จากสถานการณ์โรคปอดอักเสบชนิดรุนแรงที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ ไวรัสโควิด -19 ที่กำลังระบาดในจีน โดยเริ่มมีการรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคนี้ครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ตอนกลางของประเทศจีน จนตอนนี้โรคไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ยังกระจายไปทุกมณฑลและเขตการปกครองอื่นๆ ของจีน และหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 245,500 คน และผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 10000 คน และมีท่าทีว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า ระหว่างการประชุมระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นพ.ปิยสกล สกลสัตยาธร อดีตรมว.สาธารณสุข และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภ เพื่อพิจารณาแผนดำเนินการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด -19 ก่อนหน้านั้น
ที่ประชุมได้มีการหารือถึงแผนการป้องกันการระบาดของโรค ภายใต้ชื่อว่า อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เนื่องจากมีข้อมูลจากการประเมินว่า ถ้าหากดำเนินการตามมาตรการแบบเดิม ไปอีก 30 วัน คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วย เพิ่่มถึง 351948 ราย รวมถึงเป็นผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 52,792 ราย และมีความจำเป็นต้องนอนไอซียู 17,597 ราย เสียชีวิต 7039 ราย แต่ถ้าหากใช้มาตรการ ล็อคดาวน์ ให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ตัวเลขคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยจะอยู่แค่ 24269 ราย นอนโรงพยาบาล 3640 ราย ไอซียู 1213 ราย ตาย 485 ราย
จากประเด็นดังกล่าว ทางด้าน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เน้นย้ำเรื่องการขอความร่วมมือประชาชน โดยเฉพาะกทม.และปริมณฑล งดเดินทางออกโดยให้อยู่บ้านเพื่อสกัดกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยเป็นหนึ่งข้อเสนอหนึ่งในการประชุมร่วมระหว่างนายกฯกับกลุ่มคณะแพทย์
โดยรัฐบาลจะดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนและมีการวางแผน ไม่ใช่จะประกาศล็อกดาวน์ทันที โดยที่ประชาชนไม่ได้เตรียมตัว และไม่ได้ระบบต่างๆ รองรับ เช่น การลำเลียงส่งของให้กับประชาชน อีกทั้งสิ่งที่นายกฯ เป็นห่วงที่สุดคือการหาเช้ากินค่ำยังต้องออกไปทำมาหากิน ต้องช่วยเหลือคนเหล่านี้ ซึ่งหลังมีการพูดคุยวานนี้ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นระหว่างรัฐบาลและคณะแพทย์ ในการดำเนินมาตรการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
นายกฯได้ย้ำว่า ฝากบอกประชาชนให้อยู่บ้าน ดังนั้นอยากให้ช่วงนี้คนไทยอยู่บ้าน ก่อนที่เราจะบังคับต้องขอความร่วมมือ และหลังจากนี้ก็ต้องมีการประเมินว่าจะต้องทำอย่างไรหากไม่ได้รับความร่วมมือ จะต้องมีการยกระดับหรือไม่ ซึ่งอาจมีหลายทางเลือก เช่น สมมุติหากบอกห้ามออกจากบ้านเลย 24 ชั่วโมง กี่วัน มันก็แรงเหมือนกัน แล้วหลังจากผ่านไปจะคุมเชื้อได้จริงหรือเปล่า ต้องมีการประเมิน หรือจะเป็นทางเลือกว่าไม่ให้ออกจากบ้านเกินกี่โมงแล้วห้ามออก หรือออกไปได้แค่ไปซื้อของ ซึ่งทุกอย่างต้องไปประเมินตรงไหนกระทบมากที่สุด
ขณะที่ก่อนหน้านั้น รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยให้ข้อมูลว่า สถานการณ์การระบาดโรค COVID-19 สามารถแพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลกในเวลาอันสั้น แต่ที่ผ่านมาดัวยความเข้มแข็งของภาครัฐและภาคประชาชนในช่วงเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยสามารถชะลอการระบาดของเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการสูญเสียน้อย
แต่เนื่องด้วยสมมติฐานประเทศไทยอยู่ในระยะที่คนติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้ 1.6 คน ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ถึง มีนาคม 2564 หรือในระยะ 12 เดือน อาจจะมีผู้ติดเชื้อในไทย 1.1 ล้านคน ในจำนวนนี้เมื่อได้รับเชื้อไปแล้ว จะมีผู้ที่แข็งแรงดีไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย 80% อาการคล้ายป่วยไข้หวัดใหญ่ แต่อีก 20% หรือประมาณ 2 แสนคน จะป่วยและจำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล แบ่งเป็นอาการป่วยน้อย 80% ปานกลาง 15% และรุนแรงมาก 5%