คนไทยในอังกฤษห่วงแนวปฏิบัติใหม่ ต้องมี 2 เอกสารสำคัญก่อนกลับไทย ระบุบังคับใช้กระชั้นชิด-ขอใบรับรองแพทย์ยาก

guest profile image guest

หลังจากวานนี้ (18 มีนาคม) มีประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ‘แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตรายกรณีเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง’ ซึ่งมีข้อกำหนดส่วนหนึ่ง ให้ผู้โดยสารที่มีประวัติการเดินทางไปยังพื้นที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายและพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง ในระยะเวลา 14 วันที่ผ่านมาก่อนที่จะเดินทางมายังประเทศไทยต้องได้รับการกักตัว (Quarantine) และอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออย่างอื่นตามที่รัฐบาลไทยกำหนด นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทยเป็นผู้มีสัญชาติไทย จะต้องผ่านการตรวจเอกสาร 2 ชนิด ได้แก่ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (Fit to Fly Health Certificate) และหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้ ซึ่งหากมีประวัติการเดินทางในพื้นที่กลุ่มดังกล่าว แต่ไม่สามารถแสดงหลักฐานสองชนิดนี้ได้ ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศปฏิเสธการขึ้นเครื่อง และงดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 เวลา 00.00 น. ตามเวลาประเทศไทยนั้น

โดยหลังมีประกาศดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนได้ชี้แจงแนวปฏิบัติผ่านเพจเฟซบุ๊กของสถานทูต ถึงการขอใบรับรองแพทย์จากแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (General Practitioner) และหนังสือรับรองการเดินทางจากสถานทูต ซึ่งจะเริ่มดำเนินการกับผู้ที่เดินทางออกนอกสหราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานว่าเรื่องดังกล่าวทำให้กลุ่มนักเรียน นักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาในสหราชอาณาจักร หรือคนไทยที่อยู่ในสหราชอาณาจักรส่วนหนึ่งที่กำลังวางแผนเดินทางกลับประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงหรือได้รับผลกระทบในการวางแผนการเดินทาง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่าการทำนัดพบแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในสหราชอาณาจักรในหลายสถานบริการไม่ง่ายนัก แม้ว่าหลายสถานบริการทางการแพทย์จะให้ทำนัดผ่านแอปพลิเคชันได้ แต่กับอีกหลายสถานบริการผู้ใช้บริการอาจจำเป็นต้องโทรศัพท์เพื่อทำนัด ซึ่งก็จะมีการกำหนดปริมาณจำนวนผู้มาใช้บริการในแต่ละวัน ดังนั้นจึงต้องทำนัดแต่เช้า และรีบต่อสายเพื่อให้มีคิวสำหรับการไปพบแพทย์กลุ่มดังกล่าว หรือบางกรณีก็อาจถูกปฏิเสธนัดได้ เป็นต้น

นักศึกษาไทยคนหนึ่งในเมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ระบุว่า กลุ่มคนไทยในกลาสโกว์จำนวนหนึ่งที่มีแผนเดินทางในช่วงสัปดาห์หน้า ตัดสินใจเลื่อนการเดินทางกลับประเทศเร็วขึ้นเป็นระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคมนี้ เพื่อตัดความกังวลเรื่องการทำเอกสารดังกล่าว

ส่วน ปริชญ์ ไวทยะโกมล นักศึกษาไทยในเมืองกิลด์ฟอร์ด ของอังกฤษเปิดเผยว่า ตนเองทราบข่าวในช่วงเวลาที่สถานบริการทางการแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปปิดทำการไปแล้ว และมีกำหนดเดินทางวันที่ 21 มีนาคมนี้ และไม่สามารถเปลี่ยนหรือยกเลิกเที่ยวบินได้ จึงตัดสินใจขอใบรับรองแพทย์จากแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปของเอกชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 150 ปอนด์ หรือราว 6,000 บาท

นอกจากนี้ในเพจเฟซบุ๊กของสถานทูตเองมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมากที่ระบุว่าตนกำลังจะเดินทางในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะนัดแพทย์เพื่อขอใบรับรองแพทย์ไม่ได้ หรือดำเนินการขอใบรับรองแพทย์ไม่ทัน จึงขอให้ช่วยพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ดูแลเพจสถานทูตดังกล่าวได้ตอบกลับความคิดเห็นหนึ่งว่า “ติดตาม Facebook สถานทูตนะคะ” ความคิดเห็นอีกส่วนหนึ่งยังแสดงความกังวลถึงการขอเอกสารรับรองจากสถานทูต ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะมีให้บริการที่กรุงลอนดอนเพียงแห่งเดียวหรือไม่ และบางความคิดเห็นก็ตั้งคำถามถึงการออกแนวปฏิบัติในลักษณะนี้ ว่าแม้เป็นเจตนาเพื่อความปลอดภัยและสกัดโรค แต่อาจส่งผลถึงสิทธิในการเดินทางของคนไทยในต่างประเทศหรือไม่ ส่วนในเพจของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยก็มีความคิดเห็นเพื่อขอให้ทบทวนแนวปฏิบัติในลักษณะเดียวกันนี้เป็นจำนวนมากเช่นกัน อีกทั้งยังมีความคิดเห็นที่มาจากคนไทยในพื้นที่อื่นๆ ของโลกที่อยู่ในรายชื่อเขตติดโรคติดต่ออันตราย และพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่องด้วย

ทั้งนี้ ตามแนวปฏิบัติดังกล่าว และตามข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และเว็บไซต์กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 19 มีนาคม 2563 เขตโรคติดต่ออันตรายตามกรณีนี้ ได้แก่ จีน (รวมฮ่องกง มาเก๊า), เกาหลีใต้, อิตาลี, อิหร่าน ส่วนพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่องในกรณีนี้ ได้แก่ ฝรั่งเศส, สเปน, สหรัฐอเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, สวีเดน, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี และญี่ปุ่น (เฉพาะเมืองฮอกไกโด, โตเกียว, ไอจิ, วากายามะ, คานางาวะ, ชิบะ, โอกินาวา, เกียวโต, และโอซาก้า)

เนื้อหาโดย: nupenkondee
อ้างอิง:
- www.facebook.com/ThaiEmbLondon/photos/a.530658943664967/2824066957657476/?type=3&theater
- www.facebook.com/caat.thailand/photos/a.571511166344923/1545522425610454/?type=3&theater
- www.caat.or.th/th/archives/48678
ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา