ส่องความแตกต่างมาตรการรับมือโควิด-19 ระหว่างสนามบินฮ่องกงและโตเกียว

guest profile image guest

สำนักข่าว CNN เผยแพร่รายงานเปรียบเทียบมาตรการรับมือโรคโควิด-19 ของสนามบินฮ่องกงและสนามบินนาริตะของญี่ปุ่น โดย วิลล์ ริปลีย์ ผู้สื่อข่าวที่เดินทางไปยังทั้ง 2 สนามบินในช่วงสัปดาห์นี้ ระบุถึงความแตกต่างไว้ดังนี

มาตรการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ของสนามบินนานาชาติฮ่องกง

1. หลังลงจากเครื่องบิน จะมีเจ้าหน้าที่นำตัวผู้โดยสารไปยังพื้นที่กักกันโรคบริเวณชั้นล่างของสนามบิน

2. ผู้โดยสารทุกคนต้องผ่านจุดตรวจสุขภาพและความปลอดภัย โดยมีหลายขั้นตอน ได้แก่
ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย กรอกข้อมูลในแบบสอบถามเพื่อยืนยันว่าไม่ได้เดินทางไปจีนแผ่นดินใหญ่, อิตาลี, เกาหลีใต้ หรือประเทศกลุ่มเสี่ยงที่เผชิญการระบาดของโควิด-19 เจ้าหน้าที่กักกันโรคให้ใบตรวจสอบพร้อมคำแนะนำหลังออกจากสนามบิน ระบุว่า ควรตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายวันละ 2 ครั้ง และหากเกิดอาการผิดปกติให้รายงานต่อกรมอนามัยของฮ่องกงทันที และตั้งแต่วันพฤหัสบดี (19 มีนาคม) ที่ผ่านมา ทางการฮ่องกงได้ประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ได้แก่

1. ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งหมดต้องกักตัวเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และเฝ้าระวังสุขภาพอีก 2 สัปดาห์ พร้อมสวมใส่กำไลข้อมืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ทันทีหากมีการเดินทางออกจากพื้นที่โรงแรมหรือบ้านที่ใช้กักตัว

2. ขยายประกาศเตือนภัยระดับสีแดง ครอบคลุมไปยังทุกประเทศและเขตแดน ยกเว้นเพื่อนบ้านอย่างมาเก๊า ไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่

มาตรการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ของสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น

1. หลังลงจากเครื่องบิน สามารถเดินเข้าสนามบินได้โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมเป็นระยะทางกว่า 500 เมตร ก่อนที่จะถึงสำนักงานเจ้าหน้าที่กักกันโรค ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ประมาณ 10 คน คอยตรวจสอบผู้โดยสารทุกคน

2. มีการใช้กล้องตรวจวัดอุณหภูมิ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจวัดอุณหภูมิโดยตรงจากร่างกายผู้โดยสาร

* มีข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพการทำงานของกล้อง เนื่องจากสภาพอากาศบางช่วงเวลาที่หนาวเย็น ทำให้ผู้โดยสารต้องสวมใส่เสื้อโค้ตที่อาจทำให้อุณหภูมิที่แท้จริงในร่างกายไม่ตรงกับผลที่ได้จากกล้องตรวจวัดอุณหภูมิ

3. เจ้าหน้าที่กักกันโรคจะให้ลงนามในแบบฟอร์มภาษาอังกฤษ เพื่อยืนยันว่าจะยอมรับมาตรการกักตัวในที่พักเป็นเวลา 14 วัน และจะมีการตรวจวัดอุณหภูมิเป็นประจำทุกวัน พร้อมทั้งระบุให้หลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

* มีข้อสังเกตว่า แบบฟอร์มให้กักตัวในที่พักนั้นเป็นเพียงคำขอธรรมดา ไม่ใช่การบังคับ และแม้จะมีข้อแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้โดยสารจะไม่หนีออกจากที่พักและแอบเดินทางไปยังที่ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ยังคงไม่ใช้อำนาจในการประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือปิดประเทศ (Lockdown) ซึ่งในกรุงโตเกียว แม้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะปิดทำการ และกิจกรรมหรืองานที่มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมากจะถูกยกเลิก แต่บรรดาร้านอาหารและสถานบันเทิงยามราตรีก็ยังเปิดให้บริการ ประชาชนจำนวนมากยังคงสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะเดินทางได้อย่างอิสระ ซึ่งสาเหตุที่อาเบะตัดสินใจไม่ใช้มาตรการปิดประเทศ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เขามั่นใจว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ล่าสุดวันนี้ (20 มีนาคม) ตัวเลขผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นอยู่ที่ 936 คน และเสียชีวิต 32 คน

ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

4 ปีที่ผ่านมา
4 ปีที่ผ่านมา