หญิงสาวชาว อินเดีย วัย 21 ปี ชื่อว่า Shreya Siddanagowda โชคร้ายที่ต้องต้องเสียแขนทั้งสองข้าง ก่อนที่เธอจะตัดสินใจเข้ารับการปลูกถ่ายแขนใหม่ ทดแทนแขนทั้งสองข้างที่เธอต้องศูนย์เสียไป
ย้อนกลับไปในปี 2017 หญิงชาวอินเดียนามว่า “Shreya Siddanagowda” (ปัจจุบันอายุ 21 ปี) ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนต้องเสียแขนทั้งสองข้างไป ส่งผลให้เธอกลายเป็นคนไข้คนแรกของโลก ซึ่งเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายแขน จากผู้บริจาคที่เป็นคนละเพศกับตัวเธอเอง
การปลูกถ่ายที่เกิดขึ้นในเวลานั้นแม้ว่าจะกินเวลากว่า 13 ชั่วโมง และต้องใช้ทีมงานกว่า 20 คน แต่ผลของมันก็ออกมาดีอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะร่างกายของหญิงสาวเข้ากับแขนที่ได้มาเป็นอย่างดี และในเวลาสามปีหลังจากนั้น เธอก็สามารถกลับมาเขียนหนังสือด้วยลายมือของตัวเองโดยสมบูรณ์แล้วด้วย
อย่างไรก็ตามลายมือกลับไม่ใช่สิ่งเดียวที่แขนทั้งสองข้างของคุณ Shreya ปรับตัวจนเข้ากลับร่างกายใหม่แต่อย่างไร เพราะเมื่อล่าสุดนี้เอง ทีมแพทย์ที่ค่อยดูแลอาการของคุณ Shreya ก็ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า
ในปัจจุบัน แม้แต่สีผิวของแขนที่คุณ Shreya ได้รับการปลูกถ่ายมาเอง ก็กำลังค่อยๆ เปลี่ยนสีไป จนมีสีคล้ายกับสีผิวส่วนอื่นๆ ของร่างกายเธอ แถมยังเรียวขึ้นจนดูเหมือนแขนของผู้หญิงแล้ว
อ้างอิงจากข้อมูลทางการแพทย์เดิมทีแล้วคุณ Shreya ได้รับการบริจาคแขนทั้งสองข้างมาจากชายหนุ่มผิวสี แต่หลังจากที่แขนดังกล่าวถูกนำมาปลูกถ่าย เมื่อเวลาผ่านไปแขนทั้งสองข้างกลับค่อยๆ มีสีที่ขาวขึ้นราวกับมันเป็นแขนของเธอมาตั้งแต่ต้นไม่มีผิด
“ฉันไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ตอนนี้แขนทั้งสองรู้สึกเหมือนมือของฉันเองเลย” คุณ Shreya กล่าวเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น “หลังจากที่ปลูกถ่ายไม่นานแขนทั้งสองมีสีผิวเข้มมาก ซึ่งฉันก็ไม่ได้สนใจมันมากนัก แต่ในตอนนี้มันกลับมีสีเข้ากับตัวฉันไปแล้ว”
เมื่อสอบถามเรื่องที่เกิดขึ้นไปยังผู้เชี่ยวชาญ พวกเขาก็บอกว่าตนเองก็รู้สึกแปลกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นเช่นกัน ถึงอย่างนั้นก็ตามมันก็อาจจะไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอย่างที่เราคิด
นั่นเพราะในอดีตเราก็เคยมีบันทึกว่าในอดีตทหารอัฟกานิสถานที่ได้รับการปลูกถ่ายแขนมาก็มีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงของสีผิวที่แขนเช่นกัน เพียงแต่เขาเสียชีวิตไปก่อนที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะถูกยืนยันได้แน่ชัดอย่างคุณ Shreya
พวกเขาตั้งข้อสันนิษฐานว่าที่เป็นเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะเมื่อแขนกับร่างกายใหม่เริ่มปรับตัวเข้าหากัน ช่องน้ำเหลืองระหว่างมือผู้บริจาคและร่างกายของโฮสต์จะเปิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้เซลล์เมลานินจากร่างกายสามารถเดินทางมายังแขนได้ และค่อยๆ ทดแทนเมลานินดั้งเดิมในแขนไปทีละน้อยในที่สุด
นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่การปลูกถ่ายแขนทั้งสองข้างนั้นเกิดขึ้นเพียงแค่ไม่ถึง 100 ครั้งเท่านั้นทั่วโลก ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงยังไม่สามารถยืนยันแนวคิดของพวกเขาได้ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามจากการที่แขนใหม่ของคุณ Shreya เรียวลงจากที่เคยมีลักษณะคล้ายของผู้ชาย ทีมแพทย์ก็บอกว่าแนวคิดของพวกเขาน่าจะมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
“นี่เป็นกรณีแรกของการปลูกถ่ายมือจากผู้ชายสู่ผู้หญิง” คุณ Subramania Iyer หัวหน้าแผนกศัลยกรรมพลาสติกและการศัลยกรรมแห่งสถาบัน Amrita กล่าว
“ดังนั้นต่อให้เราสามารถเดาได้ว่าฮอร์โมนเพศหญิงเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่การประเมินสาเหตุที่แน่นอนนั้นก็ยังคงเป็นอะไรที่ยากลำบากมากอยู่ดี”