นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5%ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น
ทั้งนี้ที่ประชุมกนง. กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว จากนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ภายหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งคณะกรรมการฯกังวลว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง
อย่างไรก็ตามจึงเห็นควรให้ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม ทั้งนี้ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ธปท.จะชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการดูแลตลาดเงินระยะต่อไป
เงินทุนสำรองระหว่างประทศล่าสุดที่ธปท.ประกาศล่าสุดเป็นของวันศุกร์ที่ 6 พ.ย.2563 มีจำนวน 2.518 แสนล้านดอลลาร์ จาก 2.485 แสนล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2563 ส่วนฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ อยู่ที่ 2.59 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 2.49 หมื่นล้านดอลลาร์
ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า-เปราะบาง
นายทิตนันทิ์ กล่าวด้วยว่า แม้เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นกว่าคาด แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการจึงให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“การประเมินด้านเศรษฐกิจครั้งนี้ฟื้นตัวกว่าเมื่อการประเมินครั้งก่อน อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจข้างหน้า ยังฟื้นตัวเปราะบางและเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก ฉะนั้นการที่เปราะบางไม่แน่นอนสูงถ้ากระทบแรง เราก็จะยังเก็บนโยบายอัตราดอกเบี้ยไว้ใช้ในเวลาที่เหมาะสม”
แรงงานเสี่ยงกดดันบริโภค
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปรับดีขึ้นกว่าที่คาด แต่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ก่อนการระบาด ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะรายได้ของแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะกดดันการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย เมื่อปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวเริ่มหมดลง
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพแม้ว่าจะมีความเปราะบางขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มติดลบน้อยลงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในปี2564 ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ส่วนสภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสภาพคล่องยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี
คณะกรรมการเห็นว่า การประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์
รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง สำหรับมาตรการการคลังยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงควรเร่งเบิกจ่ายและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางอย่างตรงจุด ควบคู่กับการเร่งดำเนินนโยบายด้านอุปทาน เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย จะเห็นว่า ช่วงแรกของปี โดยเฉพาะก่อนโควิด-19 การลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ติดลบ แต่หลังจากผลเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาและข่าวพัฒนาวัคซีน ได้ทำให้ตลาดเงินโลกเปลี่ยนโดยมีความมั่นใจนักลงทุนได้หันไปลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทย ดังนั้นต้องติดตาม ซึ่งการดูแลค่าเงินก็ต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนตลาดแรงงานยังเปราะบางกดดันการบริโภคเอกชนและการชำระหนี้ครัวเรือน
บาทอ่อนหวั่นธปท.ดูแล
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เงินบาทปิดตลาดวานนี้ (18 พ.ย.) ปรับตัวอ่อนค่าแตะระดับ 30.29 บาทต่อดอลลาร์ จากระดับ 30.20 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนการประชุมกนง. และช่วงเปิดตลาดที่ระดับ 30.22 บาทต่อดอลลาร์
การอ่อนค่าของเงินบาท มีปัจจัยมาจาก ประเด็นที่ธปท.ระบุว่าจะมีการประชุมเกี่ยวกับมาตรการลดการแข็งค่าของเงินบาทในวันศุกร์นี้ ทำให้บรรดาผู้เล่นทั้งในฝั่งผู้นำเข้า นักค้าค่าเงินต่างเริ่มมีการปรับฐานะการถือครองเงินบาท โดยฝั่งที่มองว่า บาทแข็ง ก็เริ่มขายทำกำไรและลดการถือครองเงินบาท ส่วนผู้นำเข้าบางส่วนก็เริ่มกังวลว่า เงินบาทอาจจะอ่อนค่าไปมากหากธปท.ประกาศมาตรการ จึงเริ่มเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ไว้ก่อน
อย่างไรก็ตามคาดว่า มาตรการที่ธปท.จะทำอาจจะเป็นลักษณะควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินบาทจากธุรกรรมของธุรกิจค้าทองคำ ขณะเดียวกันก็อาจมีการผ่อนคลายข้อกำหนดบางประการ เพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้ง่ายมากขึ้น ลดการแข็งค่าของเงินบาท
“คงจะมีผลต่อค่าเงินเพียงในระยะสั้น เพราะสุดท้ายแล้วนักลงทุนต่างชาติเริ่มปรับมุมมองดีขึ้นต่อการลงทุนในสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยจากความหวังวัคซีนโควิด-19 ทำให้เงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้น จากเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้า และแนวโน้มเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดทุนโดยรวม”
อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือปัญหาการเมืองในประเทศ ที่อาจจะทำให้ นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนไปก่อน หรือ ขายทำกำไรการลงทุนบางส่วน ซึ่งอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ไว้ที่ 30.15-30.40 บาทต่อดอลลาร์
โพสต์ที่เกี่ยวข้อง: เล่นหุ้นระยะสั้น