นี่คือภาวะสงครามระหว่างมนุษย์กับเชื้อไวรัส COVID-19

guest profile image guest

  • ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองและโรคอุบัติใหม่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และเป็นผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน
  • ไวรัสที่เราเผชิญกันอยู่ตอนนี้มีทั้งแบบดุร้าย (L) และแบบนุ่มนวล (S) โดยไวรัสต้นตอที่ระบาดจากคนสู่คนคือชนิดที่นุ่มนวล จนกระทั่งต้นเดือนมกราคม 2020 จากตัวนุ่มนวลได้กลายเป็นตัวดุร้ายทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าเมื่อมันพร้อมบุกมนุษย์ มันก็พร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นตัวดุร้าย แล้วอะไรคือทางรอดของมนุษยชาติ บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ

ในประวัติศาสตร์ มนุษย์เผชิญหน้ากับ Pandemic มาแล้วหลายครั้ง ครั้งใหญ่ที่อยู่ในความทรงจำ คือไข้หวัดสเปนจากเชื้อไวรัส H1N1 เมื่อปี 1918 ผ่านมาร้อยปีเศษ มนุษยชาติต้องเผชิญหน้ากับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เกิดเป็นโรคอุบัติใหม่ COVID-19 อีกครั้ง

        คราวนี้เริ่มต้นในเดือนธันวาคม 2019 จนกระทั่งล่าสุด วันที่ 12 มีนาคม 2020 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนานี้เป็น ‘การระบาดใหญ่’ หรือ Pandemic อย่างเป็นทางการ หลังจากเชื้อลุกลามและกระจายตัวไปทั่วโลก ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อกว่าแสนคน คร่าชีวิตไปแล้วกว่า 4,000 ชีวิต

        ร้อยกว่าปีที่ผ่านมา โลกไม่ได้เผชิญแค่เพียง H5N1 แต่ต้องเผชิญกับเชื้ออุบัติใหม่หลายชนิดที่องค์การอนามัยได้ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) หลายโรค หนึ่งในนั้นก็คือโรคเอดส์ โรคอีโบลา โรคซาร์ส โรคเมอร์ส ไข้หวัดใหญ่ 2009 จนมาถึงโควิด-19 

        โลกได้ให้โอกาสและบทเรียนกับมนุษย์เพื่อผ่านพ้นวิกฤตมานับครั้งไม่ถ้วน แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อถึงคราวเกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง มนุษย์หลงลืมวิชาเอาตัวรอดทั้งในระดับปัจเจกและระดับประเทศจนลุกลามไปทั่วโลก

        “นี่คือภาวะสงครามระหว่างมนุษย์กับเชื้อไวรัส เราทุกคนต้องพร้อมรบ” ศ. นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวจากข้อเท็จจริงและประสบการณ์ที่เคยผ่านโรคอุบัติใหม่มามากมาย 

        “หากอยากให้โลกสงบ ไม่ต้องเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ ก็ต้องต้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ชาญฉลาดตัวนี้ให้ได้ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า” หมอธีระวัฒน์ยืนยัน พร้อมกับคำอธิบายข้อเท็จจริง ตัวอย่างของประเทศที่มีวิธีการสร้างเกราะป้องกันให้กับประเทศ เพื่อรักษาชีวิตของพลเมืองได้อย่างทันท่วงที วิธีการเตรียมสู้รบกับเชื้อไวรัสให้กับร่างกายตัวเองและประเทศชาติ พร้อมเสนอแนวทางมาตรการป้องกันประเทศขั้นสุด 

        วันนี้ คุณพร้อมรบแล้วหรือยัง?   

