ไวรัสโรต้า ไวรัสตัวร้ายที่พ่อแม่ควรระวัง โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พ่อแม่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะเชื้อไวรัสโรต้า มักชอบแฝงตัวอยู่ตามของเล่น ของใช้ รวมถึงอาหารที่รับประทาน และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเวลาหลายวัน เมื่อลูกน้อยนำสิ่งของเหล่านั้นที่มีเชื้อไวรัสโรต้าเข้าปาก อาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการท้องเสียอย่างเฉียบพลัน หรืออาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
หลายปีที่ผ่านมา ชื่อของไวรัสโรต้าอาจแวะเข้าไปเยี่ยมเด็กเล็กในหลายๆ ครอบครัว ทำให้พ่อแม่ต้องปวดหัว เพราะบางรายมีอาการไข้สูงตลอดเวลาโดยไม่มีอาการท้องเสีย หรืออาเจียนร่วมด้วย ทำให้ยากแก่การบ่งชี้ว่าเด็กป่วยเพราะสาเหตุใด
นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล กุมารแพทย์ประจำศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช อธิบายถึงไวรัสโรต้านี้ว่า ไวรัสโรต้า ไม่ได้เกิดจากความสกปรกหรือการทานอาหารที่ไม่สะอาด แต่เจ้าไวรัสโรต้านั้นมากับอากาศ ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เชื้อไวรัสโรต้ามีความทนต่อสภาวะแวดล้อมมาก แต่โดยทั่วไปอาการของโรคจะรุนแรงในช่วง 3-4 วันแรก และอาจหาสาเหตุไม่เจอได้ แต่หลังจากนี้ไวรัสโรต้าจะเริ่มแสดงตัว และอาการของโรคก็มักจะเริ่มลดความรุนแรงลง
ไวรัสโรต้าเป็นภัยเงียบที่มากับอากาศเย็น ระบาดได้ทุกฤดู อยู่ได้ทุกที่ หนีไม่พ้น เนื่องจากไวรัสโรต้าเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่าย ชอบแฝงตัวอยู่กับของเล่นเด็ก ถึงแม้เราจะดูแลเรื่องความสะอาดอย่างดี ก็ยังปกป้องลูกรักจากโรคนี้ได้ยากเนื่องจากเด็กช่วงนี้ชอบนำของเข้าปาก จึงมีโอกาสติดได้ง่าย
ไวรัสโรต้า เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคท้องเสียในเด็ก เป็นสาเหตุให้อุจจาระร่วงเฉียบพลัน ไวรัสโรต้ามีหลาย group แต่ที่พบบ่อยที่สุดในเด็กเป็นไวรัสโรต้าชนิด group A ทำให้เกิดท้องเสียฉับพลัน
โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หากติดเชื้อไวรัสโรต้าจะมีอาการท้องเสียได้ทุกระดับ อาการตั้งแต่น้อยจนถึงมาก ยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็กยิ่งมีอาการมาก อาจพบอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง
การตรวจวินิจฉัย : การเก็บอุจาระส่งตรวจโดยวิธีธรรมดา ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ไม่สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ ต้องอาศัยการตรวจโดยใช้เทคนิคพิเศษ แต่ก็ไม่ยุ่งยากมากนักขณะนี้โรงพยาบาลนนทเวชได้พัฒนาการตรวจพิเศษนี้ได้อย่างสมบูรณ์ มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชม.
การรักษา : ยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง ดังนั้นจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ให้สารน้ำทดแทน กรณีขาดน้ำรวมทั้งเกลือแร่ที่จำเป็น หากผู้ป่วยเด็กเล็กรวมทั้งผู้ใหญ่อาจมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากขาดน้ำรุนแรง และต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
การติดต่อ : ไวรัสโรต้าติดต่อได้ง่ายมาก จากการสัมผัสโดยตรงจากสิ่งปนเปื้อน ดังนั้นการล้างมือให้สะอาดจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกัน หลีกเลี่ยงการนำมือหรือของเล่นเข้าปากเพราะเชื้อไวรัสโรต้าจะอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เครื่องมือเครื่องใช้ โดยมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นวัน ดังนั้นในสถานเลี้ยงเด็ก เช่น เนอร์สเซอรี่ (Nursery) หรือโรงเรียนควรสอนให้ผู้ดูแลระมัดระวังมากกว่าปกติ
การป้องกัน : การดื่มนมมารดาจะทำให้ลูกมีภูมิต้านทานดีขึ้น ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโรต้าที่ได้ผลเป็นอย่างดี โดยในเด็กอายุมากกว่า 6 สัปดาห์ ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโรต้า 2 ครั้งห่างกันประมาณ 2 เดือน จะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้นานหลายปี และยังสามารถให้พร้อมวัคซีนรวมชนิดอื่นๆ ได้ เช่น วัคซีน IPD คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ นอกจาการได้รับวัคซีนที่ครบถ้วนแล้วการดื่มนมแม่ก็ทำให้ลูกมีภูมิต้านทานที่ดี
คุณพ่อคุณแม่ควรต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโรต้าให้ละเอียด เพื่อปกป้องลูกน้อยให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสตัวร้าย ทั้งยังต้องดูแลเอาใจใส่สุขอนามัยของลูกๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น ของใช้ หรืออาหารที่รับประทาน หมั่นทำความสะอาด และฝึกให้ลูกน้อยล้างมือเป็นประจำ และหากลูกน้อยมีอาการหรือสัญญาณเตือนการติดเชื้อไวรัสโรต้า ควรรีบพาพบแพทย์ทันที
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช พร้อมให้บริการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น ด้วยทีมกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาต่างๆ มีการแยกพื้นให้บริการสำหรับเด็กแรกเกิดที่มาพบแพทย์และเด็กรับวัคซีน ออกจากเด็กป่วยที่มาพบแพทย์อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ปครองและผู้ป่วยเด็กได้รับบริการภายใต้มาตรฐานคุณภาพอย่างดีสูงสุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-2596-7888
นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nonthavej.co.th/rotavirus.php