กลายเป็นเรื่องราวสุดประทับใจที่หลายๆ คนต่างตื้นตันพร้อมชื่นชมเป็นเสียงเดียวกัน เมื่อ เพจ ส.ปชส.น่าน ได้ถ่ายเรื่องราวของคุณหมอหัวใจแกร่งคนหนึ่งว่า ” “หมอครับ จะถึงหละครับ พอเดินไหวไหม” จะบอกว่าไม่ไหวก็กลัวเสียฟอร์ม ร้องตะโกนบอกไปว่า “ไหว ยังพอไหว” ทั้งๆที่เหนื่อยแทบจะขาดใจ เรื่องเล่าชีวิตหมออนามัย กับการดูแลสุขภาพของผู้ที่กักตัวฯ #น่าน
หมออนามัย หัวใจเพื่อชาวบ้าน คนต้นเรื่อง: หมออนามัย บนดอย ในช่วงเช้าเข้าเวลาทำงาน ณ รพ.สต.บนดอยที่ห่างไกลจากความเจริญ ข้าพเจ้าประจำอยู่ รพ.สต. กับเพื่อนพยาบาลอีกคนหนึ่ง อากาศช่วงกลางวันมันช่างร้อนระอุ มองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นเปลวแดดระยิบระยับ ประหนึ่งว่ามีกองฟืนสุมอยู่ใต้พื้นดิน มีเสียงจักจั่น และนกร้องประสานเสียงรับกันเป็นระยะๆ ย้ำเตือนให้เห็นความเป็นธรรมชาติ ที่ยังคงความสมบูรณ์ และความแห้งแล้งของบนดอยอยู่
พอว่างจากงานให้บริการ แก่ผู้รับบริการในช่วงเช้า เวลาก็ล่วงเลยเที่ยงวันไปเกือบ 20 นาที ซึ่งเป็นเรื่องปกติของที่นี่ เวลาพักเที่ยง จะยืดเยื้อออกไปตามผู้รับบริการเป็นหลัก ข้าพเจ้าไม่รอช้า รีบไปทานข้าวกลางวันแบบง่ายๆ มีข้าวสวยที่หุงค้างหม้อไว้ตั้งแต่มื้อเช้ากับแกงผักกาด น้ำพริกหนุ่ม ที่เหลือจากทานมื้อเช้าเช่นกัน พอประทังชีวิตไปได้อีกหนึ่งมื้อ พอทานข้าวกลางวันเสร็จ รีบกุลีกุจอ เอื้อมมือไปหยิบแฟ้มผู้ที่กักตัว มาบันทึกและสรุป เป็นข้อมูลที่ได้ลงไปเยี่ยมผู้กักตัวจากเมื่อวานนี้ แต่ด้วยภารกิจที่เร่งด่วน จึงยังไม่มีเวลาสรุป ได้แค่ลงบันทึกในแบบฟอร์ม
ไล่จากคนที่ หนึ่ง สอง สาม .. ไปเรื่อยๆ อารมณ์ และความรู้สึกเสมือนว่าได้ออกไปเยี่ยมผู้ที่กักตัวจริงๆ อีกรอบหนึ่ง พอบันทึกมาถึงครอบครัวผู้กักตัว ที่มีทั้งแม่ ลูก และหลานๆ รวมจำนวน 7 คนที่อาศัยอยู่ในกระต๊อบ ที่ไร่ ห่างจากหมู่บ้านออกไปพอสมควร ที่ อสม.สรุปมาให้ ช่างเป็นเหตุบังเอิญจริงๆ จู่ๆ ก็มีญาติครอบครัวนี้มาติดต่อและแจ้งข่าวว่า
“หมอครับ เด็กน้อย 1 ใน 6 ของผู้กักตัวเองที่อยู่ในไร่ มีอาการไข้ เจ็บคอ ผมจะต้องทำอย่างไรบ้างครับ” ข้าพเจ้านิ่งไปสักครู่ มีความรู้สึกเป็นห่วงเด็ก จะมีอาการเจ็บป่วยมากหรือเปล่า พอได้คำตอบในใจแล้ว จึงแจ้งญาติไปว่า “เดี๋ยวหมอจะไปเยี่ยมเองนะ” ขณะที่ตอบไป ก็ยังไม่รู้หรอก ว่าจะไปยังไง และเส้นทางที่จะไปมีสภาพเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ยังไม่เคยไปเยี่ยม พร้อมกันนั้นได้โทรประสาน อสม.ในเขตรับผิดชอบและชวนไปเยี่ยมด้วยกัน
