ชาวเน็ตโพสต์เฟซบุ๊กน่าสนใจ เกี่ยวกับ 10 สิ่งที่สื่อควรทำหลังเหตุการณ์ความรุนแรง ที่เกิดขึ้น ณ ห้างสรรพสินค้า เทอร์มินอล 21 โคราช
เจ้าของเฟซบุ๊ก Ek Eu ได้โพสต์บทความที่น่าสนใจไว้ว่า เพื่อนนักวิชาการของผม อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กรุณาส่งข้อเขียนข้างล่างนี้เพื่อสะท้อนการทำงานสื่อหลังเหตุการณ์ที่โคราช ผมจึงขอเพื่อนนำมาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านกันครับ
1. เลิกขุดคุ้ยนำเสนอ ชื่อเสียงเรียงนาม ของคนร้าย ประวัติ อุปนิสัยใจคอ หรือ ความคิดเห็นของเพื่อนๆ คนในครอบครัวของคนร้าย
เนื่องจากมีผลกระทบเชิงจิตวิทยา ทำให้คนรู้สึกว่า "อาชญากรเป็นที่หลงใหล น่าสนใจ สื่อให้ความสำคัญ"
ส่งผลต่อการกระทำเลียนแบบต่ออาชญากรคนอื่นในอนาคต
ไม่ควรทำให้คนร้ายกลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น
2. สื่อควรเลิกติดตามเฝ้าส่องคนในครอบครัวของคนร้ายและเหยื่อผู้เสียชีวิต
เนื่องจากเป็นช่วงเวลาแห่งความสูญเสีย สื่อต้องให้พื้นที่ความเป็นอยู่อย่างสงบและส่วนตัวในการรำลึกผู้จากไปอย่างสงบ
3. ระมัดระวังการนำเสนอมูลเหตุแรงจูงใจในการกระทำก่อเหตุ
โดยเฉพาะการสอบถามจากคนใกล้ตัว เพื่อน ญาติ คนสนิท เนื่องจากอาจส่งผลต่อความเข้าใจผิดของสังคม
นอกจากนี้ การนำเสนอแรงจูงใจของอาชญากรในการกระทำก่อเหตุ ของอาจกลายเป็นการเลียนแบบแรงจูงใจ กระตุ้นให้อาชญากรคนถัดไปลุกขึ้นมาใช้ความขอบธรรมในการก่อเหตุบ้าง
กล่าวคือ เมื่อสื่อนำเสนอมากๆ ว่าอาชญากรกระทำเหตุการณ์ต่างๆ เพราะเหตุผลใดๆ ก็ตาม จะทำให้เกิดมาตรฐานยอมรับว่าสิ่งนี้สิ่งนั้นกระทำได้
ต่อไปจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หรือ เรียกว่า Copy Cat ซึ่งเป็นการเลียนแบบทั้งรูปแบบ วิธีการ มูลเหตุและแรงจูงใจ
4. ไม่ควรตั้งชื่อ ฉายา แก่อาชญากร ควรกล่าวแค่ "คนร้าย อาชญากร ผู้ก่อเหตุ" เพราะการตั้งชื่อหรือฉายา จะทำให้ผู้คนที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรงอื่นๆ รู้สึกว่าได้รับการยอมรับนับถือ
ควรใช้คำว่า "มือปืน คนร้าย อาชญากร ผู้ก่อเหตุ" เป็นคำกลางๆ ทั่วไป
ไม่ควรใช้คำว่า "คลั่ง บ้า เพี้ยน วิปริต โฉด ชั่ว" หรือคำที่มีลักษณะตีตรา ตัดสินในการรายงานข่าว (แม้สื่อจะคิดว่ามันเป็นจริงตามนั้น) อย่างไรก็ตามคำเหล่านี้มีผลกระทบทางจิตวิทยาในลักษณะเหมารวม หวาดระแวงแก่คนโดยทั่วไป ซึ่งจะส่งผลต่ออคติ ความเกลียดชังและเข้าใจผิด
5. ควรนำเสนอข่าวเรื่องมาตรการตั้งรับ-เชิงรุก เพื่อสร้างความปลอดภัยให้รัฐ สังคมมากขึ้น
เช่น
- ความปลอดภัยของการเข้าถึงอาวุธ
- ระบบความปลอดภัยของพื้นที่สาธารณะ
- การแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินฉับพลัน แก่ประชาชน
- วิธีการเอาตัวรอดจากเหตุวินาศกรรม/การก่อการร้าย
- ความรู้แก่ประชาชนในการระแวดระวัง ป้องกัน รับมือ เอาตัวรอดในภาวะวิกฤตเมื่อเกิดเหตุการณ์
กระตุ้นให้รัฐและผู้เกี่ยวข้องเร่งสร้างมาตรการความปลอดภัยให้มากขึ้น
6. ในข่าว ไม่ควรสรุปว่า มูลเหตุความรุนแรง รูปแบบวิธีการนั้นๆ เป็นผลมาจากอุปนิสัย กิจกรรม งานอดิเรก ของคนร้ายเข้ากับการก่อเหตุอาชญากรรม
ซึ่งอาจทำให้เกิดการสรุปแบบเหมารวม เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณะว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการกระตุ้น ก่อเหตุความรุนแรง จนกว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญในกรณีนั้นๆ ยืนยันบนหลักฐานที่น่าเชื่อถือ
