18 มี.ค.2563 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงมาตรวจเยี่ยมและให้นโยบายเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บริการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังยกระดับมาตรการการป้องกันและการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นระดับที่ 3
โดยนายกฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมว่า ได้มาเยี่ยมศูนย์ฯ และให้แนวทางปฏิบัติการทำงานแต่ละวัน ว่าควรจะต้องเป็นอย่างไร และผลการประชุมแต่ละวัน ควรจะนำอะไรบ้างมาแถลงให้ประชาชนได้รับทราบ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง รวมทั้งให้ข่าวประชาสัมพันธ์ ไม่เช่นนั้นจะจัดหมวดหมู่ไม่ได้ ก็จะไปคนละทางสองทาง จนทำให้เกิดความสับสน ขณะที่ในส่วนของนายกฯเอง ก็เอาส่วนนี้มาใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก เพราะข้อมูลมาจากหลายช่องทาง วันนี้สิ่งสำคัญที่ทุกคนอยากทราบคือสถิติของแต่ละวัน ซึ่งเราก็ต้องดูสถิติต่างประเทศด้วย เพื่อให้เกิดข้อเปรียบเทียบว่าบ้านเราดูแลได้ดีมากน้อยเพียงใด และดูว่าต่างประเทศทำได้มากน้อยเพียงใด ทุกอย่างมีผลร่วมกันทั้งสิ้น เราต้องนำมาร่วมพิจารณาเพื่อจะได้รู้ว่าเราอยู่ในระยะใด
“วันนี้เรากำลังทำงานในระดับที่ 3 ซึ่งคำว่าระยะที่ 3 กับระดับ 3 นั้นแตกต่างกัน ระยะที่ 3 นั้นเป็นคำที่องค์การอนามัยโลกเป็นผู้กำหนดเป็นการแพร่กระจายระหว่างคนที่ 2 คนที่ 3 และต่อๆไป แต่วันนี้ประเทศไทยเรายังอยู่ในขั้นตอนที่สามารถควบคุมได้พอสมควร แต่เมื่อใดที่ขั้นตอนถึงตรงนั้น ก็ต้องไปถึงระยะที่ 3 อย่างแน่นอน วันนี้ผมจึงได้ให้แนวทางเตรียมมาตรการในระดับที่ 4 สำหรับเตรียมการรองรับการยกระดับ หากเป็นระยะที่ 3 ส่วนมาตรการระดับที่ 3 ได้ออกเป็นมาตรการแล้วเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ซึ่งก็ต้องรอดูว่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง และก็ต้องไปย่อยดูว่าเราจะดูแลคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้อย่างไร"
นายกฯกล่าวว่า หลายอย่างเพิ่งเริ่มดำเนินการ แต่หลายอย่างได้ดำเนินการไปแล้ว มติคณะรัฐมนตรีก็ออกไปแล้วหลายส่วน ยอมรับว่ายุ่งยากในเรื่องของการเข้าถึงในการบริการเพราะคนเยอะมาก วันนี้จึงได้สั่งการไปแล้วทุกเรื่องว่า ขอให้ใช้ระบบออนไลน์บ้างหรือไม่ ซึ่งก็ต้องให้เวลาฝ่ายปฏิบัติบ้าง เพราะต้องมีขั้นตอนการขึ้นทะเบียนต่างๆ ซึ่งทุกคนจะต้องเข้าใจ ช่วยกันแนะนำกัน หลายคนหลายครั้งให้ไปแล้วก็เข้าไม่ถึง ทำไม่เป็น ดังนั้นครอบครัว พี่ เพื่อน น้อง ก็ต้องช่วยกัน และการใช้ดิจิทัลและระบบออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญในขณะนี้ เพราะต้องใช้บริการคนจำนวนมาก
เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วก็ต้องมีการตรวจสอบคัดกรอง จึงต้องใช้เวลาในส่วนนี้ ถ้าจะใช้วิธีเรียกคนมาก็จะใช้เวลามาก และอาจจะมีการแพร่เชื้อกันเอง จึงต้องลดระดับตรงนี้ลงให้ได้ อย่างเช่น การเกณฑ์ทหารก็ได้ทยอยดำเนินการ ซึ่งไม่รู้จะกี่ผลัด ก็จะทำจนกว่าจะเรียบร้อย เพราะเดิม 1 ปี จะมีทหารสองผลัด แต่เมื่อถึงเดือนเมษายนนี้ ไม่ได้เกณฑ์ทหาร กำลังพลที่จะใช้ จะหายไป 1 ใน 4 เมื่อเราเกณฑ์ยังไม่ได้ อาจจะใช้วิธีการสมัครก่อน วันนี้มีคนสมัครเข้ามามากพอสมควร ถ้าสมัครได้ 30-40% กำลังพลเหล่านี้ก็จะเข้ามาก่อนได้ ทั้งการสมัครออนไลน์และการเปิดรับสมัครย่อยๆ จากนั้นก็จะทยอยกันเข้ามา ก็สามารถทดแทนได้ในระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือค่อยไปจัดการเกณฑ์เข้ามาอีกครั้ง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญวันนี้เรากำลังเตรียมการระยะที่ 3 ซึ่งมาตรการระดับที่ 4 ที่ได้สั่งการในวันนี้ให้มีการเตรียมการในเรื่องของสถานที่ ทั้งเตียง สถานที่ปัจจุบัน และสถานที่ต่อไปที่อาจจะใช้คือ โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลเอกชน และบางโรงพยาบาล แม้กระทั่งโรงแรมบางแห่ง ก็ต้องใช้เป็นสถานที่กักตัวเพิ่มเติมขึ้น เราต้องเก็บข้อมูลและเตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้ เพราะเมื่อถึงเวลายกระดับเป็นการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 มันจะยุ่งกันใหญ่ ถึงขั้นปิดประเทศกันในขณะนั้น
“คำว่าปิดประเทศ หรือปิดพื้นที่ หรือปิดจังหวัด แบบนั้นคือการปิดซีลนั่นคือคำว่าปิด สิ่งที่ทำในปัจจุบันผมไม่ได้เรียกว่าปิด ผมเรียกว่าเป็นมาตรการเข้มข้น เป็นมาตการสกัดกั้นคนเข้าออก มีการตรวจตรา ท่าเรือต่างๆ เป็นมาตรการระดับที่ 3 อยู่แล้ว บางครั้งก็อาจจะใช้คำพูดเลยไปนิด และถึงแม้ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีอำนาจอะไรก็ตาม แต่อำนาจเพิ่งให้ไปเมื่อวันที่ 17 มี.ค. แต่ก็ยังต้องรายงานมายังศูนย์ฯ ก่อน
เรื่องนี้ผมไม่ว่ากันว่าใครผิดใครถูก ถือว่าวันนี้เขาได้ทำมาตรการที่เข้มงวดขึ้นมาแล้วก็ถือเป็นเรื่องดี เป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นๆ แต่ถ้าใช้คำว่าปิดประเทศมันวุ่นวายไปหมด หรือปิดจังหวัด ถ้าปิดจังหวัดจริงคนก็เข้า-ออกไม่ได้ รถยนต์ต่างๆ ก็เข้าไม่ได้ ก็จะเหมือนกับอู่ฮั่นที่เคยทำ ที่ปิดเมือง เราคงยังไม่ต้องการขนาดนั้น ทั้งคนทั้งรถ เครื่องบินเข้า-ออกไม่ได้ แล้วจะอยู่กันไหวหรือ ถ้าสถานการณ์ยังไม่รุนแรงขนาดนั้น แต่ถ้าถึงขนาดนั้นจริง ผมก็ต้องปิดอย่างที่ว่าแล้วอาหารการกินจะอยู่กินกันอย่างไร ก็ต้องเตรียมมาตรการกันอีก ขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะไปคนละทางสองทาง” นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของความขัดแย้งที่มีกระแสข่าวออกมา เท่าที่ตนได้เช็กดูก็ยังไม่เห็นมี เพียงแต่มีคนพูดตรงนั้น ตรงนี้ออกมาตามโซเชียลบ้าง ตนก็เรียกทุกคนมาคุย ถามว่ามีปัญหากันหรือไม่ ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในรัฐบาล หรือแม้แต่ในศูนย์ฯโควิด-19 ก็ยังไม่เห็นใครบอกมีปัญหา และไม่ใช่ว่าเขาจะไม่กล้าพูด เพราะตนเปิดโอกาสให้เข้าหาได้ทุกคน
