เป็นที่น่าจับตามองอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ก.พ.63 ที่ผ่านมามีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มีการประชุมหารือในการเตรียมความพร้อมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หากไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าวให้อยู่ในระยะที่ 2 ได้ อาจจะเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างออกไปภายในประเทศ และพัฒนาเป็นระยะที่ 3 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าระยะของการพัฒนาจะใช้ระยะเวลาเพียงแค่ในช่วง 1-2 เดือนแรกของการระบาด
ทั้งนี้มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าอาจพบผู้ป่วยมากกว่า 1,000 รายต่อวัน หากไม่สามารถควบคุมระยะที่ 2 ของโควิด-19 เอาไว้ได้
ทั้งนี้โควิด 19 ในระยะที่ 3 อาจทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตทุกวัน ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องออกแผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคีเพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบจากโรคติดเชื้อนี้ เพื่อเป็นกรอบการประสานงานสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันควบคุมโรคในสถานการณ์ระยะที่ 2 ของโรคโควิด 19 และเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ระยะที่ 3 ไว้ เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชน และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
นอกจากนี้ ทางกระทรวงต่างประเทศเองมิได้นิ่งนอนใจ และกำลังติดตามมาตราการที่ต่างประเทศมีต่อไทยขณะนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนมาตราการการตรวจลงตรา โดยจะมีการจัดการประชุมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อหาแนวทางการป้องกันผลกระทบด้านความมั่นคงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ โรคโควิด 19 ในวันนี้ (21 ก.พ.) พร้อมให้กระทรวงกลาโหม เตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับการระบาดในระยะที่ 3
ทั้งนี้ยังมีการกำหนดมาตราการงดการจัดชุมนุมขนาดใหญ่ หรือเลื่อนออกไป อันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค
อีกด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสท์ผ่านเฟซบุ๊ค ระบุว่า
จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยืนยันขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนมาตรวจหรือไม่
เนื่องจาก 90% อาการน้อยมากดังนั้นจะไม่ทราบจำนวนคนที่ติดเชื้อจริงและคนที่ติดเชื้อจะค่อยๆแพร่ไปสู่คนข้างๆ
และ 10% ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการที่ต้องเข้าโรงพยาบาล
แล้ว 10 ถึง 20% ของคนที่เข้าโรงพยาบาลจะมีอาการวิกฤต
การประกาศสถานการณ์รับมือของโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเรามีเวลาอีกสองเดือน ที่จะเห็นสถานการณ์จริงโดยเตรียมพร้อม เตรียมแผนเคลื่อนคนป่วยธรรมดาไปไว้ที่อื่น
เตรียมหมอและพยาบาลดูคนไข้ติดเชื้อ
เตรียมเตียงไอซียู เครื่องช่วยหายใจ และถ้าสถานการณ์เป็นระดับสามแพร่ทั่วไปโดยควบคุมไม่ได้ภายในสองเดือนนี้คิดถึงโรงพยาบาลสนาม
ดังนั้นสองเดือนนี้คือสองเดือนที่ประชาชนต้องป้องกันตนเองสูงสุดใส่หน้ากากปิดปากปิดจมูกระวังตา เมื่อเข้าไปในที่หนาแน่น
ล้างมือบ่อยที่สุด
ต้องมีวิธีการให้พื้นที่สาธารณะและรถประจำทางทั่วประเทศไทยมีวิธีกำจัดเชื้อโดยเร็วที่สุด
ถ้าทำสำเร็จในสองเดือนนี้เราจะไม่เห็นภาพที่น่ากลัว
และโรงพยาบาลทุกแห่งต้องกัน ไม่ให้มีผู้แพร่เชื้อได้เข้าไปสู่โรงพยาบาลติดเชื้อคนป่วยธรรมดาและบุคลากรทางการแพทย์โดยเด็ดขาด