ไม่เปิดเผยข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพของคนร้าย (เช่น การใช้สิ่งเสพติดอื่น) ข้อมูลเหล่านี้ยังคงได้รับการปกปัองตามกฎหมาย
7. ควรลด งด เว้น การนำเสนอภาพกราฟิกจำลองเหตุการณ์ความรุนแรง ในลักษณะที่เปิดเผยรายละเอียดของท่าทาง หรือ การกระทำของผู้ก่อเหตุ เพราะเป็นการกระทำซ้ำเติมความทุกข์โศกเศร้าแก่คนในครอบครัวของเหยื่อ
การทำภาพกราฟิกความรุนแรงยังอาจส่งผลต่อความรับรู้ของผู้ชมที่เป็นเด็กและเยาวชน เพราะวัยที่ต่ำกว่า 13 ปียังไม่สามารถแยกแยะภาพจริงและจินตนาการออกจากกันได้ แม้จะเป็นภาพจำลองก็ไม่ต่างอะไรกับภาพจริงในมุมมองของการรับรู้ของเด็กที่ต่ำกว่า 13 ปี
8. ควรลด งด เว้น การนำเสนอภาพคนร้ายที่คนร้ายนำเสนอตนเองในลักษณะอวดอ้างภูมิใจ เช่น ภาพคนร้ายสวมหมวก อุปกรณ์ ถืออาวุธ หรือ ภาพถ่ายตนเองของคนก่อเหตุก่อนหรือระหว่างก่อเหตุ
จริงๆ แล้วไม่ควรนำเสนอภาพถ่ายของคนก่อเหตุเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากผู้ก่อเหตุส่วนมากมีมูลเหตุจากความเกลียด ชัง โกรธ แค้น และต้องการให้สังคมยอมรับ ให้ความสำคัญกับชื่อ ตัวตน อัตลักษณ์ของเขาเอง การที่สื่อเอารูปภาพใบหน้าของอาชญากรมาแสดงในรายงานข่าว ในจอทีวี คือ การยอมรับเอาข้อความของอาชญากรมานำเสนอแก่สาธารณะในลักษณะของการยิ่งเพิ่มการให้ความสำคัญมากขึ้นไปอีก
9. ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้จากไป สื่อควรให้พื้นที่ นำเสนอรายชื่อ ภาพที่มีค่าแก่การระลึกจดจำได้ ของเหยื่อผู้จากไป ในลักษณะเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่นำเสนอภาพผู้จากไป
ควรสร้างความรู้สึกของประชาชนให้ร่วมรำลึกจดจำภาพของผู้จากไปในลักษณะเป็นความทรงจำที่ดี และกระตุ้นเตือนประชาชนให้มีกำลังใจที่จะผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้ายนี้ไปด้วยกัน
10. ไม่ควรสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐ ชุดปฏิบัติการ เกี่ยวกับยุทธวิธีในการจู่โจมในภายหลัง เพราะต่อไปคนร้ายในอนาคต จะดูรายการและเรียนรู้วิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ คนร้ายจะศึกษาช่องทาง จุดอ่อน และเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ
จะทำให้อาชญากรรมในอนาคตยิ่งทวีความซับซ้อน และยากที่จะรับมือมากยิ่งขึ้น
#สื่อควรทบทวนบทบาทหน้าที่ของตนเอง เปิดใจรับฟังเสียงตำหนิ ขื่นชม วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของตนเองจากประชาชนให้มากขึ้น บางสิ่งบางอย่างเป็นเรื่องสำนึกทางจริยธรรม บางอย่างเป็นกฎข้อบังคับวิชาชีพ บางอย่างเป็นกฎหมาย อย่างไรก็ตามตระหนักถึงผลกระทบอย่างรอบด้านถึงการทำหน้าที่ของตนเองอย่างถี่ถ้วน
ควรสื่อสารว่าทุกๆคนในสังคมต่างก็ล้วนมีส่วนในความรับรู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้ด้วยกันทั้งหมด
สุดท้าย คือ สื่อควรแสวงหาพื้นที่แห่งความร่วมมือร่วมใจ ความเสียใจ ความรำลึกแก่ผู้บาดเจ็บ ผู้จากไป และแสวงหาคำขอโทษ คำสัญญา จากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเหตุการณ์ เหล่านี้เป็นสัญญาณแห่งความเตรียมพร้อมและการก้าวผ่านเหตุการณ์ของสังคมไปด้วยกัน
โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ
อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล