ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลาย ๆ คนน่าจะเห็นข่าวเกี่ยวกับกระดาษทิชชูของญี่ปุ่นมาแล้วบ้างใช่ไหมคะ เป็นข่าวที่ว่าจู่ ๆ คนญี่ปุ่นก็เกิดแพนิคว่าทิชชูจะหมดจึงทำให้เกิดการแห่ซื้อทิชชูกักตุนกันไว้เป็นจำนวนมาก จนทางผู้ผลิตต้องออกมายืนยันว่าทิชชูในญี่ปุ่นนั้นผลิตขึ้นเอง มีใช้อย่างเพียงพอแน่นอน ทิชชูมีความสำคัญมาก ๆ ในปัจจุบัน เพราะสามารถเช็คทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการได้อย่างไม่เลอะเทอะ แต่จะว่าไปแล้ว ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีทิชชู เวลาขับถ่าย คนญี่ปุ่นเขาใช้อะไรเช็ดก้นกันนะ
ในญี่ปุ่น กระดาษถือเป็นของมีค่าอย่างมากมาอย่างยาวนาน คนญี่ปุ่นสมัยก่อนจึงเลือกใช้เปลือกหอยหรือเศษไม้ที่ เรียกว่า Chuugi (籌木) มาใช้แทนกระดาษชำระ ดังมีหลักฐานปรากฏในภาพม้วน Gakizoushi (餓鬼草紙) ซึ่งเป็นภาพม้วนในช่วงศตวรรษที่ 12 (ช่วงระหว่างยุคเฮอันกับยุคคามาคุระ) ในภาพนั้นมีการวาดผีเด็กที่กำลังทำท่านั่งถ่ายและถือไม้ Chuugi ไปด้วย
เมื่อลองดูดี ๆ จะเห็นว่ามีการสวมรองเท้าเกี๊ยะแบบสูงเพื่อป้องกันไม่ให้อุจจาระมาเลอะตัว และใช้ไม้ Chuugi ค้ำยันไว้ด้านหน้า ซึ่งหมายความว่ามีการใช้อุปกรณ์นี้กันจริง ๆ ในเวลาที่ขับถ่ายเพื่อไม่ให้ก้นเลอะ
แต่ถ้าหากเกิดเลอะขึ้นมา ก็จะใช้ไม้นี้ปาดออก ทำให้บางครั้งมันก็ถูกเรียกว่า Kusobera (糞箆) จะว่าไปแล้ว การใช้ไม้แบบนี้ก็เป็นวิธีรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีเหมือนกันนะคะ ทำให้ไม่เกิดขยะขึ้นมาเลย รักษ์โลกกันมาตั้งแต่สมัยเฮอัน แต่อาจจะสกปรกนิดหน่อยนะคะ55555
อุปกรณ์ชนิดนี้ถูกใช้กันมาอย่างยาวนาน ว่ากันว่าผู้คนส่วนหนึ่งใช้กันมาจนถึงปลายยุคเอโดะ ซึ่งรายละเอียดมีบันทึกอยู่ในจดหมายของเจ้าหน้าที่รัฐเมืองฮิดะในสมัยเอโดะว่า “ตามหมู่บ้านก็มีการใช้กัน หรือในเมือง พวกชนชั้นล่างจะไม่ใช้กระดาษเวลาเข้าห้องน้ำ แต่ใช้ไม้แทน” พื้นที่บริเวณเมืองฮิดะมีอากาศที่หนาวเย็นมาก ทำให้ไม่มีทรัพยากรให้ใช้อย่างเพียงพอ คนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยจึงต้องใช้ไม้แทนการเช็ดด้วยกระดาษชำระ
คล้าย ๆ กับคนไทยในสมัยก่อนเลยนะคะ อย่างในเรื่องบุพเพสันนิวาศ ก็มีการใช้ทั้งแท่งไม้ทั้งใบไม้ในการเช็ดก้นเหมือนกัน มีใครอยากร่วมรักษ์โลกด้วยการกลับไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบนี้บ้างมั้ยคะ ^^
สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan
ภาพจาก Wikipedia