ความแตกต่างระหว่างทานกับจาคะ
ในพระพุทธศาสนา คำว่า ทาน, จาคะ, หรือ ปริจจาคะ มีความหมายตามรูปศัพท์คล้ายคลึงกันมาก
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์จึงได้อธิบายความแตกต่างระหว่างทานกับจาคะไว้ว่า
ปริจจาคะ เรานำมาใช้ในภาษาไทยว่า บริจาค และมักจะใช้พูดคู่กันไปกับทาน เช่น พูดว่า ให้ทานบริจาค คำทั้งสองนี้ ได้มีที่มาในหมวดธรรมในพุทธศาสนาหลายหมวด มาในหมวดแต่ละคำ คือ ทานอย่างเดียว หรือ จาคะ หรือ ปริจจาคะ อย่างเดียวก็มี มาคู่กัน
ในทศพิธราชธรรมนี้ (๑) ทาน (๒) ศีล (๓) ปริจจาคะ
ดังนี้ก็มี ที่มาเดี่ยว เช่น
ทานในบุญกิริยาวัตถุ ๓ (๑) ทานมัย (๒) สีลมัย (๓) ภาวนามัย ปริจจาคะหรือจาคะที่มาเดี่ยว เช่น
ในสัมปรายิกัตถประโยชน์ ๔ ข้อ คือ
๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยจาคะ
๓. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา
เมื่อคำว่า ทานและปริจจาคะหรือจาคะ
ทั้ง ๒ นี้ต่างมาเดี่ยวไม่คู่กัน ในหมวดธรรมนั้น ๆ ก็มีความหมายรวมกัน ทานคือการให้ ก็รวมถึงจาคะหรือปริจจาคะ หรือเมื่อจาคะหรือปริจจาคะมาเดี่ยว ก็หมายถึงทานด้วย คือหมายถึงสละ และหมายถึงการให้ด้วย
ความหมายที่ต่างกัน คือ ทานนั้น มุ่งถึงการให้ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้รับ เพื่อความสุขของผู้รับ เป็นการเฉลี่ยเผื่อแผ่ความสุขของตนแก่ผู้อื่นด้วย
ส่วนปริจจาคะหรือจาคะ ที่แปลทัพศัพท์ว่า บริจาค นั้น หมายถึง การสละ มุ่งสละสิ่งที่มีประโยชน์น้อยหรือเป็นประโยชน์น้อย เพื่อประโยชน์มาก
ดังที่ปรากฏในธัมปทัฏฐกถา อัตตโนบุพพกรรมวัตถุว่า
“ผู้มีปัญญาเมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ พึงสละสุขพอประมาณเสีย” และที่ปรากฏในคัมภีร์ปกรณวิเสสวิสุทธิมรรคว่า “พึงสละทรัพย์ เพราะเหตุรักษาอวัยวะอันประเสริฐ เมื่อรักษาชีวิตก็พึงสละอวัยวะ เมื่อระลึกถึงธรรม ก็พึงสละอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิตทั้งสิ้น”
ดังนั้น คำว่า ทาน กับ จาคะ มีความหมายลุ่มลึกต่างกัน
การให้ทานมีจุดมุ่งหมาย ๕ ประการ คือ
๑. เพื่อบูชาคุณ
๒. เพื่ออนุเคราะห์
๓. เพื่อสงเคราะห์
๔. เพื่อสาธารณประโยชน์
๕. เพื่อสร้างบารมี