ในวันที่เรารู้ตัวว่าเริ่มเป็นคุณแม่ เราจึงจำเป็นต้องดูแลตัวเองมากขึ้นเป็นอีกเท่าตัว เพราะไม่ว่าจะทำอะไรหรือรับประทานอะไรเข้าไปก็ส่งผลต่อลูกน้อยทั้งนั้น เชื่อว่ากว่าจะครบ 40 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ แม่ๆ หลายคนคงมีความกังวลเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ จนไปถึงเรื่องใหญ่ ไหนจะโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่ต้องระวัง หนึ่งในนั้นคือ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคที่คุณหมอมักจะบอกให้คุณแม่เฝ้าระวังเรื่องอาหารการกินอยู่เสมอ เพราะในภาวะของคนท้องน้ำตาลจะขึ้นเร็วกว่าคนปกติ คนท้องและเบาหวานจึงดูเป็นเรื่องคู่กัน แล้วเราจะรู้ได้อย่าไรว่าโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีอาการอย่างไร ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยมากแค่ไหน หากเป็นแล้วจะต้องรับมือหรือมือหรือมีวิธีการรักษาอย่าไร วันนี้เราจะพาแม่ๆ มาทำความเข้าใจกันค่ะ
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์คืออะไร?
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักถูกวินิจฉัยในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์ เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้เพียงพอ สามารถส่งผลเสียต่อมารดาและทารกได้
อาการของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
โดยทั่วไปโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะไม่มีอาการใดๆ แต่สามารถสังเกตอาการได้คล้ายกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงดังนี้ รู้สึกหิวกระหายน้ำมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย
ผลของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ต่อทารก
- ทารกคลอดก่อนกำหนด
- น้ำหนักทารกแรกคลอดมากกว่าปกติที่ควรจะเป็น เช่น ทารกมีตัวใหญ่มากขึ้นกว่าปกติ ทำให้คลอดยาก หรืออาจเกิดอันตรายขณะคลอด
- ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด
- ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
- ทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
- ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีภาวะนี้จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วน และอาจเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้
ผลของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ต่อมารดา
- หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ได้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีความดันโลหิตสูงร่วมกับมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะมากกว่าปกติ พบในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยง ทำให้ต้องทำการผ่าคลอดมากขึ้น เพราะว่าทารกอาจตัวใหญ่เกินกว่าจะคลอดปกติ
- เมื่อเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสพัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในอนาคตมากกว่าหญิงปกติถึง 7.4 เท่า
- การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) โรคหัวใจ โรคไต การทำลายของเส้นประสาท เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- มีน้ำหนักเกิน
- เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อนในครรภ์ก่อนหน้า
- ครอบครัวเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- กลุ่มเสี่ยงมีภาวะก่อนเป็นโรคเบาหวาน (Prediabetes) ซึ่งหมายถึงมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
- เป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ Polycystic Ovary Syndrome
เวลาที่ควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรทำในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์
- หากมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะตรวจคัดกรองโรคเบาหวานตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์
วิธีรักษาตนเองเมื่อเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถจัดการกับะดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและเพิ่มการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย แต่บางคนก็อาจจำเป็นต้องได้รับยารักษา
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
- การรับประทานอาหารในหญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะแตกต่างกันไปตามระดับค่าน้ำตาลในเลือด ซึ่งแพทย์ที่ดูแลสุขภาพจะช่วยแนะนำโปรแกรมการรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพต่อทั้งมารดาและทารก ทานอาหารคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสมและเลือกเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เมนูอาหารจะเหมือนกับผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วไป คือมีเป้าหมายเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่
- หากคุณไม่สามารถปฏิบัติตามโปรแกรมที่แพทย์แนะนำ หรือยังคงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ จะทำให้ร่างกายมีการสร้างสารคีโตน โดยสารคีโตนจะพบได้ในปัสสาวะหรือเลือด ซึ่งหมายถึงร่างกายมีการใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงาน แทนที่จะใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์
- แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจหาสารคีโตนในปัสสาวะในเลือด ถ้าหากมีสารคีโตนในระดับสูง แพทย์จะปรับเปลี่ยนประเภท ปริมาณของอาหารที่รับประทาน และเวลาการรับประทานอาหาร
เพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย
- การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ หรือการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ จะช่วยให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสอยู่ในช่วงเป้าหมายที่กำหนด
- ถ้าคุณมีความดันโลหิตสูง หรือมีระดับคอเลสเตอรอลสูง การออกกำลังกายจะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่แข็งแรงได้
- การออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียด เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก หัวใจ กล้ามเนื้อ ทำให้ข้อต่อต่างๆ เคลื่อนไหวได้สะดวกและ ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต
*อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์
จะป้องกันหรือชะลอการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้อย่างไร
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อควบคุมน้ำหนัก
- ให้นมบุตรด้วยตัวเอง การให้นมจะช่วยให้เผาผลาญพลังงานได้ดีขึ้น
- หากผลตรวจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคต และคุณกำลังมีภาวะน้ำหนักเกิน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณน้ำหนักที่ควรลดลง เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว
เพียงแค่คุณแม่หมั่นใส่ใจดูแลสุขภาพและอาหารการกินของตัวเองให้ดี ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่จะส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์และเป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อน ออกกำลังกายสม่ำเสมอในท่วงท่าและจังหวะที่ปลอดภัย เตรียมพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้พร้อม เพียงแค่นี้การตั้งครรภ์ท้องไหนๆ ก็สบายหายห่วง หากมีปัญหาไม่สบายใจหรือมีอาการที่ไม่ปกติเกิดขึ้น ให้คุณแม่รีบปรึกษาแพทย์ประจำที่ฝากครรภ์โดยด่วนเพื่อแก้ปัญหาและรักษาได้ทันท่วงที
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nonthavej.co.th/Gestational-Diabetes-1.php