เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทดสอบประสิทธิภาพของหน้ากากผ้า เพื่อทดแทนการใช้หน้ากากอนามัย โดยการทดสอบ 4 หลัก ดังนี้ 1. ทดสอบโดยการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อศึกษาเส้นใยผ้าในการกันอนุภาค 2. ทดสอบประสิทธิภาพการซึมผ่านของละอองน้ำ ละอองฝอย 3. ทดสอบการเป็นขุยด้วยวิธีการซักหลาย ๆ ครั้ง 50-100 ครั้ง 4. ทดสอบโดยใช้ผ้าที่มีราคาถูก หาซื้อได้ตามท้องตลาด สามารถทำกันได้ในชุมชน
โดยการทดสอบใช้ ผ้าฝ้ายดิบ ผ้าฝ้ายมัสลิน ผ้านาโน ผ้ายืด และผ้าสาลู ยกตัวอย่าง ผ้าฝ้ายมัสลิน ราคาเมตรละ 85 บาท สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ผลจากการทดสอบเรื่องการป้องกันอนุภาคขนาดเล็ก พบว่า ผ้าฝ้ายมัสลิน ผ้านาโน และผ้าฝ้ายดิบ มีคุณสมบัติป้องกันอนุภาคขนาดเล็กได้ดี แต่เมื่อนำมาซ้อนกัน 2 ชั้น พบว่าดีที่สุดคือ ผ้าฝ้ายมัสลิน และผ้านาโน คุณสมบัติใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัย เมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์
ผลการทดสอบเรื่องการซึมผ่านของน้ำ พบว่า ผ้ามัสลิน และ ผ้าสาลู ที่ใช้สำหรับทำผ้าอ้อมเด็ก มีคุณสมบัติกักน้ำได้ดี น้ำซึมผ่านได้ยากกว่า ผ้านาโน และผ้าดิบ
ผลการทดสอบเรื่องการซักล้าง พบว่า ผ้านาโน เมื่อนำไปซักล้างประมาณ 10 ครั้ง เส้นใยเริ่มเสื่อมสภาพ แต่ผ้าฝ้ายมัสลินและผ้าสาลู เมื่อซักประมาณ 100 ครั้ง คุณสมบัติยังดีอยู่
สรุปก็คือจากผลการทดสอบสรุปว่าผ้าฝ้ายมัสลิน มีความเหมาะสม ในการนำมาใช้ทำหน้ากากผ้า 2 ชั้นมากกว่าผ้าชนิดอื่น เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีหลายด้าน คือ สามารถกันละอองน้ำและเส้นใยผ้าสามารถกันอนุภาคได้ดีกว่าผ้าชนิดอื่นและที่สำคัญสามารถนำมาใช้งานได้หลายครั้ง อย่างไรก็ตามเพื่อความสะอาดของหน้ากากผ้าแนะนำให้ซักล้างและตากแห้งทุกวัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทั้งนี้ประชาชนต้องป้องกันตัวเองโดยไม่เอามือไปสัมผัส หน้ากาก ขณะสวมใส่ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคมาติด ซึ่งอาจจะเข้าสู่จมูกหรือปากได้และล้างมือบ่อยๆ