พระกรณียกิจของพระบิดาของนักกฎหมาย

guest profile image guest
ร่วมจิตวันรพี


 

วันรพี

วันแห่งนักกฎหมายไทย

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์

พระบิดาแห่งกฎหมายไทย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์

กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

 

ข้อมูล

วันประสูติ

21 ตุลาคม พ.ศ. 2417

วันสิ้นพระชนม์

7 สิงหาคม พ.ศ. 2463

พระราชบิดา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระมารดา

เจ้าจอมมารดาตลับ เกตุทัต

พระชายา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอรพัทธ์ประไพ (หย่า)

หม่อม

หม่อมอ่อน รพีพัฒน์ ณ อยุธยา
หม่อมแดง รพีพัฒน์ ณ อยุธยา
หม่อมราชวงศ์สอางค์ ปราโมช

บุตร  13 พระองค์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (21 ตุลาคม พ.ศ. 2417 - 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463) ทรงเป็นต้นราชสกุลรพีพัฒน์ เป็นพระราชโอรส ทางด้านชีวิตส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเสกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอรพัทธ์ประไพ พระธิดาองค์ใหญ่ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ แต่ทรงมีชีวิตร่วมกันเพียงไม่นานก็หย่าขาดจากกันหลังจากนั้นทรงรับหม่อมอ่อนเป็นชายา หลังจากนั้นทรงมีหม่อมอีก 2 พระองค์ คือ หม่อมแดงและหม่อมราชวงศ์สอางค์ ปราโมช สิ้นพระชนม์ ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 พระชนมายุ 47 ปี

 

อัตตชีวประวัติ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

อาจารย์ทวี กสิยพงศ์  

 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติ ณ วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2417 ต่อมาได้ทรงศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวังโดยมีมหาปั้น (เจ้าพระยายมราช) เป็นพระอาจารย์ผู้สอน ครั้นโสกันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เสด็จในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงแสดงพระปรีชาสามารถสอบผ่านเข้าเรียน ณ สำนักไครส์เซิซ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่ยอมรับเข้าศึกษา เพราะอายุยังไม่ถึง 18 ปี กรมหลวงราชบุรีฯ ต้องเสด็จไปขอความกรุณาเป็นพิเศษว่าคนไทยเกิดง่ายตายเร็ว ทางมหาวิทยาลัยจึงยอมผ่อนผันโดยให้ทรงสอบไล่อีกครั้งหนึ่งก็ทรงสอบได้ จึงเข้ามหาวิทยาลัยนี้ได้ ได้ทรงศึกษาวิชากฎหมาย ณ สำนักไครส์เซิซแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดสอบไล่ได้ปริญญาตรีชั้นเกียรตินิยมภายในเวลา 3 ปี เมื่อพระชันษาได้เพียง 20 พรรษา ซึ่งคนธรรมดาต้องเรียนถึง 4 ปี เมื่อเสด็จกลับมาแล้วได้โปรดเกล้าให้ทรงฝึกหัดราชการในกรมราชเลขานุการ ด้วยพระปรีชาสามารถฉลาดเฉียบแหลมยากจะหาตัวจับ ทั้ง ทรงมีพระอุตสาหะขันแข็งในการทำงานเป็นอย่างยิ่งในไม่ช้าก็ทรงสามารถทำงานใน กรมนั้นได้ทุกตำแหน่งตลอดถึงร่างพระราชหัตถเลขาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นยิ่งนัก ถึงกับทรงเรียกเสด็จในกรมว่า "เฉลียวฉลาดรพี" จึงทรงรับสั่งว่าเมื่อมีเวลาว่างให้ไปติดต่อกับเจ้าพระยาอภัยราชา (ดร. โรแลง ยัคแมงส์) ซึ่งเป็นนักกฎหมายชาวเบลเยี่ยมมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยนั้น เจ้าพระยาอภัยราชาได้ขอให้เสด็จในกรมฯ ทรงศึกษากฎหมายไทยทั้งหมดแล้วทำสารบัญรายละเอียดให้ดู ทรงศึกษาอยู่ไม่กี่เดือนก็ทำสำเร็จ เจ้าพระยาอภัยราชาแปลกใจขอซักถามก็ได้ความว่ามีความทรงจำดีมากถ้าได้ทรงอ่านเพียงครั้งเดียวก็สามารถจำความสำคัญในกฎหมายได้หมด
     
ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงรับตำแหน่งสภานายกพิเศษ จัดตั้งศาลมณฑลและศาลเมือง (ศาลจังหวัด) ขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ ตลอดจนรวบรวมตุลาการในหัวเมืองซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทยเป็นส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ในกระทรวงยุติธรรม กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงจัดตั้งศาลหัวเมืองในมณฑลอยุธยาเป็นเริ่มแรก คดีความคั่งค้างเป็นอันมาก ก็ทรงสามารถพิจารณาพิพากษาให้สำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็วสมตามพระราชประสงค์ และเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตกลงพระทัยประกาศตั้งกรมหลวงราชบุรีฯ เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งขณะนั้นเสด็จในกรมฯ ทรงพระชนมายุเพียง 22 พรรษา นับเป็นเสนาบดีที่หนุ่มที่สุดในโลก
          
กรมหลวงราชบุรีฯ ได้ทรงแก้ไขระเบียบราชการในกระทรวงยุติธรรมทั้ง แผนกธุรการและตุลาการ ทรงวางระเบียบปฏิบัติของศาลเพื่อให้มีความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งได้ออกเป็นกฎเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมไว้หลายสิบฉบับ กฎเสนาบดีดังกล่าวนี้ได้ใช้ตลอดมา จนประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2478 นอกจากนี้ยังได้ทรงเป็นประธานกรรมการร่างกฎหมายที่สำคัญให้พอกับความต้องการของประเทศ คือ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายลักษณะอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งฯ กรรมการร่างกฎหมายนี้ ต่อมาได้ตั้งเป็นกรมร่างกฎหมายแล้วเปลี่ยนชื่อเรียกว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังให้ยกกองมหัตโทษและกองลหุโทษจากระทรวงนครบาลมาสังกัดกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) เพื่อจัดวางข้อบังคับเรือนจำให้ดีขึ้น ให้ผู้พิพากษามีอำนาจตรวจเรือนจำ และตั้งกองพิมพ์ลายนิ้วมือขึ้นที่กองลหุโทษ ในปี ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) ส่วนเรือนจำหัวเมืองคงขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย และทรงจัดวางระเบียบงานกรมอัยการซึ่งได้ตั้งขึ้นตั้งแต่ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) โดยมีหน้าที่ปฏิบัติการเฉพาะกรุงเทพฯ และสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ส่วนอัยการหัวเมืองสังกัดกระทรวงมหาดไทยงานปรับปรุงในสมัยนั้นเป็นภาระหนักมาก เพราะไม่มีคนที่มีความรู้กฎหมายเพียงพอที่จะรับราชการ และวิชาทางกฎหมายก็จะต้องเปลี่ยนรูปให้เข้าแบบสากล ต้องทรงเลือกคนที่จะศึกษากฎหมายโดยพระองค์เอง ทรงสอนเอง ด้วยความเหน็ดเหนื่อย ในปี พ.ศ. 2440 ได้มีการสอบไล่กฎหมายครั้งแรก ได้เนติบัณฑิตรุ่นแรก 9 คน ออกมารับราชการแบ่งเบาพระภาระไปได้บ้าง ทางด้านการศึกษาวิชากฎหมายได้พยายามพิมพ์ฎีกาบางเรื่องออกจำหน่ายเพื่อให้คนเห็นแนวทางของกฎหมายที่จะดำเนินต่อไป ออกมากก็ไม่ได้เพราะผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลของเรายังไม่พร้อมที่จะรับได้ในสมัยนั้น ได้ทรงทำคำอธิบายกฎหมายลักษณะอาญา และตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ออกมาเพื่อให้นักศึกษาใช้ศึกษา
          
