ดวงอาทิตย์คือสิ่งที่สวยงามและทรงพลังมากที่สุดในระบบสุริยะ มันให้ทั้งพลังงานและแสงสว่างจนเป็นสิ่งสำคัญต่อโลกเราที่ขาดไม่ได้ เรามองเห็นดวงอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าทุกวันแต่กลับไม่เคยเห็นมันในแบบที่มีรายละเอียดชัดเจนแม้แต่ครั้งเดียว
วันนี้นักวิทยาศาสตร์ได้เผยภาพของพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่ไม่เคยมีใครได้พบเห็นมาก่อน และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติที่เราจะได้เห็นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ของจริงนั้นเป็นอย่างไร
และนี่คือภาพดวงอาทิตย์เมื่อเรามองผ่านกล้องโทรทรรศน์สุริยะอิโนอุเอะ
หอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์แห่งชาติ ได้เผยภาพถ่ายจำนวนหนึ่งและวีดีโอของพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่จับภาพโดยกล้องโทรทรรศน์สุริยะแดเนียล เค อิโนอุเอะ ของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSF) ที่ทำให้มนุษย์เราได้เห็นรายละเอียดของดวงอาทิตย์ที่ใกล้ชิดที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา
กล้องโทรทรรศน์สุริยะอิโนอุเอะมีขนาด 4 เมตรโดยตั้งอยู่ที่ยอดภูเขาไฟฮาเลยากาลาบนเกาะเมาอิ ในหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ
ภาพดังกล่าวถือเป็นการเปิดตัวของกล้องโทรทรรศน์ในโลกแห่งดาราศาสตร์ และว่ากันว่าเป็นการเปิดยุคใหม่ของวิทยาศาสตร์สุริยะ เพื่อผลักดันวิทยาศาสตร์ไปสู่การเรียนรู้และเข้าใจถึงลูกบอลไฟยักษ์ลูกนี้ให้มากขึ้น รวมถึงผลกระทบที่มีต่อโลกเราอีกด้วย
ร่องรอยตะปุ่มตะป่ำนี้คือฟองพลาสมา ซึ่งจากภาพด้านล่าง ฟองพลาสมาฟองเดียวในช่องสี่เหลี่ยม มีขนาดพอ ๆ กับรัฐเท็กซัสที่ใหญ่กว่าประเทศไทยเล็กน้อย
หรือจะเป็นจุดเล็ก ๆ ด้านล่างที่มีขนาดพอ ๆ กับเกาะแมนฮัตตันในนิวยอร์ก หรือใหญ่กว่าเกาะเสม็ดบ้านเราประมาณ 3 เท่า
ถ้าไม่มีคนบอก หลายคนคงคิดว่ามันคือป๊อปคอร์นเคลือบคาราเมลชัด ๆ ตามที่ NSO อธิบายไว้ มันคือฟองพลาสมาเดือดบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ พลังงานจากการเคลื่อนไหวของมันส่งผ่านความร้อนจากด้านในของดวงดาวออกมา กระบวนการดังกล่าวคือเหตุผลว่าทำไมมันจึงมีโครงสร้างคล้ายรวงผึ้งบนพื้นผิว
ดวงอาทิตย์มีขนาดประมาณ 1,391,000 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าโลกเราประมาณ 109 เท่า จึงไม่แปลกที่ฟองขนาดเล็กที่เห็นในภาพก็เทียบได้กับประเทศไทยเราได้แล้ว
ทาง NSO ยังปล่อยวีดีโอของฟองพลาสมาที่พบบนดวงอาทิตย์ด้วยซึ่งมันน่าทึ่งมาก
กล้องโทรทรรศน์สุริยะอิโนอุเอะสามารถถ่ายภาพที่มีรายละเอียดน่าเหลือเชื่อได้ มันสามารถถ่ายภาพครอบคลุมพื้นที่ของดวงอาทิตย์ได้กว้างถึง 38,000 กิโลเมตรและสามารถถ่ายภาพโคลสอัพระยะ 30 กิโลเมตร เมื่อคำนวนจากระยะทางกว่า 149,599,999 กิโลเมตรที่ไกลจากโลกเรา มันคือผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่เยี่ยมยอดอย่างมาก
ในงานแถลงข่าว ผู้อำนวยการ เดวิด โบโบลทซ์ ของทางมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้อธิบายว่าภาพทั้งหมดเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ตลอดระยะเวลา 6 เดือนต่อจากนี้ ทีมงานเบื้องหลังกล้องโทรทรรศน์จะทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่ามันจะถูกใช้งานอย่างคุ้มค่าโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สุริยะนานาชาติ เขายังเสริมอีกว่า ในช่วง 5 ปีแรก กล้องโทรทรรศน์ถูกคาดหมายว่าจะเก็บข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ ตั้งแต่ที่กาลิเลโอเริ่มต้นกับกล้องโทรทรรศน์ของเขาเมื่อปี ค.ศ. 1612 หรือเมื่อ 408 ปีที่แล้วเลยทีเดียว