ตรงนี้คุณเทวินทร์ มีความเห็นว่า
“ยังไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้ต้องสงสัยอะไร แต่ต้องรู้ก่อนว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งการตั้งกรรมการสอบสวนก็ต้องมั่นใจว่าคนที่จะมาเป็นประธานและกรรมการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างในยุคที่เกิดขึ้น มีทั้งผู้ที่เข้าใจกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้ที่เข้าใจเทคนิคการก่อสร้าง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจสอบ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย แต่ขอไม่เปิดเผยว่าประธานคือใคร แต่เป็นคนภายในองค์กร เพราะต้องการให้เขามีความสบายใจในการทำงาน”
การที่ ปตท. ซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการรับสินบนจะเข้ามาสอบสวนเองคงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ทั้งยังมีการยืนยันจากปากคุณเทวินทร์เองว่าการตั้งคณะกรรมการซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในยุคนั้น ก็คงจะหมดข้อสงสัยถึงการจัดการประเด็นการรับสินบนนี้ได้ในระดับหนึ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.รู้จริงพลังงานไทย.com/สินบนโรลส์-รอยซ์-ชี้ปตท/