 

เชื้อไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดมากว่าสามเดือนแล้ว และสร้างความตื่นกลัวให้คนทั่วโลก COVID-19 น่ากลัวมากขนาดไหน

        ตอนนี้ไวรัส COVID-19 มันชาญฉลาด และเก่งกว่าไวรัสโรคอุบัติใหม่ที่เคยผ่านมา โดยเฉพาะไวรัสโคโรนาที่เริ่มต้นมาจากค้างคาวราวปี 2004 นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนเข้าไปสำรวจค้างคาวในพื้นที่ระบาดของซาร์ส และไปพบไวรัสโคโรนาซึ่งไม่รู้จักชื่ออยู่สองตัวในค้างคาวตัวเดียว เขาจึงเริ่มตั้งข้อสังเกตและเริ่มวิตกนิดๆ ว่าโคโรนาสองตัวนี้จะมีโอกาสผสมควบรวมกันเป็นตัวใหม่ แล้วเกิดวิวัฒนาการเข้าสู่สัตว์ตัวกลางที่ข้อสันนิษฐานกันคือตัวลิ่น ตัวนิ่ม เหมือนไวรัสได้ประกาศสงครามอย่างชัดเจนด้วยการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนมาตั้งแต่ประมาณเดือนพฤศจิกายนเมื่อปีที่ผ่านมา จนกระทั่งวันที่ 1 ธันวาคมในปีเดียวกัน เมืองอู่ฮั่นได้กลายเป็นพิกัดของการแพร่ระบาดจากคนสู่คน โดยข้อมูลเราคิดว่า ต้นตออยู่ที่ตลาดค้าปลาและสัตว์

เชื้อไวรัสตัวนี้น่าจะมีอยู่แล้วในธรรมชาติ เช่น ในสัตว์บางชนิด แต่กลับระบาดแบบคนสู่คนในเวลาแค่ไม่กี่เดือน เพราะเหตุใด

        เราพบว่าไวรัสชนิดนี้มีทั้งแบบดุร้าย (L) และแบบนุ่มนวล (S) โดยไวรัสต้นตอที่ระบาดจากคนสู่คนคือชนิดที่นุ่มนวล จนกระทั่งต้นเดือนมกราคม 2020 จากตัวนุ่มนวลได้กลายเป็นตัวดุร้ายทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าเมื่อมันพร้อมบุกมนุษย์ มันก็พร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นตัวดุร้าย และเมื่อเข้ามนุษย์ ในตัวมนุษย์เองก็จะมีแอนติบอดีต่อต้านไวรัสพวกนี้อยู่ ร่างกายพยายามกดดันไวรัสดุร้ายให้กลับคืนเป็นพวกนุ่มนวลใหม่ ในขณะเดียวกันไวรัสพวกนี้เมื่ออยู่บนพื้นผิวต่างๆ มันมีแรงกดดันจากการชะล้างความสะอาดพื้นผิว รวมทั้งการให้ยาต่างๆ กับผู้ป่วยติดเชื้อ ก็เป็นแรงกดดัน ทำให้ไวรัสตัวดุร้ายกลับไปเป็นพวกนุ่มนวล จากสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้ว่า L จะเยอะอยู่บ้าง แต่ S ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

เชื้อดุร้ายและนุ่มนวลมีวิธีวิธีการแพร่เชื้อต่างกันหรือเปล่า 

        มีความเป็นไปได้ เพราะการที่เชื้อไวรัสเปลี่ยนหน้าและร่างใหม่ก็อาจจะทำให้มีความผันแปรของการแพร่กระจาย การติดต่อ อาการของผู้ติดเชื้อ อัตราการตาย รวมไปถึงวิธีการแพร่ด้วย อาจจะแพร่ได้ทางอากาศแทนการแพร่จากการสัมผัสหรือละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสอยู่เหมือนที่ผ่านมา

