ในห้วงเวลานี้ ยิ่งทำให้ผู้คนหวาดกลัวมากขึ้น เมื่อชายหนุ่มวัย 35 ปี เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกของไทย และจะเกี่ยวข้องกับอาการป่วยไข้เลือดออกหรือไม่ จากความพยายามสื่อสารของกระทรวงสาธารณสุข ออกมาระบุว่า ชายคนนี้มีอาการป่วยไข้เลือดออกมาก่อน ยิ่งทำคนสงสัยสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง
ส่วนข้อเท็จจริงในอีกมุม รวมถึงเบื้องหลังการเสียชีวิตของชายหนุ่ม ทาง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และกรรมการให้คำปรึกษา เชื้อไวรัสโควิด 19 ยืนยันกับ ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่า ชายดังกล่าวเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการป่วยไข้เลือดออก ถือเป็นความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขในการให้ข่าวกับสื่อว่า การเสียชีวิตของชายวัย 35 เกี่ยวข้องกับโรคแทรกซ้อนเพื่อมากลบประเด็นติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นการไม่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้อง มีความพยายามบอกโรคนี้เป็นโรคติดต่อธรรมดา เช่นโรคหวัด โดยคนแข็งแรงจะไม่เป็น
แต่ตอนนี้คนแข็งแรงที่ออกไปข้างนอก จะเป็นตัวแพร่เชื้อ หากเจอเชื้อแรงๆ ก็มีโอกาสติดเชื้อไปยังคนอื่น โดยเฉพาะคนติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ เกรงว่าจะไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อได้ ทำให้ไม่รู้ว่ามีคนติดเชื้อมากเท่าใด จนแพร่กระจายไปเยอะ ตรงนี้ต้องยอมรับไทยต้องหลุดแน่ จนเอาไม่อยู่ในการคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่ค่อยๆ แพร่ไป โดยไม่รับมืออ้างว่าไทยเป็นประเทศที่รับมือเชื้อนี้ได้ระดับโลก
อยากให้ผู้เกี่ยวข้องยอมรับความจริงและต้องคุมเข้ม โดยเฉพาะขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานอย่างหนัก ติดตามสัมผัสผู้ติดเชื้อเป็นพันคน ก็จะตามไม่ไหว อย่าไปภูมิใจกับรางวัลที่ได้ว่าในอดีตเคยคุมได้ทั้งเมอร์ส และอีโบลา อย่าตักตวงความสำเร็จของคนหน้าด่าน ซึ่งมีคนน้อย ยิ่งมาเจอเชื้อโควิด ไม่รู้จะติดเชื้อเมื่อไร อย่าหน้าชื่นตาบานว่ารับมือได้ เพราะคนให้ข่าวไม่ใช่คนทำงานที่รู้ดีที่สุด
ขณะที่ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หรือยาต้านไวรัส ไทยได้มาจากจีน 20 กว่าโดส และอีก 100 โดส ซื้อมาจากญี่ปุ่น ซึ่งเท่ากับว่าไทยมีแค่นี้เท่านั้น หวังว่าคนติดเชื้อโควิด-19 จะไม่เพิ่มขึ้น หากไม่เช่นนั้นจะไม่เพียงพอในการรักษา ดังนั้นการที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขออกมาพูดว่า ยาเพียงพอนั้นไม่อยากให้พูด แต่อยากให้พูดว่าจะหายาเพิ่มมาจากที่ใดมารองรับ
