คุกพิเศษกรุงเทพ รับตัว ”ปลอดประสพ”เป็นนักโทษใหม่ ป่วยอาจส่งขังทัณฑสถานรพ.
5 มี.ค.63 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี นายปลอดประสพ สุรัสวดี อายุ 75 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยคดีปฏิบัติหน้าที่ทิชอบฯ ที่ศาลได้ออกหมายจับให้ติดตามตัวมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1063/2558 ที่นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้เดินทางมารายงานตัวต่อศาลก่อนถึงกำหนดนัดวันที่ 7 เม.ย.นี้ พร้อมขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ ซึ่งนายปลอดประสพมีอาการป่วย ใส่หน้ากากอนามัยและนั่งรถเข็นมาศาล พร้อมทั้งมีบุตรชาย ญาติและคนใกล้ชิดนับ 10 คน มาร่วมให้กำลังใจด้วย.
ประวัติ
ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2488 เป็นบุตรของหลวงอนุการนพกิจ (ปรารภ สุรัสวดี) กับคุณหญิงกรองทอง สุรัสวดี (สกุลเดิม: วณิกนันทน์; ต่อมาเปลี่ยนชื่อสกุลเป็น หัสดิน) ต้นตระกูลของบิดาเป็นยกกระบัตรเมืองนางรอง และตัวหลวงอนุการนพกิจผู้บิดานั้น เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิคนที่ 24 ส่วนมารดาเป็นธิดาคนโตของพระยาหัสดินอำนวยศาสตร์ (สาย วณิกนันทน์) กับคุณหญิงเลื่อน หัสดินอำนวยศาสตร์
ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จบปริญญาตรีคณะประมงจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบปริญญาโทบริหารการประมงจากมหาวิทยาลัยโอเรกอนในสหรัฐอเมริกา จบปริญญาเอกนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยมานีโตบาในแคนาดา ได้รับปริญญาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นดุษฎีบัณฑิตเทคโนโลยีการประมงที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเป็นดุษฎีบัณฑิตประมงที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับธัญญา สุรัสวดี (สกุลเดิม: ประชาศรัยสรเดช) บุตรีเจ้าเกรน ประชาศรัยสรเดช กับเจ้าไข่มุกต์ ประชาศรัยสรเดช สืบเชื้อสายมาจากอดีตเจ้าผู้ครองนครแพร่มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายปิ่นสาย สุรัสวดี กรรมการบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด [4]อดีตเลขานุการกรมสรรพากรและ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช[5] และมีศักดิ์เป็นอาของ จรัสพงษ์ สุรัสวดี หรือซูโม่ตู้ นักแสดงชื่อดัง
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า
เมื่อวันที่ 4 ก.ย.46 นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น มีคำสั่ง 399/2546 แต่งตั้ง นายวิฑูรย์ โจทก์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรสหกรณ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.46 แต่จากนั้น มีการตรา พ.ร.ฎ.โอนกรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผลเมื่อลงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 ก.ย.46 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.กองการอนุญาต กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ต่อมาวันที่ 1 ต.ค.46-12 พ.ย.56 จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกคำสั่งกระทรวงทรัพยากรฯที่ 287/2546 เมื่อวันที่ 1 ต.ค.46 ให้ระงับการมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่ง 399/2546 ซึ่งแต่งตั้งโจทก์ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) โดยให้ถือว่า เป็นการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนอันเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ เพื่อยังยั้งไม่ให้โจทก์ได้เลื่อนตำแหน่ง สาเหตุเนื่องจาก โจทก์กับจำเลยมีเรื่องโกรธเคืองในเรื่องส่วนตัวกันมาก่อน
กระทั่งวันที่ 12 พ.ย.46 จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ ด้วยการให้นายดำรงค์ พิเดช ออกคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 543/2546 ย้ายโจทก์ไปตำแหน่ง “ป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ” เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 8 เป็นการย้ายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม อีกทั้งไม่ใช่ความจำเป็นที่ต้องรีบดำเนินการ และจำเลยทราบดีว่า นายดำรงค์ ไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ ดังนั้นคำสั่งย้ายที่จำเลยให้ความเห็นชอบ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลย จึงเป็นผลให้โจทก์ ได้รับความเสียหายต่อเสียชื่อเสียง และเสียสิทธิไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นระดับ 9 ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ 2 ล้านบาท เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. จำเลย ให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.60 ลงโทษจำคุกจำเลย เป็นเวลา 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และให้จำเลย ชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ ด้วย 1.4 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 17 เม.ย.61 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลย เป็นเวลา 2 ปี ไม่รอการลงโทษ และชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย 1.4 ล้านบาท
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของนายปลอดประสพ จำเลย ขณะดำรงตำแหน่งปลัด ทส. ที่ให้นายดำรงค์ออกคำสั่งใหม่ให้ นายวิฑูรย์ โจทก์ย้ายไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 8 เป็นการย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม และเป็นการโยกย้ายโดยเร่งด่วน ไม่ได้หารือต่อคณะกรรมการ ที่จำเลยอ้างว่า มีปัญหาเรื่องตำแหน่งใหม่ของโจทก์ เมื่อมีการโอนย้ายสังกัดกรมป่าไม้ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาสังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ จากคำเบิกความของพยานที่ตอบคำถามยังได้ความว่าตำแหน่ง ผอ.สำนักงานวิชาการ 9 นั้น มีกระบวนการสรรหาผู้มีคุณสมบัติ ซึ่งโจทก์มีคุณสมบัติ ต่างจากที่จำเลยอ้าง ดังนั้นการออกคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งโจทก์ และการย้ายนายดำรงค์มาในตำแหน่งทับซ้อนกับโจทก์จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและทางเจริญก้าวหน้าในอาชีพ การแต่งตั้งโยกย้ายระบบราชการนอกจากความเหมาะสมแล้ว จะต้องคำนึงถึงคุณธรรมและธรรมาภิบาลแต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของจำเลยแล้ว เป็นการกระทำที่ทำลายระบบคุณธรรมและธรรมาภิบาลในระบบราชการจึงไม่ควรรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ฯ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1.4 ล้านบาทนั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น