เพราะเหตุใดไวรัสตัวนี้ถึงได้กระจายไปในโลกได้กว้างขวางในเวลาอันสั้น

        เพราะมันล่องหนได้ (หัวเราะ) มันแทรกซึมได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่หยุดนิ่ง แถมสิงอยู่ในคนเพื่อให้ตัวเองสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก หมายความว่า เมื่อคนหนึ่งติดเชื้อ ในช่วงระยะเวลาฟักตัวก็สามารถแพร่เชื้อได้ และเมื่อเริ่มเกิดอาการแล้วก็สามารถแพร่เชื้อได้อีก แต่คนที่ติดเชื้อไวรัสกลับมีอาการน้อย หรือบางคนไม่มีอาการ อาการน้อยแบ่งออกเป็นสองลักษณะคือ อาการน้อยจริงและแพร่เชื้อน้อย หรืออาการน้อยแต่แพร่เชื้อมาก เหตุผลที่อาการน้อยแต่แพร่เชื้อมากเพราะไวรัสในคนจำนวนหนึ่งมันลงไปที่ปอดอย่างเดียว กินไปที่ปอดลึกๆ ทำให้คนไข้ไม่มีอาการไอ ไม่จาม เพราะไม่ได้อยู่ที่คอ แต่อยู่ด้านล่าง ดังนั้น คนกลุ่มนี้ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ 

        และเมื่ออาการน้อยแพร่เชื้อเก่ง ทำให้เราโฟกัสไปที่คนติดเชื้อในกลุ่มวัยหนุ่มสาว เป็นคนที่ไม่มีโรคประจำตัว คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีความแอ็กทีฟในการทำงาน ท่องเที่ยว พบปะสมาคม ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อได้ดี แต่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หรือกลุ่มคนที่ไม่ได้ท่องเที่ยว กลายเป็นผู้รับเคราะห์ที่ได้รับเชื้อจากคนที่แพร่มา และยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้มากกว่าอีกต่างหาก

นอกจากการแพร่ระบาดจากคนสู่คน ปัจจัยทางด้านอากาศก็มีผลต่อการแพร่เชื้อด้วย

        ใช่ อากาศที่ว่านั้นจะต้องประกอบไปด้วยความร้อน อุณหภูมิ ความแห้ง และแสงแดด อย่างในประเทศอิหร่าน แม้ว่าอากาศร้อนก็จริง แต่มีความชื้น ในขณะที่ประเทศไทยอากาศร้อนแต่แห้งกว่า ส่วนทางฝั่งยุโรปซวยหนัก ทั้งเย็น ทั้งชื้น และแสงแดดน้อย ผู้เชี่ยวชาญจีนจึงประเมินถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศไทยและอินเดียว่าอาจจะดีกว่าทางฝั่งยุโรปและตะวันออกกลางในแง่ของสามปัจจัยที่ส่งผลต่อเชื้อไวรัส เนื่องจากเชื้อตัวนี้จะอยู่ได้นาน 9 วันที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส หรือจริงๆ แล้วเราได้รับการคุ้มครองจากพระสยามเทวาธิราช คอยปกป้องรักษาอยู่ (หัวเราะ)

คุณหมอคิดเห็นอย่างในกรณีที่สำนักข่าว the Atlantic ได้รายงานการคาดการณ์ว่าจะเกิดการระบาดทั่วโลกมากถึง 60% 

        เป็นเรื่องจริง และทั่วโลกจะต้องมีการติดเชื้อแบบนี้ โลกถึงจะสงบ นั่นหมายถึงคนทั่วโลกจะต้องติดเชื้อแต่ไม่ตาย หรือติดเชื้อแต่มีอาการน้อยมากและหายได้เอง นี่คือการได้รับวัคซีนตามธรรมชาติ และเมื่อเชื้อไวรัสได้มาโจมตีเรา ก็เหมือนกับการยืนเข้าแถว เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่กั้นคนข้างหลังไม่ให้ติดเชื้อไปด้วย ที่เรียกว่า Herd Immunity ภูมิคุ้มกันหมู่

