มีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ออกมาอยู่เนือง ๆ ในกรณีที่ผู้บริโภคบางกลุ่ม มองว่าราคาน้ำมันเมืองไทยแพงเกินไป และ ปตท. เป็นต้นเหตุของราคา เพราะปตท. เป็นผู้กำหนดราคาขายน้ำมันในประเทศ ตรงนี้จะขอนำส่วนหนึ่งของคำแถลงที่ทาง ผู้บริหารของ ปตท. ได้ตั้งโต๊ะแถลง หลังจากมีประเด็นร้อนว่อนในโลกโซเชียลในด้านลบกับ บริษัท ปตท. กำหนดราคาน้ำมัน ที่เอาเปรียบประชาชน จนได้กำไรสูงเป็นแสนล้านบาท พร้อมชักชวนบอยคอตเติมน้ำมันที่ปั๊มของ ปตท.
“นายเทวินทร์ กล่าวว่า ปี 2560 ราคาน้ำมันทั้งปีเฉลี่ยเป็นขาขึ้น โดย ปตท. มีการปรับขึ้น 21 ครั้ง ปรับลง 21 ครั้ง แต่ราคาหน้าปั๊มขายต่ำกว่าต่างชาติ 20 วัน ไม่เคยขายแพงกว่ารายอื่นเลย แม้แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ 6 เม.ย. – 28 พ.ค. 2561 ปตท.ปรับขึ้นราคาน้ำมัน 6 ครั้ง ปรับลง 1 ครั้ง โดยไม่เคยมีช่วงเวลาที่ขายแพงกว่าเจ้าอื่น แต่มีช่วง 9 วันในช่วง 50 วันที่ขายถูกกว่าปั๊มอื่น”
การที่มีช่วงเวลาที่ ปตท. ขายถูกกว่าปั๊มอื่น และไม่มีช่วงเวลาไหนเลยที่ ปตท. จะขายแพงกว่าปั๊มอื่น นั่นเป็นหลักฐานชัดเจนว่า ปตท. ไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันในประเทศ แต่ละแบรนด์สามารถกำหนดราคาขายได้อย่างเสรี ผ่านค่าการตลาด (ส่วนราคา ณ โรงกลั่นใช้ราคาอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ ในขณะที่ภาษีและกองทุนต่าง ๆ รัฐบาลเป็นคนกำหนด) แต่ละแบรนด์สามารถกำหนดค่าการตลาด เท่าไหร่ก็ได้ จะเก็บค่าการตลาดลิตรละ 100 บาท หรือลิตรละแค่ 10 สตางค์ก็สามารถทำได้ตามหลัก รัฐเพียงแค่มีการเสนอตัวเลขค่าการตลาดที่เหมาะสมเอาไว้ (แต่ไม่ได้บังคับให้ทำตาม) ซึ่งอย่าลืมว่าค่าการตลาด ยังไม่ได้หักส่วนค่าใช้จ่ายภายในปั๊มทั้งหมดจะเป็นค่าขนส่งน้ำมัน ค่าจ้างเด็กปั๊ม ค่าน้ำมันค่าไฟ ฯลฯ ดังนั้นหากค่าการตลาดต่ำเกินไป ปั๊มก็จะขาดทุนและต้องปิดตัวลง
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า แต่ละปั๊ม แต่ละแบรนด์สามารถกำหนดราคาได้เองอย่างเสรี เพียงแค่จ่ายภาษีและกองทุนต่าง ๆ ตามที่รัฐกำหนดเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งที่สามารถกำหนดราคาขายของทั้งตลาดได้ อย่างที่เข้าใจผิดกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.รู้จริงพลังงานไทย.com/ราคาน้ำมันใครกำหนด-ปตท/