ส่วนการที่ไทยจะเข้าสู่เฟส 2 หรือเฟส 3 หรือไม่ ประเมินยากมาก หากคิดแบบบัญญัติไตรยางค์ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการชัดเจนประมาณ 20% อีก 80% ติดเชื้อมีอาการเบาๆ หรือไม่แสดงอาการออกมาด้วยซ้ำไป จนกว่าร่างกายไม่ไหว ต้องไปโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีความกังวลว่า หากคนไข้เหล่านี้ไปหาหมอที่คลินิกมีหมอเพียงคนเดียวที่ตรวจ จะไหวตัวรับมือกันทันหรือไม่ เกรงว่าคลินิกจะเป็นพื้นที่เหมือนเป็นกระถางทำให้คนไข้อื่นติดเชื้อโควิด-19 ไปด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาคนมีอาการจำนวนมาก เลือกไปหาหมอที่คลินิกก่อน และเมื่อร่างกายไม่ไหวอีก 2-3 วันจึงไปโรงพยาบาล
เช่นเดียวกับกรณีของชายวัย 35 เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 มีอาการเป็นไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก ไปโรงพยาบาลเอกชนแถวสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 25 ม ค จนมาวันที่ 28 มค อาการดีขึ้น ทางแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ จึงกลับมาทำงาน กระทั่งวันที่ 30 มค.ในช่วงเช้า ได้เข้าโรงพยาบาลเดิมอีก และผลเลือดออกมาคล้ายๆ กับว่าเป็นไข้เลือดออก ซึ่งตรวจไม่เจอเชื้อโควิด 19 โดยมีพยาบาลอายุ 30 กว่าๆ ร่างกายแข็งแรง เข้าไปเจาะเลือด เพราะทราบว่าเป็นไข้เลือดออก จึงไม่มีการป้องกันอะไร
กระทั่ง 5 วันต่อมา ในช่วงวันที่ 6 กพ พยาบาลรายนี้ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งผลแล็บออกมาเป็นบวก โดยขณะนั้นร่างกายยังปกติ กระทั่งวันที่ 13 ก พ เริ่มมีอาการปอดบวมด้านซ้าย และวันที่ 15 ก.พ. ปอดบวมทั้ง 2 ข้าง
ช่วงนั้นทางโรงพยาบาลได้ให้ยาต้านไวรัสกับพยาบาล ตัวเดียวกับที่โรงพยาบาลราชวิถีใช้ แต่พอมาวันที่ 15 ก.พ. อาการแย่ลง เลยส่งต่อมาที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร มีการให้ยาต้านมาลาเรีย ผสมยาต้านเอดส์ คนละตัวกับที่ราชวิถี เป็นยาฟาวิพิราเวียร์ จนอาการดีขึ้น เชื้อโควิด-19 หาย ให้กลับบ้าน แต่ผลการตรวจปอดยังพบว่ามีปอดเสียหายจำนวนหนึ่ง จึงนัดทำซีทีสแกน ตรวจปอดใหม่ ว่าปอดเสียหายแค่ไหน
ในส่วนชายวัย 35 ได้ย้ายไปโรงพยาบาลบำราศนราดูร ตั้งแต่วันที่ 4 หรือ 5 กพ และนอนรักษาตัว 10 วัน โดยได้ยาตัวเดียวกันที่ฉีดให้กับพยาบาล แต่กลับพบว่าอาการแย่ลง ปอดบวม หายไม่ออก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจให้ออกซิเจน และได้พลาสม่าจากเลือดของคนขับแท็กซี่ที่เคยติดเชื้อ แต่อาการไม่ดีขึ้น โดยพบว่าปอดไม่เหลือ จนเสียชีวิต
นอกจากนี้ยังมีชายวัย 72 ปี คนขับรถรับส่งนักท่องเที่ยวจีน อาการเข้าขั้นวิกฤติน่าเป็นห่วง ซึ่งผู้เกี่ยวข้องพยายามบอกว่าเกี่ยวข้องกับวัณโรค เช่นเดียวกับการบอกว่าชายวัย 35 ปี เสียชีวิตจากไข้เลือดออก ทั้งๆ ที่ความจริงเกิดจากการติดเชื้อโควิด 19 โดยเคสการเสียชีวิตของชายวัย 35 ปี แสดงให้เห็นว่าคนแข็งแรง เป็นหนุ่มเป็นสาวก็ตายได้จากเชื้อโควิด-19 อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนสูงอายุเท่านั้น