ภูมิคุ้มกันหมู่ช่วยอะไรได้แค่ไหน

        ภูมิคุ้มกันหมู่เป็นความจำเป็นเพื่อให้โรคสงบ เปรียบเสมือนการได้รับวัคซีนตามธรรมชาติ แต่ควรค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย การที่ประเทศไทยยังมีผู้ป่วยรุนแรงไม่มาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ถ้ามีการทะลักเข้ามาของผู้ติดเชื้อและแพร่ไปมาก จะเป็นฟางเส้นสุดท้าย เพราะหากบ้านเรายันไม่อยู่ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้าอาจจะต้องประสบสภาพเช่นนั้น ภาพที่เลวร้ายที่สุดก็คือ การติดเชื้อพร้อมกันที่พุ่งสูงขึ้นในเวลาสั้นๆ สมมติว่ามีการติดเชื้อไวรัส 30 ล้านคน ในเวลา 2 ปี ก็แปลว่าจะมีผู้ติดเชื้อเดือนหนึ่งเป็นแสนคน โดยในจำนวนนี้ 80% จะไม่ตาย อีก 20% จะมีอาการหนัก แต่หากเราไม่ต้องการเห็นภาพนั้น เราก็ต้องพยายามกดและยืดเวลาออกไป อาจใช้เวลานานถึง 6-7 ปี เพื่อให้เชื้อไวรัสแพร่ไปช้าๆ และในขณะนั้นเราน่าจะมีวัคซีนแล้ว

 

ทุกประเทศที่เชื้อไวรัสบุกโจมตี ก็ต้องต้านทานให้ได้

        ใช่  ทีนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศจะมีความสามารถยันได้มากน้อยแค่ไหน อย่างประเทศจีนยอมตัดแขนเพื่อรักษาร่างกายทั้งร่าง เขาเลือกปิดเมือง ปิดประเทศ ปิดบ้าน ไม่ยอมให้ใครเข้าหรือออก เพียงแค่สามสัปดาห์ แล้วบิ๊กคลีนนิงเดย์ส่งผลให้สถานการณ์ที่เมืองจีนค่อยๆ ดีขึ้น และต่อจากนี้หากใครเข้าเมืองจีนจะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะเขาไม่ต้องการให้คนนอกประเทศที่ติดเชื้อนำเชื้อกลับมาติดอีกระลอก

จนถึงทุกวันนี้ หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยจะเข้าสู่การระบาดระยะสามหรือไม่ คุณหมอมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

        หรือจริงๆ แล้วเราอาจจะอยู่สามแล้วก็ได้ ตามการระบาดอย่างหนาแน่น แต่เผอิญผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหนัก หรืออาจคิดว่าเป็นคนไทยด้วยกันเองแล้วไม่ได้ไปในประเทศเสี่ยงหรือท่องเที่ยวจึงไม่ได้ตรวจหรือเปล่า เรื่องนี้ผมฝากไว้เป็นคำถาม แต่ถ้าเราอยากให้ประเทศไทยรอด คนไทยทั้งประเทศก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน และช่วยกันยันให้ถึงที่สุด เพราะรอบนี้ถ้ากรุงแตก จะยับเยินและกินเวลานาน 

เราควรระวังตัวมากแค่ไหน มีคนบอกว่ามีแต่คนที่แพนิกเท่านั้นถึงจะรอด

        ขอยกตัวอย่างของการแพนิกเห็นชัดๆ คือเมืองเซี่ยงไฮ้และกว่างโจวมองว่า ‘น่ากลัว’ เพราะพวกเขาได้ผ่านวิกฤตสมัยโรคซาร์ส โดยไม่มีบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิตเลย และเพราะการตื่นตระหนักในครั้งนั้น รวมถึงครั้งนี้ เขาจึงเลือกที่จะปกป้องตัวเองด้วยมาตรการที่เข้มที่งวดสุด แล้วไม่แพนิก ทั้งสองเมืองจึงรอด

ตื่นตระหนกได้ ก็ต้องระแวดระวังให้เป็น เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือเรื่องอะไร