อสม.ถามกลับมา
“หมอไปไหวเหรอมันไกลมากนะ ต้องข้ามห้วย ข้ามเขา 2 ม่อน (เขา 2 ลูก) จึงจะถึงที่กักตัว” คิดในใจ โหดขนาดนั้นเลยเหรอ และตัดสินใจอีกทาง พร้อมกับบอก อสม.ไปว่า “ไม่เป็นไร อสม.ไม่ต้องไปหรอก หมอจะไปกับพี่ผู้ช่วยเอง” พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ช่วยเหลือคนไข้ ที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต. เตรียมตัวเพื่อไปเยี่ยมผู้ป่วย พร้อมทั้งตัว
ข้าพเจ้าก็เตรียมความพร้อมในการป้องกันตัวเองให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ต้องใส่ชุดให้รัดกุม ภายใต้อุณหภูมิ ขณะนั้น 38 องศาเซลเซียลขึ้นไป ข้าพเจ้าจัดแจงใส่หน้ากากอนามัย ตามด้วย Face shield ที่ประยุกต์จากวัสดุในพื้นที่ สวมรองเท้าบู๊ท สำหรับเตรียมข้ามลำห้วย เตรียมยาให้ผู้ป่วย ปรอทวัดไข้ ถุงมือ กว่าจะพร้อมเดินทางเวลาก็ล่วงเลยไปบ่ายโมงกว่าๆแล้ว เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ออกจาก รพ.สต.ไปหาคนไข้ทันที
เส้นทางจาก รพ.สต.ไปยังสถานที่กักตัว เริ่มจากถนนค่อนข้างสะดวกสบาย เข้าสู่ถนนลูกรัง ความยากลำบากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางช่วงเป็นเส้นทางที่แคบและเขาสูงชัน บางช่วงมีลำห้วยขวางกั้นเส้นทาง ต้องเดินเท้าสลับกับนั่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์หลายรอบ ข้าพเจ้าเหงื่อท่วมตัวภายใต้ชุดประยุกต์ ที่ปิดมิดชิด หายใจภายใต้หน้ากากอนามัยที่ชุ่มด้วยเหงื่อ ช่างเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน คำว่า “เหนื่อยสายตัวแทบขาด” คงเป็นแบบนี้เอง
เราเพิ่งจะมองเห็นภูเขาสูงชันตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า คือจุดหมายปลายทางของเรา ข้าพเจ้าดีใจได้เดี๋ยวเดียว ต้องลงเดินอีกครั้ง ปล่อยให้ผู้ช่วยเหลือคนไข้ ควบรถจักรยานยนต์ ขึ้นเนินที่แคบและชันไปรออยู่ตรงตัวเนินเขา สักครู่ได้ยินเสียงร้องตะโกนลงมาว่า “หมอครับ จะถึงหละครับ พอเดินไหวไหม” จะบอกว่าไม่ไหวก็กลัวเสียฟอร์ม ร้องตะโกนบอกไปว่า “ไหว ยังพอไหว” ทั้งๆที่เหนื่อยแทบจะขาดใจ
