จากกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมาตรการให้ งดวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ 13 - 15 เม.ย. เพื่อลดการเดินทางและการแพร่เชื้อ รวมทั้งปิดโรงเรียน สนามกีฬา โดยเตรียมจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 17 มี.ค.
วันที่ 16 มี.ค. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักถ้าไม่มีมาตรการปิดแต่ละเมือง 14-21 วันมาก่อน เพราะกิจกรรมอื่นยังคงดำเนินอยู่ ยังมีคนทำงานเช่นเดิม รถโดยสารยังเต็มเหมือนเดิม คนก็ยังทำงานในออฟฟิศ
การที่ปิดเมือง อย่างน้อยในช่วง 14 วัน จะทำให้คนที่อยู่ในระยะฟักตัวและมีอาการชัดเจนสามารถเก็บกักตัวได้เลย และเข้ารับการรักษาได้ ส่วนในกลุ่มที่อาการน้อยมากซึ่งจะแพร่เชื้อออกมาได้เฉลี่ย 20 วัน จะหายเอง
การปิดเมือง ประชาชนทุกคน จะออกจากบ้านน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นโดยใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร เมื่อทำธุระตามต้องการเสร็จก็กลับเข้าบ้าน หยุดสถานศึกษา ไม่มีการประชุมใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับคนที่ยังทำงานอยู่นอกบ้านคือคนที่ทำงานในระบบสาธารณะสำหรับเมืองๆ นั้น และไม่ให้ทำงานทุกคน เพราะถ้าติดเชื้อทุกคนในองค์กรจะไม่เหลือใครมาทำงานสาธารณะ
ขณะที่รถโดยสารสาธารณะจะต้องว่างที่สุดโดยให้ผู้โดยสารนั่งหรือยืนห่างกันหนึ่งถึงสองเมตร
ทั้งนี้ การปิด กทม.เพียงเมืองเดียวจะช่วยได้หรือไม่ นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่า ถ้าคิดจะปิด กทม.เมืองเดียวโดยดูจากจำนวนผู้ติดเชื้อว่าส่วนมากอยู่ที่ กทม. แต่ เป็นไปได้หรือที่เมืองอื่นไม่มีผู้ติดเชื้อและกำลังแพร่เชื้ออยู่
ดังนั้น การปิดแต่ละเมืองทุกเมือง ปิดบ้าน 14-21 วัน จึงเป็นการจำเป็น เพราะถ้าไม่มีมาตรการควบคู่กันไปอย่างเข้มข้น เชื้อจะยังมีการแพร่ไปเรื่อยๆ ถึงแม้ดูจะไม่โฉ่งฉ่างมากเมื่อมีการปิดสถานบันเทิง สนามมวยไปชั่วระยะหนึ่ง แต่แล้วเมื่อฉลองสงกรานต์ ในเดือนอื่นๆ ที่ถัดมาก็จะเป็นการนำเชื้อที่เพาะบ่มกันมาเป็นเดือนปะทุขึ้นใหม่อีก
ทั้งนี้ นพ.ธีระวัฒน์ ยังได้โพสต์ภาพมาตรการของออสเตรีย ที่มีบทลงโทษปรับกรณีออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น พร้อมระบุว่า
"สิ่งที่ต้องการ ขอ 21 วัน ห้ามออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น กัก 14 วัน คนมาจากต่างประเทศ ประเทศเราจะเป็น เกาะสวรรค์ ในโลกนี้ ล็อกดาวน์"