        อันดับแรกก็คือการห้ามพูดว่าในคนหนุ่มสาวจะไม่เป็นอะไร คนไม่มีโรคประจำตัวก็จะไม่เป็นอะไร เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพูดแบบนี้เมื่อไหร่ คนหนุ่มสาวก็จะไม่ใส่ใจตัวเอง กลายเป็นตัวแพร่เชื้อ และมิหนำซ้ำตัวเองก็จะตาย เพราะไม่สนใจตัวเอง รวมไปถึงการพูดว่า โรคนี้ ‘ไม่น่ากลัว’ คำคำนี้ได้ส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่จนทำให้เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกิดการแพร่ระบาดแบบระเบิดเถิดเทิงในเมืองอู่ฮั่นมาแล้ว เพราะที่นั่นยืนยันว่าไม่น่ากลัวในตอนต้น จนเชื้อไวรัสได้เข้ามาในเมืองสู่ชาวอู่ฮั่น โดยผู้ติดเชื้อกว่า 80% ไม่แสดงอาการ มีเพียง 20% เท่านั้นที่แสดงอาการ 

        ทั้งหมดเป็นเหตุให้เจ้าเชื้อไวรัสบุกโรงพยาบาล ทำให้หมอและพยาบาลติดเชื้อไปด้วย ก่อนจะแพร่ไปติดคนอื่นๆ ในโรงพยาบาล ข่าวสารได้กระจายออกไป ทำให้ชาวเมืองต่างพากันตกใจ จากที่คิดว่าไม่น่ากลัว และไม่เจอในคนหนุ่มสาว พอเห็นเหตุการณ์นี้ก็เข้าสู่ขั้นที่สาม คือแพนิก เมื่อแพนิกก็เข้าสู่ขั้นที่สี่คือแห่เข้าไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งกลายเป็นจุดแพร่เชื้อที่ดีในเมืองอู่ฮั่น นี่คือเรื่องจริงจากผู้เชี่ยวชาญจีน ซึ่งได้คุยกันมาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (7 มีนาคม 2563)

เพราะคำว่าไม่น่ากลัวนั้นมีส่วนทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทางฝั่งยุโรปเลวร้าย

        ถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด เพราะยังมีเรื่องของศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี อย่างในอิหร่านเป็นประเทศตะวันออกกลาง ต้องมีการละหมาด คุกเข่าและก้มศีรษะลงไปที่พื้น ซึ่งเต็มไปด้วยเชื้อไวรัส เมื่อแตะพื้นก็นำมือนั้นมาสัมผัสที่ใบหน้า รวมทั้งเมื่อมีคนเสียชีวิต ญาติๆ จะต้องไปอำลาเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการกอดและจูบ นี่คือทางแพร่เชื้อไวรัสที่รวดเร็วมาก ในขณะที่ประเทศจีน เมื่อเสียชีวิตจะเผาทันที

        ส่วนการระบาดของทางฝั่งยุโรปอย่างอิตาลี ทักทายกันด้วยการกอดและหอมแก้ม บวกกับมีความเชื่อเรื่องการไม่ใส่หน้ากากอนามัย เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญในยุโรปมักจะใช้คำว่า คนปกติไม่ให้ใส่หน้ากาก แต่มันผิด ผู้เชี่ยวชาญจีนก็ออกมาบอกว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณเข้าไปในที่ชุมชน คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนที่ยืนอยู่ห่างคุณออกไป 1 เมตร จะมีเชื้อไวรัสหรือเปล่า ในเมื่อคุณรู้ว่าตรงนี้เป็นละอองฝอย คุณแค่ใส่หน้ากากเพื่อปิดละอองฝอยทุกคน ก็จะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสเข้าสู่ตนเองและป้องกันไม่ให้ไวรัสจากตัวเองไปสู่คนอื่นได้    