“ผมเองก็เหนื่อยเหมือนกันนะ ที่คนทุกคนเข้าหาผมได้ในทุกๆ ช่องทาง อีกทั้งผมไม่ใช่ไปเสพแต่โซเชียลอย่างเดียว ไม่รู้ว่าใครเอาไปเขียนในโซเชียลก็มีคนคัดกรองมาให้ผม แต่ละวันผมก็มีงานอื่นอยู่ ไม่ใช่แค่โควิด-19 เพียงอย่างเดียว”
เมื่อถามว่าจากการที่มาเลเซียปิดประเทศทำให้คนไทยในมาเลเซียเดินทางกลับประเทศได้รับรายงานหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คัดกรองหมด ทุกวันนี้คัดกรองหมดเตรียมการมาหลายวันแล้ว ส่วนหนึ่งทางมาเลเซียให้ขึ้นทะเบียนกับทางการมาเลเซียและอยู่ที่นั้น ไม่ต้องออกมา ส่วนที่เดินทางกลับได้สั่งด่านตรวจที่มีศุลกากร ตม. และทุกกองกำลังตรวจสอบอยู่แล้ว ตรวจแยกคัดกรองเหมือนกับสนามบิน และจุดตรวจถาวร ทั้งหมด
ส่วนที่เล็ดลอดมาทางชายแดน ช่องทางธรรมชาติ ทหารต้องควบคุมเข้าระบบคัดกรองให้หมด ปัญหาคือคนเยอะ บางคนปฏิบัติตาม บางคนไม่ปฏิบัติตาม นี้คือปัญหาที่เราจะสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างไร รัฐบาลทำขนาดนี้ถ้าไม่เข้าใจ มันก็ไปคนละอย่างสองอย่างหมด ทำตามใจใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ต้องมาจากมาตรการทางการแพทย์ ว่าควรต้องอยู่ตรงไหนระดับไหน ตนกล้าทำทุกอัน เมื่อถึงเวลา และหากถึงเวลานั้นเราอาจไม่เจอกัน เพราะปิดประเทศ ปิดเมืองไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าวันนี้เริ่มวันแรกของมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยงใน กทม.และปริมณฑลเป็นการชั่วคราว 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ได้รับความร่วมมือดีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า กำลังติดตามอยู่ ก็โอเค ต้องร่วมมือ เพราะเป็นประกาศออกไปแล้ว โดยมีคณะกรรมการควบคุมในระดับจังหวัดและ กทม.อยู่แล้ว ตรวจหมด และได้ตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอไปแล้ว ประชาชนเข้าไปแจ้งได้ ส่วนการทำความสะอาดในพื้นที่ต่างๆ เจ้าของ ผู้ประกอบการต้องดำเนินการเอง โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจให้ โดยให้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งไปยังศูนย์ในพื้นที่
เมื่อถามว่ากรณีที่กลุ่มแรงงานต่างด้าวมารวมตัวกันเพื่อขอต่อใบอนุญาต ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นายกฯ กล่าวว่า เรามีระบบบริการผ่านทางออนไลน์ที่กำลังดำเนินการและมีมาตรการอยู่ ขณะนี้ได้มีการขยายเวลาให้แล้ว