กรณีออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพื่อฆ่าเชื้อสำหรับมนุษย์ สัตว์และเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2562 และจะบังคับใช้ในวันที่ 11 มี.ค. 2563 ส่งผลให้บริษัทเครื่องสำอางที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ไม่สามารถผลิตเจลแอลกอฮอล์ หรือเจลล้างมือออกสู่ตลาดได้ ซึ่งขณะนี้กำลังมีปัญหาเรื่องโรคโควิด-19 ทำให้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือยิ่งเป็นที่ต้องการ
ล่าสุดวันที่ 5 มี.ค. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศเก่า ตั้งแต่โลกยังไม่รู้จักโควิด-19 แต่ตอนนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก เราต้องระดมทุกทรัพยากรมาช่วยกันสกัดโรคนี้ จึงสั่งการให้ยกเลิกประกาศฉบับนี้ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ปฏิบัติตามแล้ว เท่ากับผู้ผลิตเครื่องสำอางกลับมาผลิตเจลแอลกอฮอล์ได้ จากนี้เจลล้างมือจะทยอยเข้าสู่ตลาดบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแน่นอน
ด้านภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการอย. กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการป้องกันคือ เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งประชาชนหาซื้อเป็นจำนวนมาก จนผลิตภัณฑ์ขาดตลาดและมีหลายภาคส่วนกังวลว่า การปรับสถานะของเจลล้างมือแอลกอฮอล์จากเครื่องสำอางเป็นเครื่องมือแพทย์ ยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ขาดแคลนมากขึ้น อย.รับนโยบายจากรมว.สาธารณสุข ที่ต้องการให้ประชาชนมีเจลล้างมือแอลกอฮอล์มีใช้อย่างเพียงพอ หรือสามารถทำใช้ได้เอง อย.จึงเชิญผู้ประกอบการผลิตเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ชี้แจงให้เข้าใจสถานะของผลิตภัณฑ์ว่า ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตามเดิม
ภญ.สุภัทรา กล่าวอีกว่า คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์มีมติให้ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ไม่ต้องเป็นเครื่องมือแพทย์ และให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายของเครื่องสำอาง โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 70 % ขึ้นไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และชี้แจงให้ผู้ประกอบการทราบวิธีการผลิตที่ถูกต้อง และเร่งเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมทั้งเตรียมมาตรการอำนวยการความสะดวกในการรับจดแจ้ง และให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานและมีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า นอกจากนี้อย.ขอแนะนำสูตรเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำเองได้ 4 สูตรดังนี้
สูตร 1 ดัดแปลงจากองค์การอนามัยโลก
วิธีทำ นำเอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol 95% v/v) 833.3 มิลลิลิตร ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide 3%) 41.7 มิลลิลิตร และกลีเซอรีน (Glycerin 98%) 14.5 มิลลิลิตร ผสมให้เข้ากันในภาชนะที่มีปริมาตรบอกขนาด 1,000 มิลลิลิตร แล้วเติมน้ำกลั่นหรือน้ำต้มสุกที่ทิ้งให้เย็นแล้ว จนครบ 1,000 มิลลิลิตร คนเบาๆ ให้เข้ากัน
สูตรที่ 2 จากองค์การอนามัยโลก
วิธีทำ นำไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol 75% v/v) 751.5 มิลลิลิตร ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide 3%) 41.7 มิลลิลิตร และกลีเซอรีน (Glycerin 98%) 14.5 มิลลิลิตร ผสมให้เข้ากันในภาชนะที่มีปริมาตรบอกขนาด 1,000 มิลลิลิตร แล้วเติมน้ำกลั่นหรือน้ำต้มสุกที่ทิ้งให้เย็นแล้ว จนครบ 1,000 มิลลิลิตร คนเบา ฃๆ ให้เข้ากัน
สูตรที่ 3 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
วิธีทำ ค่อย ๆ เทคาโบพอล 940 (Carbopol 940) จำนวน 2.5 กรัม ลงในน้ำร้อน 142.75 กรัม คนให้สม่ำเสมอจนละลายหมด ก่อนจะปล่อยให้พองตัวเต็มที่ แล้วเติมเอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol 95% v/v) 350 กรัม คนไปเรื่อย ๆ ให้เข้ากัน จากนั้นเติมไตรเอทาโนลามีน (triethanolamine) 1.75 กรัม เพื่อปรับความเป็นกรดด่าง เติมกลีเซอรีน (glycerin) 3 กรัม เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน จะได้แอลกอฮอล์เจลประมาณ 500 กรัม
สูตรที่ 4
วิธีทำ นำเอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol 95% v/v) 75 มิลลิลิตร ผสมกับกลีเซอรีน (glycerin) 5 มิลลิลิตร และน้ำสะอาด 20 มิลลิลิตร คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
กฎส่วนประกอบในการทำเจลล้างมือต่างๆ ประชาชนสามารถหาซื้อวัตถุดิบได้จากร้านขายเคมีภัณฑ์หรือร้านขายยาขององค์การเภสัชกรรม ส่วนวิธีการใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ที่ถูกต้องนั้น ควรลูบให้ทั่วฝ่ามือและนิ้วมือ ทิ้งไว้ 20-30 วินาที จนแอลกอฮอล์แห้ง หากรู้สึกว่าผิวแห้งสามารถใช้ครีมบำรุงผิวร่วมได้ และระมัดระวังการเก็บหรือการใช้ อย่าวางเจลใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ เพราะแอลกอฮอล์ติดไฟง่าย
สุดท้ายนี้ขอฝากไปยังผู้บริโภคขอให้ตรวจสอบเลขที่จดแจ้งก่อนซื้อเจลล้างมือเพื่อให้มั่นใจว่าได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไปตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากการใช้เจลล้างมือที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ถึง 70% เป็นประจำอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาได้" รองเลขาธิการ อย.กล่าว