เมื่อเกิดการระบาดเช่นนี้ คุณหมอได้มีการเสนอแนวทางการกักตัวของบุคคลที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง หรือมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงอย่างไรบ้าง

        สำหรับผม มองว่าเราไม่ควรจะแบ่งแยกว่าเป็นคนไทยหรือไม่ใช่คนไทย หรือมาจากพื้นที่เสี่ยง จริงๆ  ทุกคนเสี่ยงหมด และไม่ควรใช้คำว่าคนนี้ทำผิดกฎหมายหรือคนนี้ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แล้วกักกันตัวต่างกัน แต่สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ ขอร้องให้ประเทศนั้นๆ ต้องมีการคัดกรองและกักตัวทั้งขาออก (Exit screening) และขาเข้า (Entry Screening) อย่างน้อยก็จะสามารถชะลอได้ประมาณ 10-14 วัน ทางผมได้มีการเสนอมาตรการกักตัวของบุคคลที่เข้ามาจากประเทศเสี่ยง คือทุกคนที่เข้ามาต้องมีการคัดกรอง (identity) และสามารถติดตามตัวได้ผ่านระบบ GPS จากสมาร์ตโฟนของแต่ละคน ด้วยกระบวนการตรวจสอบที่แบ่งออกเป็นสองประการคือ รูปแบบการกักตัวสำหรับคนไทย คือ Home Quarantine การกักตัวอยู่บ้าน และ Hotel Quarantine สำหรับนักท่องเที่ยว จากนั้นให้เจ้าหน้าที่คอยสอดส่องว่าคุณกักตัวจริงหรือไม่และกักตัวอย่างถูกวิธีหรือเปล่า   

        ประการต่อมาคือต้องมีเจ้าหน้าที่คอยโทรศัพท์โดยไม่เลือกเวลาเพื่อติดต่อกับบุคคลนั้นๆ พร้อมดูสถานะของจีพีเอสได้แบบเรียลไทม์ว่าบุคคลนั้นอยู่พิกัดเดิมจริงหรือเปล่า หากมีการรับสาย แต่พิกัดอยู่นอกวงจำกัด ก็โดนจับเข้าคุกได้ ส่วนนักท่องเที่ยวหากอยู่นอกโรงแรมก็เช่นกัน จะต้องจับตัวเพื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่กักตัวของทางการ (State Quarantine) แต่สำหรับโรงแรมอาจจะต้องมีการกำหนดเรื่องระยะห่างของบุคคล เช่น ระยะห่างของการรับประทานอาหารของแต่ละคนอย่างน้อย 1 เมตร ซึ่งในโรงแรมค่อนข้างมีพื้นที่จำกัด ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น มาตรการนี้ต้องเร่งทำขึ้นอย่างเร่งด้วย ไม่เช่นนั้นหากต่อจากนี้ยังมีคนเข้าออกบ้านเรามากกว่า 4-5 ประเทศ อาจจะตายมากกว่านี้ 

นอกจากการกักตัวแล้ว สถานการณ์ในบ้านเราตอนนี้ ขั้นตอนหรือมาตรการใดที่ต้องนำมาใช้เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

        หนึ่ง เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่สบายต้องแยกตัว สอง ไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง สาม ต้องมีการทำความสะอาดเพื่อฆ่าไวรัสในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งระบบขนส่งต่างๆ อย่างเอ็มอาร์ที บีทีเอส เพราะมีข้อพิสูจน์ออกมาแล้วว่าเชื้อไวรัสจากผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยจะกระจายตามรอบๆ ตัวพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นที่โต๊ะ ห้องน้ำ ลูกบิดประตู อ่างล้างมือ หรือแม้กระทั่งชักโครกก็มีไวรัสเต็มไปหมด ทีนี้เมื่อในบีทีเอสมีเชื้อไวรัสจากคนหนึ่ง เชื้อก็จะไปติดบางส่วนของพื้นที่คนข้างๆ เช่น เสื้อ คนข้างๆ ก็เผลอจับเสื้อแล้วลืมล้างมือ แล้วสัมผัสที่ใบหน้าหรือปากอย่างไม่รู้ตัว ก็ติดเชื้อไวรัสไปด้วยได้

