นาซา หรือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ เผยแพร่ภาพที่น่าตกใจ 2 ภาพเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 63 เป็นภาพถ่ายทางอากาศเหนือเกาะนกอินทรี ใกล้คาบสุมทรที่อยู่ทางเหนือสุดของทวีป ใกล้ฝั่งประเทศชิลี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเผชิญกับอากาศที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อช่วงที่ผ่านมาของเดือนนี้ ซึ่งพบว่าอุณหภูมิพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียส หรือร้อนที่สุดครั้งหนึ่งตั้งแต่มีการบันทึก
เหตุนี้ทำให้น้ำแข็งและหิมะที่ปกคลุมพื้นที่ดังกล่าวละลายจนหลายจุดไม่เหลือน้ำแข็งและหิมะเลย ซึ่งรูปที่นาซาเผยแพร่นั้นเป็นรูปของวันที่ 4 ก.พ. ที่ยังมีน้ำแข็งปกคลุมหนาแน่น ขณะที่อีกภาพหนึ่งเป็นภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 13 ก.พ. หรือห่างกัน 9 วัน ที่เห็นพื้นดินที่ไร้น้ำแข็งปกคลุม โดยนาซาระบุว่า วันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา ซานการวิจัยเอสเปรันซา ที่ปลายคาบสมุทรเหนือสุดของทวีปแอนตาร์กติกา อุณหภูมิพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 18.3 องศาเซลเซียส ซึ่งนอกจากพื้นดินที่เปิดออกมาให้เห็นแล้ว ยังพบแอ่งน้ำสีฟ้าขนาดใหญ่บนธารน้ำแข็ง ที่เป็นผลจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะด้วย
นายเมารี เปลโต นักวิทยาศาสตร์ธารน้ำแข็ง จากวิทยาลัยนิโคลส์ ที่เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์นี้บอกว่า ตนไม่เคยเห็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อนในแอนตาร์กติกา หลายครั้งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในรัฐอะแลสกาของสหรัฐ และเกาะกรีนแลนด์ของประเทศเดนมาร์ก แต่ไม่เคยเห็นในแอนตาร์กติกามาก่อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์รายนี้ กล่าวอีกว่า หิมะบนเกาะนกอินทรีละลายอย่างรวดเร็วระหว่างวันที่ 6-11 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยความหนาหายไปถึง 10.6 เซนติเมตร เท่ากับหิมะที่ตกทั้งฤดูกาลหายไป 20% ในเวลาดังกล่าว
โดยที่ก่อนหน้านี้มีการรายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวบราซิลวัดอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของทวีปแอนตาร์กติกาได้ถึง 20.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา บริเวณเกาะเซเมอร์ บริเวณคาบสมุทรทางเหนือสุดของทวีปนี้ ที่อยู่ใกล้กับชายฝั่งใต้สุดของประเทศชิลี ซึ่งร้อนกว่าสถิติเดิมที่ 19.8 องศาเซลเซียสเมื่อปี 2525 เสียอีก