ยังคงเป็นที่เฝ้าระวังและจับตามองอย่างใกล้ชิด สำหรับโรคปอดอักเสบชนิดรุนแรงที่เกิดจาก “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” หรือ “ไวรัสโควิด-19” ที่กำลังระบาดในจีน โดยเริ่มมีการรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคนี้ครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ตอนกลางของประเทศจีน จนตอนนี้โรคไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ยังกระจายไปทุกมณฑลและเขตการปกครองอื่นๆ ของจีน และหลายประเทศทั่วโลกและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก
โดยหลังจากมีการแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งแรก ของ นายกรัฐมนตรี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เมื่อช่วงเย็นวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งในแง่ลบและในแง่บวก
ทั้งนี้ นายกฯ มีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นประธานเอง โดยนายกฯได้หมอเก่งๆ 5 คน มาอยู่ข้างกายภายในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้ประเทศไทยมีความหวัง
อาทิ “ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล “ศ.นพ.อุดม คชินทร” อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล “ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ “ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี” อาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ นายกแพทยสมาคม และ “ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์” นายกแพทยสภา
ทั้งหมดถูกเรียกตัวด่วน เพื่อคุยกับนายกรัฐมนตรี ในการให้คำปรึกษาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา พวกเขาไม่ใช่แค่บรมครูของหมอทั้งประเทศ หากแต่ยังมีชื่อเสียงระดับโลกด้านวงการแพทย์อีกด้วย จากนั้นเราจึงเห็นมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลออกมา โดยเฉพาะเรื่องการงดจัดงานสงกรานต์ ซึ่งมีความหมายต่อการหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ด้วยความรู้ความสามารถของหมอเก่งๆ ทั้ง 5 ท่านนี้ ประเทศไทยจึงมีความหวังว่าวิกฤตไวรัสร้ายนี้จะผ่านไปได้