        ที่สำคัญจะต้องมีการเลื่อนเวลาไม่ให้ผู้คนรวมกันเป็นหมู่มาก เช่น ออกมาตรการให้ทำงานที่บ้านเพื่อลดการใช้บริการสาธารณะต่างๆ และเข้ามาแออัดในที่ทำงาน แต่ถ้าจำเป็นต้องมาทำงานเพราะติดประชุม ก็ต้องจัดที่นั่งห่างกันให้มากที่สุด รวมทั้งการกินข้าวในเวลาพักกลางวัน โดยทางด้าน ‘หมอแก้ว’ – ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้บอกว่า ต้องปล่อยพักกลางวันให้กินข้าวไม่พร้อมกัน เพื่อให้เกิดการกินแบบหนึ่งโต๊ะหนึ่งคน พร้อมเลื่อนเวลาเลิกงาน ปล่อยกลับบ้านให้ไม่พร้อมกัน เพื่อลดการให้ผู้คนเข้ามาอยู่รวมกันในที่เดียวจำนวนมากๆ เช่นกัน และต้องใช้มาตรการ Full Protection โดยเฉพาะผู้ให้บริการสาธารณะ ทางด้านผู้เชี่ยวชาญจีนแนะนำว่า ควรให้คนขับรถขนส่งสาธารณะ คนขับรถโรงเรียน หรือคนขับแท็กซี่ รวมถึงหมอและพยาบาล ใส่ชุดป้องกันไวรัสเต็มรูปแบบ และต้องดูแลตัวเองให้ดีกว่าผู้คนทั่วไป เพราะคนเหล่านี้จะต้องเจอกับผู้คนมากมาย อย่างคนขับรถโดยสารประจำทางก็จะต้องเจอกับผู้โดยสารขึ้นลงตอนทั้งวันและอยู่แต่ในรถ ในขณะที่ผู้โดยสารขึ้นมาแล้วก็ลงไป หากคนเหล่านี้ติดเชื้อไวรัสก็จะสามารถแพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆ ในรถต่อได้ 

 

สำหรับคนทั่วไป หากไอ เจ็บคอ มีไข้ ควรทำอย่างไร

        ควรแยกตัวทันที บอกที่ทำงานไว้เพื่อขอส่งงานอยู่ที่บ้าน และก็อย่าลืมบอกที่บ้านให้คอยส่งข้าวส่งน้ำให้ด้วย อย่าลืมแวะมาดูบ่อยๆ มาดูว่าเราตายหรือยัง (หัวเราะ) แต่หากดูแล้วอาการไม่สู้ดีนัก ก็ต้องแจ้งทางกับโรงพยาบาล แจ้งข้อมูลให้ชัดเจน โดยเฉพาะเคยไปในพื้นที่เสี่ยงหรือใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยง เพื่อให้ทางโรงพยาบาลจัดรถพยาบาลที่เหมาะสมมารับ ไม่ใช่ขึ้นรถแท็กซี่ เพราะคนขับที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่รับขึ้นไปก็ติดไปด้วย พอผู้โดยสารคนต่อมาขึ้นก็พลอยติดไปด้วย ซวยอีก และต้องไม่รอให้อาการหนักถึงจะโรงพยาบาล

