ญาณสัมปยุตต
ญาณสมฺปยุตฺตํ แปลว่า ประกอบด้วยปัญญา คือ มีความรู้เห็นถูกต้องตรงความเป็นจริง ในกามกุศลนี้หมายถึงเพียงว่ามีกัมมสสกตาปัญญา และวิปัสสนาปัญญา ก็เป็นญาณสัมปยุตตแล้ว
กัมมัสสกตาปัญญา ปัญญามีรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นสมบัติของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
วิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่รู้ขันธ์ ๕ คือ รูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ปัญญาที่รู้เห็นว่าสัตว์มีกรรมเป็นสมบัติของตน อันเรียกว่า กัมมัสสกตาปัญญานี้ มี ๑0 ประการ คือ
๑. อตฺถิทินฺนํ | ปัญญารู้เห็นว่า การให้ทานย่อมมีผล |
๒. อตฺถิยิฏฺฐํ | ปัญญารู้เห็นว่า การบูชาย่อมมีผล |
๓. อตฺถิหุตํ | ปัญญารู้เห็นว่า การบวงสรวงเทวดาย่อมมีผล |
๔. อตฺถิกมฺมานํ ผลํวิปาโก | ปัญญารู้เห็นว่า ผลวิบากกรรมดีกรรมและชั่วมีอยู่ ( ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทั้งทางตรงและทางอ้อม ) |
๕. อตฺถิอยํโลโก | ปัญญารู้เห็นว่า โลกนี้มีอยู่ ( ผู้จะมาเกิดนั้น มี ) |
๖. อตฺถิปโรโลโก | ปัญญารู้เห็นว่า โลกหน้ามีอยู่ ( ผู้จะไปเกิดนั้น มี ) |
๗. อตฺถิมาตา | ปัญญารู้เห็นว่า มารดามีอยู่ ( การทำดี ทำชั่วต่อมารดา ย่อมจะได้รับผล ) |
๘. อตฺถิปิตา | ปัญญารู้เห็นว่าบิดามีอยู่ ( การทำดี ทำชั่ว ต่อบิดาย่อมจะได้รับผล ) |
๙. อตฺถสตฺตโอปปาติกา | ปัญญารู้เห็นว่า โอปปาติกสัตว์นั้นมีอยู่ ( สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา พรหม นั้นมี ) |
๑0. อตฺถิโลเกสมณพฺราหฺณา สมฺมาปฏิปนฺนา | ปัญญารู้เห็นว่า สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัตติดีปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยความรู้ยิ่ง เห็นจริงประจักษ์แจ้งซึ่งโลกนี้ และโลกหน้าด้วยตนเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้นั้นมีอยู่ในโลกนี้ |
ให้เกิดญาณสัมปยุตตธรรม มี ๔ ประการ
๑. ปญฺญาสํวตฺตนิกกมฺมุปนิสฺสยตา ปฏิสนธิมาโดยอาศัยกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา
๒. อพฺยาปชฺชโลกูปปตฺติยา เกิดในชาติที่หมดความกังวลห่วงใยปราศจากความพยาบาท มีโอกาสได้เขาวัดฟังธรรม
๓. กิเลสทูรตา ห่างไกลจากกิเลส ไม่สนใจในการแสวงหากิเลสธรรม
๔. อินฺทฺริยปริปากตา มีปัญญินทรีย์แก่กล้า คือ มีอายุระหว่าง ๔0 ถึง ๕0 ปี ที่เรียกว่าปัญญาทสกะ อันเป็นวัยที่มีปัญญาพินิจพิจารณาโดยรอบคอบถึงเหตุผล
เหตุให้เกิดญาณสัมปยุตตธรรม อีกนัยหนึ่ง มี ๗ ประการ
๑. ปริปุจฺฉกตา ชอบไต่ถามปัญหาธรรมต่างๆ
๒. วตฺถุวิสุทฺธกิริยา ชอบสะอาดทั้งกายใจ ตลอดจนวัตถุเครื่องใช้สอย
๓. อินฺทฺริยสมตฺตปฏิปาทนา ชอบรักษาอินทรีย์ ๕ มี ศรัทธา เป็นต้น ให้ทรงไว้โดยสม่ำเสมอกัน
๔. ทุปฺปญฺญปุคฺคปริวชฺชนา ชอบหลีกเลี่ยงให้พ้นจากบุคคลผู้ไม่มีปัญญา
๕. ปญฺญวนฺตปุคฺคลเสวนา ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้เป็นบัณฑิต
๖. คมฺภีรญาณจริยปจฺจเวกฺขณา ชอบพิจารณาธรรมที่ลึกซึ้ง
๗. ตทธิมุตฺตตา ชอบในการน้อมจิตแสวงหารสแห่งธรรมที่ต้องตรึกตรองอันทำให้เกิดปัญญา
เหตุให้เกิดญาณวิปปยุตตธรรม ๔ ประการ
๑. ปญฺญาอสํวตฺตนิกกมฺมุปนิสฺสยตา
๒. สพฺยาปชฺชโลกูปปตฺติยา
๓. กิเลสาทูรตา
๔. อินฺทฺริยอปริปากตา
ส่วนความหมายทั้ง ๔ ข้อนี้ ก็มีนัยตรงกันข้ามกับเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตตธรรม ๔ ข้อข้างบนนั้น
เหตุให้เกิด ญาณวิปปยุตตธรรม อีกนัยหนึ่งมี ๗ ประการ
๑. อปริปุจฺฉกตา
๒. วตฺถุอวิสทตา
๓. อินฺทฺริยอสมตฺตปฏิปาทนา
๔. ทุปฺปญฺญปุคฺคลาเสวนา
๕. ปญฺญาวนฺตปุคฺคลาปริวชฺชนา
๖. คมฺภีรญาณจริยอปจฺจเวกฺขณา
๗. อตทธิมุตฺตตา
ส่วนความหมายทั้ง ๗ ข้อนี้ ก็มีนัยตรงกันข้ามกับเหตุให้เกิดญาณ สัมปยุตตธรรม ๗ ข้อที่กล่าวมาแล้วนั้น
สมังคิตา ๕
การบำเพ็ญกุศลก็ดี การกระทำอกุศลก็ดี ย่อมมีสมังคิตา ( ย่อมต้องประกอบพร้อมหรือ
พร้อมมูลด้วยธรรม ) ๕ ประการ คือ
๑. อายุหนสมงฺคิตา ได้แก่ความเพียรในการกระทำกุศลหรืออกุศลนั้น
๒. เจตนาสมงฺคิตา ได้แก่เจตนา ๓ ประการในการทำกุศลหรืออกุศล คือ เจตนาก่อนทำ เจตนาขณะที่กำลังทำและเจตนาเมื่อทำเสร็จแล้ว
๓. กมฺมสมงฺคิตา ได้แก่กุศลกรรม หรืออกุศลกรรม หมายว่า สิ่งที่ทำนั้นเป็นกุศล หรืออกุศลที่สำเร็จมาจากความเพียร
๔. อุปฏฺฐานสมงฺคิตา ได้แก่กรรมอารมณ์กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์
ซึ่งจะปรากฎขึ้นเวลาใกล้จะตาย
๕. วิปากสมงฺคิตา ได้แก่ผลที่ต้องได้รับจากการกระทำกุศลหรืออกุศลนั้นๆ แล้วคือ ผลของสมังคิตาทั้ง ๔ ข้างต้นนั้น