เชื่อว่าตอนนี้อาจมีหลาย ๆ ท่านที่กำลังสงสัย และมีคำถามเรื่องการส่องกล้องกระเพาะอาหาร คืออะไร? และการรักษาด้วยวิธีนี้มีผลดีและมีขั้นตอนอย่างไร ทำไมจึงเป็นที่นิยมมากในขณะนี้ วันนี้ทางเราได้ค้นหาข้อมูลนี้มานำเสนอเพื่อช่วยให้ทุกท่านได้คลายความสงสัย คลายความกังวลใจ ว่าแล้วก็ตามเรามาดูกันเลยค่ะ
การส่องกล้องกระเพาะอาหาร คือการใช้กล้องเอนโดสโคป (Endoscope) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ลักษณะเป็นท่อยืดหยุ่นได้ มีแสงไฟและเลนส์กล้องที่บริเวณส่วนปลาย ใส่เข้าไปทางปากของคนไข้เพื่อตรวจดูอาการหรือรักษาภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น นอกจากนั้นการส่องกล้องกระเพาะอาหารสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในกรณีต่อไปนี้ได้อีกด้วย
ตรวจดูอาการ ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการบ่งบอกถึงปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนบน เช่น อาการปวดท้อง ,คลื่นไส้และอาเจียนเป็นประจำ,อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอกเรื้อรัง ,กลืนอาหารลำบากหรือกลืนแล้วรู้สึกเจ็บ มีเลือดออกอย่างรุนแรง มักทำให้เกิดอาการเจ็บแปลบในท้อง อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือด อุจจาระดำเหมือนยางมะตอย และมีภาวะโลหิตจางที่อาจมีสาเหตุมาจากเลือดออกภายในไม่หยุด
ยืนยันการวินิจฉัยโรค แพทย์สามารถยืนยันอาการของผู้ป่วยหลังจากการวินิจฉัยเบื้องต้นให้แน่ใจหรือแยกโรคที่มีอาการคล้ายกันออกไปด้วยการส่องกล้อง เช่น โรคกระเพาะอาหารหรือแผลในกระเพาะอาหาร โรค Coeliac Disease ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการแพ้กลูเตนและมีภาวะลำไส้อักเสบร่วมด้วย โรคกรดไหลย้อน หลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร ภาวะความดันโลหิตเส้นเลือดดำพอร์ทัลสูง (Portal Hypertension) และยังใช้ในการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจได้อีกด้วย
รักษาโรคบางชนิด ไม่เพียงแต่การวินิจฉัยหรือตรวจดูอาการ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารยังนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นได้เช่นกัน
ขั้นตอนการส่องกล้องกระเพาะอาหาร
แพทย์จะอธิบายถึงขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียด รวมถึงภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ระหว่างนี้หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยใด ๆ ก็สามารถซักถามได้
ก่อนรับการส่องกล้องผู้ที่สวมใส่แว่นตา คอนแทคเลนส์ หรือฟันปลอมจะต้องถอดออกทั้งหมด และไม่จำเป็นต้องถอดเสื้อผ้า แต่อาจให้สวมชุดคนไข้ทับเสื้อผ้าของตัวผู้ป่วยเองอีกที จากนั้นแพทย์จึงเริ่มด้วยการฉีดสเปรย์ยาชาเฉพาะส่วนที่คอเพื่อให้เกิดความรู้สึกชา หรืออาจใช้ยาระงับความรู้สึกแบบฉีดแทน ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสม ส่วนเด็กที่ยังเล็กอาจต้องใช้ยาสลบ โดยยาระงับความรู้สึกที่ได้รับจะส่งผลให้มีอาการง่วงซึมและรู้สึกผ่อนคลายลงขณะทำการส่องกล้อง
หลังฉีดสเปรย์ยาชาเฉพาะแห่งหรือให้ยาระงับความรู้สึก แพทย์อาจใช้ฟันยางเพื่อเปิดปากและป้องกันไม่ให้ฟันผู้ป่วยกัดสายท่อ ต่อจากนั้นจึงให้ผู้ป่วยพลิกตัวนอนตะแคงซ้าย แล้วใส่กล้องเอนโดสโคปเข้าไปในลำคอพร้อมทั้งบอกให้พยายามกลืนกล้องให้ลงไปยังหลอดอาหาร ทั้งนี้ในช่วงแรก ๆ อาจรู้สึกไม่ค่อยดีบ้าง มีอาการคลื่นไส้หรืออยากอาเจียน แต่ก็จะค่อย ๆ ทุเลาลงเมื่อท่อส่องกล้องเคลื่อนลงไปแล้ว โดยกระบวนการส่องกล้องนี้จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที
สำหรับผลการตรวจนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการส่องกล้อง เช่น การตรวจดูกระเพาะอาหารอาจทราบผลได้ทันทีหลังการตรวจ แต่หากเป็นการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอาจต้องรอผลตรวจเป็นเวลา 2-3 วัน การส่องกล้องกระเพาะอาหารนับเป็นกระบวนการที่มีความปลอดภัยสูง ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่มักพบได้น้อย อาจมีโอกาสเกิดลำไส้ทะลุ หรือภาวะเลือดออกได้ในรายที่มีการทำหัตถการร่วมด้วย เช่น การตัดติ่งเนื้อ แต่โอกาสเกิดขึ้นต่ำมาก อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด หรือมีไข้ขึ้นสูงหลังการส่องกล้องควรกลับมาพบแพทย์ทันทีค่ะ