มือข้างหนึ่งหิ้วถุงยา อีกข้างก็พยุงเกาะยึดกิ่งไม้ เถาวัลย์ หรือวัตถุตามข้างทาง ถึงกระนั้นก็ยังไถลลื่นไปหลายครั้ง ข้าพเจ้าพยุงตัวขึ้นไปเรื่อยๆ พอโผล่พ้นเนินเขา มองออกไปไกลๆเห็นกระต๊อบเล็กๆ อยู่ลิบๆ ความรู้สึกดีใจกลบความเหนื่อยล้าไปสิ้น พอเข้าใกล้ในระยะสายตาที่มองเห็นชัดเจน สภาพกระต๊อบที่ปลูกอยู่กลางไร่ ไม่ได้มีความคงทนถาวร เสาทำด้วยไม้ขนาดท่อนแขน พอที่จะค้ำยันไม่ให้ล้มลงไปได้สักระยะเวลาหนึ่ง ฝาผนังทำจากกระสอบ และเศษผ้ากะลาเก่าๆ พอบังลมและกั้นให้เป็นสัดส่วน ส่วนหลังคามุงด้วยหญ้าคาวางทับๆเอาไว้ มีไม้ฟืนทับอีกที กันไม่ให้ลมพัดปลิว ผู้กักตัวที่พักในกระต๊อบคงร้อนหน้าดู
เมื่อถึงกระต๊อบ เห็นเด็กๆ อายุไล่เลี่ยกันราวๆ 4-7 ปี จำนวน 4 คน แต่ละคนสวมเสื้อผ้าเก่าๆ เนื้อตัวมอมแมม ยิ้มกว้างๆ มาพร้อมกับผู้หญิงมีอายุ 2 คน คงจะเป็นยายและแม่ของเด็กๆ ทุกคนสวมหน้ากากผ้า ออกมาต้อนรับ ทุกคนเหมือนจะดีใจมาก ที่มีหมออนามัยมาเยี่ยมถึงไร่ ที่ขอบตาข้าพเจ้า..มีน้ำเอ่อล้นออกมาโดยไม่ทันรู้ตัว รู้สึกสงสารเด็กๆ ที่ต้องทนอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนระอุแบบนี้ จนครบ 14 วัน
ข้าพเจ้ารีบทักทายเด็กๆ เพื่อกลบกลื่นน้ำตาที่ซึมออกมา “เล่นที่ไร่สนุกไหม” ทุกคนตอบเกือบพร้อมกันว่า “สนุก” ข้าพเจ้าไม่รอให้หายเหนื่อย ต้องรีบตรวจร่างกายคนไข้ทันที กลัวจะมืดค่ำในช่วงขากลับ พร้อมกับยึดหลักป้องกันการสัมผัส ยืนห่างกันช่วง 2 เมตร ให้ทุกคนล้างมือ ข้าพเจ้าเริ่มสอบถามความเป็นอยู่ ประเมินสภาพแวดล้อมทั่วไป ทุกคนบอกว่ามีความสุขกับการกักตัว ไม่ได้ลำบากอะไร สามารถอยู่ได้ครบ 14 วันแน่นอน
สำหรับเด็กน้อยที่ป่วย ข้าพเจ้าวัดไข้ได้เพียง 37.0 องศาเซลเซียล มีอาการเจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ไม่หอบเหนื่อย จึงให้ยาที่จัดเตรียมมา พร้อมทั้งบอกกับแม่ของเด็กไว้ว่า “หมอจะให้ยาแก้ไข้ ยาบรรเทาอาการไอ และยาลดน้ำมูก ให้กิน 3 วัน และจะติดตามอาการไข้ทุกวัน” ก่อนที่จะเดินทางกลับ รพ.สต.พร้อมกับผู้ช่วยเหลือคนไข้ กลับถึงที่พักช่วงเย็นๆ ข้าพเจ้าก็หมดแรงพอดี คืนนั้นคงจะหลับเกือบสนิท ถ้าในใจไม่คิดเป็นห่วงเด็ก กลัวว่าจะมีอาการไข้ในเวลากลางคืน
ข้าพเจ้าได้ติดตามอาการไข้ จากญาติที่ไปส่งอาหารและน้ำดื่ม เป็นประจำทุกวัน พบว่าตลอดระยะเวลา 3 วัน เด็กไม่มีไข้ อาการไอและมีน้ำมูก ทุเลาลงและหายเป็นปกติ ในวันที่สาม ความรับผิดชอบ ความผูกพันกับชาวบ้านที่มีต่อกัน ทำให้ข้าพเจ้าลืมความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบาก ที่พบเจอในระหว่างการทำงาน เพียงเพื่ออยากให้ชาวบ้านเหล่านั้นได้รับบริการสุขภาพที่ดี มีความปลอดภัยจากความเสี่ยงที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้”