ในเวลานั้น มีศาลกงสุลอยู่ในประเทศไทยตามสัญญาทางพระราชไมตรี เนื่องจากฝรั่งเขาอ้างว่ากฎหมายของเรายังไม่ทันสมัย และเขายังไม่ไว้ใจศาลไทย กรมหลวงราชบุรีฯ ได้ทรงแก้ไขโดยจ้างนักกฎหมายชาวญี่ปุ่น และเบลเยี่ยมมาเป็นผู้พิพากษาต่อมาก็จ้างคนอังกฤษและฝรั่งเศษมาร่วมด้วย ซึ่งล้วนเป็นนักกฎหมายชั้นเยี่ยมทั้งสิ้น เป็นเหตุให้ผู้พิพากษาในศาลไทยกระตือรือล้น ศึกษาวิชากฎหมายไทย และต่างประเทศ การงานดำเนินไปด้วยดีและรุดหน้า ความเชื่อถือในศาลไทยจึงมีมากขึ้นตามลำดับ ถึงกับต่างประเทศยอมเลิกศาลกงสุลยอมให้คนของเขามาขึ้นศาลไทยซึ่งเรียกว่า ศาลต่างประเทศ มีฝรั่งนั่งเป็นผู้พิพากษากำกับอยู่คนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ศาลต่างประเทศก็หมดสิ้นไปจากเมืองไทยแล้วพระภาระกิจของกรมหลวงราชบุรีฯ มีความหนักอึ้งสุดจะพรรณนา นอกจากหน้าที่เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและอาจารย์โรงเรียนกฎหมายที่กล่าวแล้ว ยังทรงรับหน้าที่กรรมการศาลฎีกาอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นคดีใหญ่ ๆ ที่สำคัญผู้พิพากษาทั้งหลายก็มักจะนำคดีมาหารือ หรือบางทีก็ถวายให้ทรงร่างคำพิพากษาให้เลยก็มี อันนับว่าเป็นภาระที่หนักยิ่งเพราะหาคนช่วยได้ไม่มากนักในเวลานั้น เป็นการเหนื่อยยากลำบากที่สุด แต่พระองค์ก็ทรงพอพระทัย และตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวที่จะสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนสุดแรง ช่วยคนให้มีความรู้ในวิชากฎหมาย และอบรมจิตใจให้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีเพื่อจะได้รับใช้ประเทศชาติ ทรงเสียสละทุกอย่างโดยไม่ทรงคิดถึงพระองค์เองเลย ทรงคิดถึงแต่งานเป็นใหญ่ เสด็จในกรมฯ ทรงมีพระทัยเมตตาต่อคนทั่ว ๆ ไปไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชัง ทรงยึดหลักที่ว่า "คนทุกคนต้องเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จะทำอะไรต้องคิดถึงคนอื่น" ทรงยึดหลักความยุติธรรมประจำพระทัย พอพระทัยในการทำงานมิได้ย่อท้อ ทรงยึดหลักที่ว่า "My life is service" คือ "ชีวิตของข้าพเจ้าเกิดมาเพื่อรับใช้ประเทศชาติ" กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงมีความคิดและความประสงค์มานานที่จะให้ผู้พิพากษาเป็นอิสระ ซึ่ง แปลว่าศาลเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากรัฐบาล ซึ่งแท้จริงก็เป็นความคิดตามครรลองประชาธิปไตยดังที่เป็นอยู่ทั่วไปในโลกเวลานี้นี่เอง แต่ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา



ผู้ตั้งกระทู้ ธีรวัส (te9874-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2010-08-06 05:23:50



ความเห็นที่ 1 (1503899)

 

            จึงเป็นที่ผิดหวังของกรมหลวงราชบุรีฯ อยู่มาก สำหรับข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนกฎหมายซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระองค์ท่านนั้นต่างเทิดทูนกรมหลวงราชบุรีฯ เป็นศาสดา ไม่ว่าจะรับสั่งว่าอะไร หรือให้ทำอะไร ก็ดูเหมือนจะเห็นตามหรือทำตามทั้งสิ้น


          
ในราววันที่ 20 เมษายน ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงทำหนังสือกราบบังคมทูลว่าประชวรมีอาการปวดพระเศียรเป็นกำลังรู้สึกว่าในสมองเผ็ดร้อนเหมือนหนึ่งโรยพริกไทยระหว่างมันสมองกับกระดูก คิดและจำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ทำงานแม้แต่นิดหน่อยก็เหนื่อย หมอไรเตอร์ตรวจพระอาการแล้วว่าต้องหยุดการทำงานพักรักษาพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนี้รู้สึกว่าจะทำงานสนองพระเดชพระคุณไม่ได้ จึงขอกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีเพื่อเปิดโอกาสให้ทรงเลือกสรรผู้อื่นเข้ารับหน้าที่ต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2462 กรมหลวงราชบุรีฯ ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) ได้ประชวรด้วยโรควัณโรคที่พระวักกะ จึงเสด็จไปที่กรุงปารีสเพื่อรักษาพระองค์ แต่พระอาการก็ไม่ทุเลา ครั้นวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ก็สิ้นพระชนม์ที่กรุงปารีสนั่นเอง พระชนมายุเรียงปีได้ 47 พรรษา อันนำความโศกเศร้าเสียใจมาสู่วงการนักกฎหมายไทยยิ่งนัก

          ด้วยเหตุที่เสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ ทรงมุ่งพระทัยที่จะทำงานให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่าที่จะสนพระทัยในเรื่องส่วนพระองค์ ทรงมีพระทัยเมตตาแก่บุคคลทั่ว ๆ ไป ทรงยึดหลักความยุติธรรมเป็นธรรมประจำพระทัย ไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชังทรงละความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งเหล่านี้ไม่อยู่ในพระทัยของพระองค์เลย ทรงมีพระคุณต่อประเทศชาติและต่อนักกฎหมายทั้งปวงเป็นเอนกประการ ด้วยพระเกียรติคุณอันสุดจะพรรณนาทำให้ประชาชนทั่วไปขนานนามพระองค์ท่านว่า "พระบิดาและปฐมาจารย์แห่งนักกฎหมายไทย" ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีเสนาบดีคนใดจะได้รับเกียรติอันเกิดจากน้ำใจคนถึงเช่นนี้

 

(ที่มาhttp://www.museum.coj.go.th/SpPerson/rapee.html  )


วาทะให้ไว้กับนักกฎหมาย

 

เอ็งกินเหล้า เมายา ไม่ว่าหรอก

 

แต่อย่าออก นอกทางไป ให้เสียผล

 

จงอย่ากิน สินบาท คาดสินบน

 

เรามันชน ชั้นปัญญา ตุลาการ

 

 

ขอร่วมรำลึกนึกถึงคุณพระบิดากฎหมายไทย

 

ชมรมนักกฎหมายราชาธิวาส

ความคิดเห็น

ประกาศล่าสุดในบอร์ดเดียวกัน

guest Icon หย่าแบ่งที่ดิน อ่าน 1,134 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
guest Icon ชมเหตุการณ์ประหลาดบนท้องฟ้า อ่าน 973 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
guest Icon รวมภาษิตโลก อ่าน 1,468 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
guest Icon คำคมขงเบ้งและสุภาษิตจีน อ่าน 50,851 13 ปีที่ผ่านมา
13 ปีที่ผ่านมา
14 ปีที่ผ่านมา
14 ปีที่ผ่านมา
14 ปีที่ผ่านมา