เรามักจะได้ยินคำว่า เป็นแค่นี้เอง โอเวอร์เกินไปหรือเปล่า

        บอกเขาว่า ไม่โอเวอร์ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นตัวแพร่เชื้อที่ดี หากคุณเป็นแล้วไปแพร่ให้เพื่อนร่วมงาน เพื่อนที่ทำงานคนนั้นอาจจะไม่ตาย แต่เขากลับไปเลี้ยงลูกที่บ้าน ลูกอาจติดเชื้อจนตายได้ หรือไปเจอพ่อแม่ย่าตายายก็อาจตาย พวกนี้เองก็กลายเป็นปัญหาต่อ เมื่อปู่ย่าไม่สบาย พากันไปหาหมอที่โรงพยาบาล ญาติบอกว่าปู่ย่าอยู่แต่บ้านไม่ใช่พื้นที่เสี่ยง ก็ส่งผลให้หมอติด จนลามติดไปทั้งโรงพยาบาล

ปริมาณยารักษาที่มีอยู่ตอนนี้สามารถช่วยได้กี่คน 

        ประมาณ 600-700 คนเท่านั้นเอง ซึ่งใช้ยาที่สั่งซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน ส่วนการหวังพึ่งวัคซีนก็ต้องรอไปก่อน คาดว่าภายใน 6 เดือน วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 จะมีออกมา แต่กว่าจะมาถึงเมืองไทยอาจรอนานกว่านั้น เพราะผู้ที่คิดค้นก็ต้องใช้ในประเทศของเขาก่อน เพียงพอแล้วจึงขาย หรือต่อให้ขาย เราก็อาจจะไม่มีสตางค์ซื้อ 

ความหวังในการรักษาด้วยยาของไทยเองมีหรือเปล่า 

        มี เพราะที่ผ่านมาเราทำยาสำหรับเชื้ออีโบลา ยาสำหรับโรคมือเท้าปากจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (EV71) ในไวรัสสมองอักเสบนิปาห์ (NIPAH) รวมไปถึงยาฉีดสำหรับแผลที่ถูกหมาบ้ากัด ทำเสร็จในสัตว์ทดลอง ซึ่งเป็นของ ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่มีส่วนร่วมค้นคว้าและทดลองทำยาสำหรับเชื้อไวรัสตัวนี้ 

        แต่ติดตรงที่ว่าเรายังไม่เจอท่อนรหัสพันธุกรรมที่ดีที่สุดที่จะนำมาสร้างยาเพื่อต่อสู่กับรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสตัวนี้ได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราก็พยายามกันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ได้ คงต้องบนแล้วล่ะ เอ๊ะ! บนไม่ได้ คนเยอะ (หัวเราะ)

ผ่านมาร้อยกว่าปี นับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดสเปน จนถึง COVID-19 คุณมองคิดว่ามนุษยชาติควรปรับตัวอย่างไรเพื่อให้รู้เท่าทันเชื้อไวรัส และป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสก่อสงครามอีก

        อาจจะสายไปแล้วก็ได้ เพราะที่ผ่านมา โรคที่เกิดขึ้นมักเกิดจากสัตว์สู่คน เพราะคนไปทำลายระบบนิเวศ ทำให้โลกร้อน เกิดความแห้งแล้ง น้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้สัตว์ป่ากลายเป็นแหล่งซ่องสุมของเชื้อไวรัสโดยที่ตัวมันเองไม่มีอาการ เชื้อไวรัสเองก็ยังมีวิวัฒนาการของการเคลื่อนย้ายตัวเองไปสู่สัตว์ตัวกลางได้เร็วขึ้น บวกกับเมื่อโลกเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิครั้งใหญ่ ทำให้เชื้อไวรัสต้านทานและทนทานต่อการเปลี่ยนต่างๆ ได้มากขึ้น และเกิดวงจรความใกล้ชิดระหว่างสัตว์ป่า สัตว์ชายป่า คน สัตว์เศรษฐกิจและสัตว์เลี้ยงเข้าใกล้กันมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดโรคอุบัติใหม่ก็มีมากตามขึ้นไปด้วย

บทความ, สัมภาษณ์ โดย ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล 

ขอบคุณเนื้อหา และสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่: https://adaybulletin.com/know-coversation-thiravat-hemachudha/47781
ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา