เกิดเป็นคำถามที่ใครหลายคนอยากรู้ว่า การผายลมสามารถแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 ได้หรือไม่
ข้อสงสัยนี้เกิดขึ้นหลังจากผลวิจัยชิ้นล่าสุดนำโดย ดร. จง หนานชาน (Zhong Nanshan) ที่ปรึกษาทางการแพทย์ชั้นนำของจีน ได้ตรวจพบไวรัสในตัวอย่างอุจจาระและปัสสาวะของผู้ติดเชื้อ
การตรวจพบครั้งนี้เองจึงเกิดความหวั่นวิตกว่า การผายลมของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จะเป็นอีกช่องทางของการแพร่เชื้อได้หรือไม่ บางคนถึงขนาดเรียกร้องให้มีการผลิตอุปกรณ์ป้องกันแบบเดียวกับหน้ากาก N95 แต่สำหรับใช้กับก้นโดยเฉพาะกันเลย
และเมื่อหลายคนอยากจะรู้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) เขตถงโจว ในกรุงปักกิ่ง ได้ตอบคำถามซีเรียสแต่แฝงความขบขันนี้ผ่านทางแอป WeChat ว่า
“โดยปกติแล้ว แก๊สที่เกิดจากการผายลมไม่ได้เป็นช่องทางของแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 เว้นแต่จะมีใครที่อยู่ใกล้ผู้ป่วย และได้สูดดมแก๊สในระยะประชิดจากผู้ป่วยที่ไม่สวมกางเกง”
CDC ยังกล่าวไว้ว่า ก่อนจะมาตอบคำถามนี้ ได้ทำการค้นคว้ามาก่อนแล้ว โดยอ้างถึงการทดลองการผายลมเมื่อหลายปีก่อนของ คาร์ล ครูสเซลนิคกี (Karl Kruszelnicki) และ ลุก เทนเนนท์ (Luke Tennent) ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ discovermagazine พร้อมข้อสรุปก็คือ กางเกงสามารถช่วยสกัดเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุปก็คือ ตราบใดที่ทุกคนสวมกางเกงอยู่ ก็ไม่ต้องกังวลว่า การผายลมจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคออกมา ในทางเดียวกันว่า การผายลมก็ไม่สามารถแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 ได้เช่นกันหากผู้ป่วยเชื้อสวมกางเกง
แต่หากผู้ติดเชื้อไม่ได้สวมกางเกง แล้วเกิดตดออกมาปริมาณมาก ๆ จนคนที่อยู่ใกล้สูดดมเข้าไป งานนี้ก็ตัวใครตัวมัน เพราะทุกอย่างก็อาจเกิดขึ้นได้