โรคสุกใสป้องกันได้ด้วยวัคซีน
โรคสุกใส หรือที่เราเรียกว่าโรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน หลายๆ คนคงจะเคยเป็นกันมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ในผู้ใหญ่อาจพบได้บ้างเช่นกันในคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน และมักจะมีอาการรุนแรงและมีโรคแทรกซ้อนมากกว่า โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ มักพบการระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (มกราคมถึงเมษายน) เช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี
โรคสุกใสสามารถติดต่อกันได้ โดยการหายใจร่วมกัน หรือสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำบนผิวหนังของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ปัจจุบันมีการใช้ วัคซีนป้องกันสุกใส กันมากขึ้น เพราะเป็นการทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสุกใสขึ้นในร่างกายเหมือนกับการฉีดวัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน และคางทูม หากไปสัมผัสโรคก็จะป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้น
ถ้าไม่อยากเป็นสุกใสต้องทำอย่างไร และใครบ้างที่ควรได้รับวัคซีนสุกใส วันนี้เรามาดูข้อมูล และทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้ละเอียดกันดีกว่าค่ะ
โรคสุกใส (Chickenpox)
โรคสุกใส คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella virus ติดต่อได้โดยผ่านทางลมหายใจและสารคัดหลั่ง เช่น ไอ จาม การสัมผัสผู้ป่วยและการใช้สิ่งของร่วมกัน โรคนี้สามารถเป็นได้ในทุกวัย แต่มักพบมากในวัยเด็ก เมื่อเป็นแล้วมักมีภูมิต้านทานไปตลอดชีวิตและไม่เป็นซ้ำอีก แต่อาจจะเป็นโรคงูสวัดได้ ถ้าหากร่างกายอ่อนแอหรือภูมิต้านทานต่ำ
อาการของโรคสุกใส
โรคสุกใสมีระยะฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรืออาจพบถึง 3-4 สัปดาห์ได้ ในระยะแรกจะมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยและมีตุ่มใสขึ้นตามร่างกาย ลักษณะคล้ายตามชื่อโรค มักขึ้นที่บริเวณไรผม ใบหน้าและลำตัว และมักมีอาการคันร่วมด้วย ตุ่มใสมักแตกภายในเวลา 48 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระยะที่แพร่เชื้อได้สูงสุด และตุ่มจะค่อยๆ แห้งเองภายในเวลา 10 วัน และหายเป็นปกติโดยไม่มีแผลเป็น ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
วิธีรักษา
โรคสุกใสเป็นโรคที่สามารถหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์โดยไม่ต้องรักษา การรักษาจึงเป็นการรักษาประคับประคอง และแยกผู้ป่วยไม่ให้ติดต่อกับผู้อื่น แต่ปัจจุบันมียาที่สามารถรักษาโรคสุกใสได้โดยตรง ยานี้จะสามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของโรคลงได้
ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคสุกใส
1.ควรแยกผู้ป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากเริ่มทีตุ่มขึ้นหรือจนกระทั่งตุ่มตกสะเก็ด
2.ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย เพื่อให้แผลไม่ติดเชื้อ
3.ถ้ามีไข้ให้เช็ดตัว และใช้ยาลดไข้เฉพาะ Paracetamol เท่านั้น ห้ามใช้ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของ Aspirin เนื่องจากอาจจะทำให้มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
4.ไม่ควรใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของ Steroid ในการทาแผล รวมทั้งไม่ควรใช้ยาเขียวหรือสมุนไพรใดๆ ในการรักษา
5.ควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะเกาตุ่มที่คัน เนื่องจากอาจจะทำให้ติดเชื้อได้
ภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวัง
หากมีอาการไข้สูงมาก ซึม หายใจไม่สะดวก เหนื่อยหอบ ปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรงหรือชัก ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากอาจเป็นอาการของโรคปอดบวม โรคสมองอักเสบ หรือ Ryne syndrome ซึ่งอาจเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงได้
การป้องกัน
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใสสามารถช่วยป้องกันโรคได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็น สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยในวัยเด็กแนะนำให้ฉีด 2 ครั้ง คือ 1 ขวบ และ 4 ขวบ แต่ในผู้ใหญ่และเด็กโตแนะนำให้ฉีด 2 เข็มติดต่อกัน โดยเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์
ผู้ที่ห้ามฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใส มีดังนี้
1.ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่กินยากดภูมิต้านทานหรือผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาเคมีบำบัด
2.หญิงมีครรภ์
3.ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีน
4.ผู้ป่วยที่กินยา Steroid หรือ Aspirin
5.ผู้ที่ได้รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือดในระยะเวลาน้อยกว่า 3 เดือน
ผู้ที่ได้รับวัคซีนสุกใส จะสามารถป้องกันการเป็นงูสวัดได้
โรงพยาบาลนนทเวชมีความพร้อมในการรักษา การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใสและการให้คำปรึกษา หากต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมสามารถขอคำแนะนำได้ที่ศูนย์เด็กและวัยรุ่น รพ.นนทเวช
ขอบคุณข้อมูล : https://www.nonthavej.co.th/Chickenpox.php